วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เพชฌฆาตทำหน้าที่จะผิดศิลมัย

ปุจฉา
เพชฌฆาตประหารชีวิตนักโทษตามหน้าที่ก่อนประหารก็ให้อโหสิกรรมแก่กัน อย่างนี้จะมีผลกรรมหรือไม่ จะบาปหรือไม่?

วิสัชนา
มีทั้งสองอย่างนั่นแหละแต่ให้สังเกตุว่าเพชฌฆาตนั้นทำงานไปตามหน้าที่ของตน ไม่มีความรู้สึกอาฆาตแค้นกันเป็นการส่วนตัวองค์ประกอบแห่งการตัดสินบาปกรรมจึงอ่อนทุกอย่างคือ
-เจตนาเป็นการเจตนาที่เกิดขึ้นว่านี่เป็นเพียงงานในหน้าที่อันตนต้องกระทำตามหน้าที่
-วัตถุนักโทษขนาดถูกประหารนั้นแสดงว่าต้องทำความผิดไว้มากคุณความดีจึงมีน้อย
-ความพยายาม คือการฆ่าให้ตายนั้นไม่มากเพียงแต่เหนี่ยวไกกดแบล็คมัน ปุ ปุ ปุ ไม่กี่ครั้งนักโทษก็ตาย
แต่อย่างไรเขาก็เป็นคนมีชีวิต การฆ่าคนสัตว์มีชีวิตให้ตายจึงเป็นบาปกรรมที่ผู้ฆ่าจะต้องได้รับผลถึงแม้จะไม่มากแบบฆ่าพ่อแม่ก็ตามผลแห่งบาปกรรมก็ต้องมีเป็น ธรรมดา

เรื่องนี้เคยสอบถามเพชฌฆาตที่บางขวางมาเหมือนกันว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรในขณะรัวปืนยิงนักโทษเช่นนั้น?
เขาบอกว่าก่อนจะมาเป็นเพชฌฆาตนั้น เขาได้รับการฝึกในด้านจิตใจมาจนขนาดเดินเหยียบของร้อนๆไม่รู้สึก ในขณะยิงจึงมีความรู้สึกเพียงว่าเป็นงานที่ต้องทำเท่านั้นเมื่อทำเสร็จก็ถือว่าเสร็จแล้วไม่เคยนำมาคิดเลย นักโทษประหารเขามีหลักสำหรับยืนนะคนยิงมีหน้าที่ยิงเท่านั้นไม่ได้เห็นตัวนักโทษตลอดราย คนตรวจสอบก็เป็นอีกคนหนึ่ง คนเก็บศพก็เป็นอีกคนหนึ่ง คนที่เป็นเพชฌฆาตเมื่อเสร็จงานก็กลับจากที่นั้นองค์ประกอบต่างๆจึงอ่อนดังกล่าว แต่ข้ออ้างเพื่อไม่ต้องเป็นบาปไม่มีสำหรับคนที่ฆ่าสัตว์อื่นที่ตนมีเจตนาร่วม เหมือนข้ออ้างสำหรับการทำผิดกฎหมายไม่มีสำหรับผู้กระทำผิดกฎหมายฉะนั้นรู้อย่างนี้แล้วอย่างไรๆก็อย่าไปสมัครเป็นเพชฌฆาตเข้าเชียวหากินทางอื่นดีกว่า

ฆ่าสัตว์เอามาทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จะผิดหรือไม่

ปุจฉา
ฆ่าสัตว์เอามาทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงคน จะผิดหรือไม่?

วิสัจนา
เรื่องนี้เป็นเรื่องต่างกรรมต่างเจตนากันคือ การฆ่าสัตว์ประกอบด้วยมรณเจตนา หรือวธกเจตนาแปลว่าเจตนาให้ตายหรือเจตนาจะฆ่าเพื่อกินเจตนาจึงประกอบด้วย ความโลภเมื่อฆ่าลงไปก็ต้องเป็นบาปและผิดศีล

การเลี้ยงพระเลี้ยงคนเจตนาประกอบด้วยจาคเจตนาคือเจตนาบริจาคบ้างศรัทธาบ้าง เมตตากรุณาเป็นต้นบ้าง การกระทำของเขาจึงเป็นบุญเพราะมีลักษณะขจัดความโลภความเห็นแก่ตัวความตระหนี่ให้ออกไปจากจิต หลังจากไปแล้วก็ได้รับความสุขใจแต่ให้กำหนดว่าในชีวิตของคนเรานั้นมักจะเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอดเวลาซึ่งแน่นอนบางครั้งคนก็ต้องยอมเสียสละต้องกระทำบางอย่างลงไปเช่น "ลูกร้องไห้อยากกินไข่ต้ม ถ้าแม่กลัวบาปก็ต้องทนเห็นลูกร้องไห้เอา ถ้าไม่ต้องการให้ ลูกร้องไห้ ก็ต้องยอมทำบาปเอา ซึ่งมีทางเลือกได้ทางเดียวเท่านั้น แล้วแต่ใครจะเลือกอะไร" แต่ในคำถามที่ถามนั้นหากเราจะเลี่ยงไม่ยอมทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์ เราสามารถเลี้ยงพระเลี้ยงคนเลี้ยงตนเองได้ไม่ยากนักมิใช่หรือ?

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ทำไมจึงอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์

วิปสนา:3
สำหรับผู้ฆ่าสัตว์นั้นเจตนาประกอบด้วยกิเลสไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นการฆ่าเพื่อกินหรือเพื่อขายเจตนานั้นประกอบด้วยความโลภหากฆ่าเพื่อต้องการให้ตายเห็นได้ชัดว่าฆ่าด้วยความโกรธเป็นการเบียดเบียนสัตว์ บี้มด ตบยุงเล่น เป็นต้นเจตนาประกอบด้วยโมหะส่วนเจตนากินล้วนๆนั้นไม่ประกอบด้วยกิเลสเหล่านั้น แต่หากเป็นความอยากกินก็ต้องเป็นโลภเจตนาหรือเป็นการบริโภคด้วยตัณหา

ข้อนี้สำหรับชาวบ้าน สามเณร ไม่ถือว่าเป็นความผิดสำหรับพระภิกษุแล้วไม่ผิดปาติโมกข์ศีล คือศีลที่มาในพระปาติโมกข์โดยตรงแต่เป็นการผิดในระดับของปาริสุทธิศีล๔ อยู่ ๒ข้อ คือ
-อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์๖คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องเย็นร้อน อ่อนแข็งและรูปธรรมารมณ์ด้วยใจ
-ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ไม่บริโภคด้วยตัณหา

ศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ทำไมจึงอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์

วิสัชนา:2
พระพุทธเจ้าทรงเสวยเนื้อหรือไม่?
ตามพระวินัยปิฏกบอกไว้ชัดเจนว่าทรงเสวยเนื้อเช่นเดียวกัน เพราะทรงดำรงชีวิตด้วยอาหารที่ทายกเขาถวายตามที่เขามีอยู่บริโภคกันอยู่และโภชนะอันประณีตก็ทรงแสดงว่าได้แก่ "เนยใส่ เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม"เพราะเจตนากินไม่เป็นบาป การบริโภคเนื้อสัตว์จึงไม่ถูกห้ามไว้สำหรับคนทั่วไป

ทำไมจึงพูดว่าสำหรับคนทั่วไป?
เพราะว่าในการบริโภคเนื้อสัตว์ของภิกษุสามเณรนั้น ทรงกำหนดไว้อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับการฆ่าสัตว์นั้นๆมาบริโภค โดย กำหนดเป็นขั้นตอนไปดังนี้
-การบริโภคอาหารทุกชนิดต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อน
-เนื้อบางชนิด เช่น เนื้อคน เนื้อม้า เนื้อช้าง เนื้องู เนื้อเสือ เป็นต้นห้ามฉัน
-ห้ามมิให้ฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ตนเห็นได้ยินหรือสงสัยว่าเขาฆ่าเนื้อนั้นเจาะจงถวายให้ตนฉัน
-กรณีที่ต้องฉันอาหารที่เป็นเนื้อไม่ให้ฉันด้วยตัณหา คืออยากกินแต่ให้กำหนดว่าตนจำเป็นต้องฉันเนื้อเหล่านั้น เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ได้เหมือนพ่อ
ที่จำเป็นต้องกินเนื้อบุตรที่ตายในทะเลทราย เพื่อให้ชีวิตของตนรอดไปจากทะเลทราย

ศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ทำไมจึงอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์

ปุจฉา:
พระพุทธศาสนาห้ามฆ่าสัตว์ทำไมจึงอนุญาตให้กินเนื้อสัตว์?


วิสัชนา:
นั่นน่ะซีน่าคิดเหมือนกันนะข้อที่น่าคิดนี้แหละจึงควรคิดไปตามลำดับคืออย่างไร? คือ "การตัดสินว่าบาปหรือบุญในพุทธศาสนานั้นท่านกำหนดด้วยเจตนาเป็นสำคัญ" "เจตนากินกับเจตนาฆ่าคนละเจตนากัน" เรื่องนี้เห็นจะต้องพูดกันมากหน่อยจึงขอยึดหลักไว้ก่อนเรื่องปรากฏในพาโลวาทชาดก ทุกนิบาต ความย่อว่าพระโพธิสัตว์บวชเป็นดาบส คฤหบดีคนหนึ่งต้องการจะแกล้งท่านจึงนิมนต์มาฉันที่บ้านด้วยอาหารที่เป็นปลาและเนื้อเมื่อดาบสฉันเสร็จแล้วคฤหบดีกล่าวว่า
หนตวา ฆตวา วธิตวาจ เทติ ทาน อสญญโต
อีทิส ภตต ภุญชมาโน สปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวม ประหาร ทรมาน ฆ่าสัตว์ให้ตายแล้วย่อมให้ทาน ผู้บริโภคภัตรเช่นนี้ต้องติดบาปพระดาบสโพธิสัตว์ตอบว่า
ปุตตทารมปิ เจ หนตวา เทติทาน อสญญโต
ภุญชมาโนปิ สปุปญโณ นปาปมุปลิมปติ
บุคคลผู้ไม่สำรวมแม้จักฆ่าบุตรและภรรยาให้ทานผู้มีปัญญาแม้บริโภคย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยบาปทำไมจึงพูดว่า เจตนากิน กับเจตนาฆ่าเป็นคนละเจตนากันเล่า? เพราะความจริงเป็นเช่นนั้นคนกินนั้นไม่มีเจตนาเกี่ยวข้องกับการฆ่าแต่ประการใด ถ้าคนกินเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเป็นบาป ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็ดีพระอรหันต์ก็ดี ทรงเสวยและฉันอาหาร ที่ทายกบริจาคถวายก็ต้องเป็นบาปด้วย เมื่อเป็นบาปด้วยก็เป็นการปฏิเสธว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ละบุญและบาปได้แล้วตามที่ท่านกล่าวว่า "ปุญญปาปปหีโน คือมีบุญและบาปอันละได้แล้ว"

วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชทำไมต้องทิ้งครอบครัว

ปุจฉา:
พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชเป็นการทอดทิ้งครอบครัวให้ได้รับความลำบากจะไม่ทำให้ชื่อว่าโหดร้ายนักหรือ?

วิสัชนา:
อย่างนี้เขาเรียกว่าคิดเอาเองเพราะความเห็นแก่ตัวและไม่เข้าใจเหตุผลของคนที่ทำงานเพื่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าครอบครัวของพระพุทธเจ้ายากจนนักหรือ พอขาดคนไปคนหนึ่งก็ลำบากกันแล้วอย่าลืมนะครอบครัวพระพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์อยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีข้าราชบริพารแวดล้อมคอยถวายความสะดวกทุกอย่าง อย่างนี้หรือเรียกว่าลำบาก? "ถ้าอย่างนั้นใครเล่าที่ไม่ลำบาก?"

เอาเถอะสมมติว่าลำบากก็แล้วกันลำบากมากเสียด้วยแต่เราก็ต้องมองความจริงที่มีอยู่ใกล้ตัวของเรา เช่น ทหารไปราชการสงครามทอดทิ้งลูกเมียให้อยู่ข้างหลังบางคนไปแล้วไม่ได้กลับมาทหารเหล่านั้นโหดร้ายมากไหม? นายแพทย์และผู้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ทั้งหลายต้องไปช่วยเหลือคนอื่นจนไม่ค่อยได้มีโอกาสให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัวคนเหล่านั้นโหดร้ายหรือ? คนที่ไปทำมาหากินในต่างถิ่นเพื่อนำเงินทองมาเลี้ยงครอบครัวปล่อยลูกเมียให้คอยแล้วคอยอีกคนเหล่านั้นได้ชื่อว่าโหดร้ายหรือเปล่า?

ไม่มีคนที่มีสติสัมปชัญญะคนใดหรอกที่จะตำนิติเตียนคนเหล่านั้นว่าเป็นคนโหดร้ายมีแต่ยกย่องเป็นนักบุญเป็นนักวีรชนเป็นผู้รักลูกรักเมียกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ทำนองเดียวกัน พระองค์เสด็จออกไปจากวังเพื่อแสวงหาพระธรรมอันวิเศษซึ่งเป็นอริยทรัพย์เพื่อแจกจ่ายแก่ชาวโลกทั้งหลายผู้ปรารถนาความสุขความเจริญ เป็นการพรากจากพระญาติวงศ์เพียง ๖ ปี แต่กลับมาด้วยสมบัติอันเป็นอมตะช่วยให้พระญาติใกล้ชิดที่เรียกว่า ครอบครัว พระญาติอื่นๆและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้รับผลแห่งพระธรรมเป็นการอำนวยประโยชน์อันไพศาลตราบเท่าปัจจุบันอย่างนี้หรือเรียกว่าโหดร้าย?

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พึ่งพระพุทธเจ้าสู้พระเจ้าไม่ได้ (2)

วิสัชนา (ต่อ):
ใครจะถือใครเป็นที่พึ่งก็ตามควรจะทราบเงื่อนไขในการพึ่งว่า ท่านที่เรายึดเป็นที่พึ่งนั้นจะสามารถช่วยเราได้ในขอบข่ายแค่ไหนเพียงไร ไม่ใช่ว่าพอถือใครเป็นที่พึ่งแล้วตนเอง ไม่ต้องการทำอะไรเลยทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านผู้เป็นที่พึ่งของเราทั้งหมด ไม่มีที่พึ่งเช่นนั้น ในโลกนี้ไม่ว่าในศาสนาใดก็ตาม

คนที่พึ่งคนอื่นและทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับคนที่ตนพึ่งทั้งหมดนั้น หากจะมีก็มีเพียงคนปัญญาอ่อน คนพิการทางร่างกายทางสมองเท่านั้นที่ช่วยตนเองไม่ได้ ส่วนคนปกติธรรมดาแล้วอย่าไปคิดหวังที่พึ่งเช่นนั้นเลย เพราะจะเสียเวลาและตายเปล่าโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

เมื่อพระเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่งได้โดยฐานะดังกล่าว ปัญหาเรื่องที่พึ่งจึงมีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับคนที่ถือพระเจ้าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งว่า "ศาสนิกในศาสนาเหล่านั้นจะสามารถเอาคำสอนในศาสนาของตนมาลงมือปฏิบัติจนสามารถพัฒนาจิตใจ ความประพฤติ และขจัดทุกข์ ได้รับความสุขอันเกิดจากการปฏิบัติ ตามคำสอนเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนเพียงไร"

การถือพระพุทธเจ้าได้อย่างสมบูรณ์นั้นทำให้คนได้บรรลุมรรค ผลนิพพานอันเป็นการดับกิเลสและความทุกข์ได้ทั้งหมด การถือพระเจ้าเป็นที่พึ่งคือการเข้าร่วมกับพระเจ้าตลอดนิรันดร ใครเห็นว่าอะไรดีกว่าก็เลือกเอาโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องไปตำหนิคนอื่นหรือยกตนข่มท่าน

เมื่อทำได้เช่นนี้เอกภาพระหว่างคนนับถือศาสนาต่างๆก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นจะต้องนับถือศาสนาเดียวกันหรือมีพระเจ้าองค์เดียวกัน

ส่วนที่ว่า "พึ่งเทวดาย่อมดีกว่าพึ่งมนุษย์" นั้นข้อนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจที่บุคคลนั้นๆเลือกเอาเองเช่นเดียวกัน แต่ที่ไม่ควรลืมคือเทวดากับมนุษย์นั้นมี กิเลส โลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แต่มีชาติกำเนิดแตกต่างกันเหมือนคนไทยกับคนต่างชาติ ฉะนั้นการถือว่าพึ่งเทวดาดีกว่าพึ่งมนุษย์นั้นได้แสดงออกมาให้เห็นตามสมควรว่าคนไม่น้อยมีความฝังใจในเรื่องนี้มากพอสมควร เช่น

- การเที่ยวอ้อนวอนบวงสรวงเทวดา เพื่อให้ดลบันดาลให้ตนได้อย่างนั้นอย่างนี้ ขอหวย ขอเบอร์กันจนขาดการตั้งใจทำมาหากิน บางรายร้ายแรงจนต้องขายทรัพย์สิน เพราะไปหวังพึ่งเทวดากัน เทวดาพึ่งได้จริงหรือไม่ก็น่าจะรู้ ๆกันอยู่แล้ว

- เกิดการดูหมิ่นตนเอง ไม่เชื่อความสามารถวิชาความรู้ของตนทำอะไรไม่ค่อยใช้สติปัญญา แต่ต้องการพึ่งอำนาจภายนอกมีเทวดาเป็นต้น ความยากจนความตกต่ำในด้านฐานะวิชาความรู้ก็ตามมา คนชาติใดก็ตามที่ไม่หวังพึ่งอำนาจภายนอกมากเกินไปแต่อาศัยเหตุผลสติปัญญาเป็นหลักในการดำรงชีวิต ความเจริญในด้านต่างๆก็จะเกิดขึ้นได้ จนป่านนี้แล้วคนในบ้านเมืองของเราบางพวกยังหลงมอบความเป็นอยู่ของตนให้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของอำนาจภายนอกแล้วจะโทษใครกันเล่า?

-เทวดานั้นแม้แต่ศาลจะอยู่ก็ต้องให้คนสร้าง ให้หากอำนาจในการช่วยเหลือมีจริงเทวดา ก็คงไม่เก่งเกินพระเจ้าคือ จะช่วยได้เฉพาะแก่คนที่ช่วยตัวเองก่อนแล้วเท่านั้น มีเรื่องเทพารักษ์กล่าวกับคนขับเกวียนผู้อ้อนวอนให้เทวดาช่วยเมื่อล้อเกวียนตกหลุมลึก วัวลากไปไม่ไหวที่ว่า "เจ้าจงเอาบ่าแบกลูกล้อ แล้วเฆี่ยนวัวให้เดิน ลูกล้อก็จะเคลื่อนที่พ้นจากหลุมได้ การที่ร้องโวยวายไปเสียก่อนโดยยังไม่ได้ทดลองกำลังของตนใครเล่าจะช่วยเจ้าได้"

คำกล่าวนี้ย่อมเป็นตัวอย่างอันดีของคนหวังพึ่งอำนาจภายนอกเพียงอย่างเดียวโดยตน ไม่ต้องลงทุนใช้ความเพียรพยายามแต่ประการใด คนเรานั้นหากอยู่ในสภาพดังกล่าว แล้วไม่ว่าจะถือพระพุทธเจ้า พระเจ้า เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นก็ไปไม่รอดเสมอกันทั้งนั้นแหละ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พึ่งพระพุทธเจ้าสู้พึ่งพระเจ้าไม่ได้ (1)

ปุจฉา:
พึ่งพระพุทธเจ้าสู้พึ่งพระเจ้าไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้าดับไปแล้ว แต่พระเจ้ายังอยู่ให้พึ่ง และการพึ่งเทวดาย่อมดีกว่าพึ่งมนุษย์ข้อนี้ ท่านมีความเห็นว่าอย่างไร?

วิสัชนา:
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความซาบซึ้งของการยอมรับถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนยึดถือพอใจ เหมือนกับเพลงที่ร้องกัน ความว่า "ขี่รถเก๋งแสนสบาย อีกคนบอกว่าแพ้ควายแท้เทียว เพราะไม่หวาดเสียวเหมือนขี่รถ"

เรื่องการพึ่งพระเจ้ากับพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ใครเห็นคุณค่าของใครมากกว่าก็ย่อมกล่าวว่าฝ่ายนั้นดีกว่า นอกจากคนมีความรู้สึกว่า "ขี่ควายขี่เก๋งก็เหมือนกัน เพราะพระจันทร์ดวงเดียวกัน"

ใครจะถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งหรือจะถือพระเจ้าเป็นที่พึ่งก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนมีศาสนาเป็นหลักใจในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดการยอมรับในประเด็นนี้ได้แล้ว การอ้างพึ่งใครดีกว่าใครก็ไม่จำเป็น เพราะต่างคนต่างยึดมั่นในแนวทางของตนทำให้ตนเป็นศาสนิกที่ดีในศาสนานั้นๆ ก็จะได้รับผลตามควรแก่การปฏิบัติตามหลักในศาสนานั้นๆ

แต่ถ้าเราจะพูดกันตามหลักความเป็นจริงแล้วทั้งพระพุทธเจ้าและพระเจ้าได้แสดงฐานะของตนเองออกมาอย่างเปิดเผยที่สุด คือ "จงช่วยตนเองก่อน แล้วพระเจ้าจะช่วยเจ้า" นี่คือหลักในศาสนาที่นับถือพระเจ้า"ความเพียรพยายาม อันเธอทั้งหลายพึงทำเอง ตถาคต เป็นเพียงผู้บอกให้เท่านั้น" นี่คือหลักในศาสนาพุทธ

จากข้อความเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าก็ดีพระพุทธเจ้าก็ดี ทำหน้าที่ชี้แจงแสดงทางถูกทางผิดให้คนได้พิจารณาเอาเท่านั้น หาได้มีอำนาจในการดลบันดาลให้ใครๆเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ตนต้องการได้ไม่ ด้วยอำนาจพระมหากรุณาที่พระพุทธเจ้าและพระเจ้ามีอยู่นั้น หากท่านมีอำนาจในการดลบันดาลแล้วท่านคงบันดาลให้คนพ้นทุกข์กันหมดแล้ว

โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าเองหากดลบันดาลได้ ก็ไม่ต้องลำบากพระวรกายเที่ยวสั่งสอนคนอยู่ถึง ๔๕ ปี หรอก ดลบันดาลกันประเดี๋ยวเดียวก็เป็นสุขกันหมดโลกแล้ว แต่งานของพระพุทธเจ้าเป็นงานที่ทรงทำเพียง

ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์
ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะพระเจ้าดลใจหรือเปล่า

ปุจฉา:
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะพระเจ้าดลใจจะตรัสรู้เองไม่ได้เด็กพูดเองไม่ได้ต้องมีคนสอนหรือได้ยินคนอื่นพูดจึงพูดได้ฉันใด การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยการดลใจของพระเจ้าหรือท่านว่าไม่จริง?

วิสัชนา:
ไม่ว่าอะไรหรอกจะว่าอย่างไรก็ว่ากันไปปัญหาข้อนี้มาตะเภาเดียวกับข้อก่อนๆคือพูดกันเอาเองแต่นำไปใส่โอฐของพระเจ้า การพูดจึงต้องพูดแบบสมมติตามปัญหาที่ถามมา คือ สมมติว่าถ้าพระเจ้าดลใจได้จริงแล้วไม่ว่าอะไรหรอก จะว่าอย่างไรก็ว่ากันไป

ปัญหาข้อนี้มาตะเภาเดียวกับข้อก่อนๆคือ พูดกันเอาเองแต่นำไปใส่โอฐของพระเจ้า การพูดจึงต้องพูดแบบสมมติตามปัญหาที่ถามมา คือ สมมติว่าถ้าพระเจ้าดลใจได้จริงแล้ว

ทำไมพระเจ้าจึงได้ดลใจให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแสดงธรรมประกาศศาสนาที่ขาดการยอมรับนับถืออำนาจของพระเจ้าเล่า ทั้งๆที่พระเจ้าเองก็ต้องการให้คนนับถือจงรักภักดีต่อพระองค์มิใช่หรือ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทำของคนฉลาดหรือ?

ทำไมพระเจ้าไม่ดลใจให้คนในศาสนาพุทธ เชน เต๋า ขงจื้อ และแม้แต่คอมมิวนิสต์ ให้หันมานับถือพระองค์ให้หมดเพื่อจะได้มีศาสนาเดียวในโลกเล่า

ปัจจุบันคนกำลังตระเตรียมกองกำลังเป็นอันมากเพื่อเตรียมรบกัน หากพระเจ้าดลใจให้คนตรัสรู้ได้จริงก็น่าจะดลใจให้รัฐบาลของทุกประเทศในโลกหยุดความคิดในทางแสวงหาอำนาจกันให้หมด นำเอาเงินที่ต้องใช้ไปเพราะการสงครามเตรียมสงครามสร้างแสนยานุภาพทางทหารมาแก้ไขปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนจะไม่ดีกว่าหรือ?

ในเมื่อปัญหาข้อนี้ตอบไปตามสมมติเรื่องทั้งหมดจึงถือเพียงการสมมติเอาแต่ข้อที่น่าจะกำหนดกันไว้คือ พระเจ้าไม่ได้ว่าไว้อย่านำอะไรไปใส่โอฐของพระเจ้าเลย

ข้อใดที่พระพุทธไม่ได้ทรงแสดงไว้อย่าได้กล่าวอ้างพระองค์เลย ข้อใดที่ศาสนา ผู้บังคับบัญชาผู้ใหญ่ไม่ได้พูดอย่าอ้างกันนักเลย เพราะนั่นย่อมเป็นการทำลายทั้งตนเองและเกียรติภูมิของผู้ที่ตนกล่าวอ้าง ผู้ใหญ่

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พระเจ้าวิเศษกว่าพระพุทธเจ้าจริงหรือ

ปุจฉา:
พระพุทธเจ้ายังต้องมีพ่อแม่ แต่พระเจ้าไม่ต้องมี เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ที่สุด จึงมีเองเป็นเองได้ พระเป็นเจ้าจึงวิเศษกว่าพระพุทธเจ้า

วิสัชนา:
เรื่องนี้ก็ว่ากันไปอีกเช่นเคยดูเหมือนไม่มีในหลักของทางศาสนาเทวนิยมเสียด้วย แต่คนก็พยายามจะเอามานะ(ความถือตน) อันเป็นกิเลสหยาบๆไปใส่ให้พระเป็นเจ้าอยู่เสมอ พระเป็นเจ้าน่าจะปรามๆศิษย์พวกนี้เสียบ้าง พระอินทร์เสียสถานะของจอมเทพในชมพูทวีปนั้นเพราะลูกน้องชอบเบ่งนั่นเอง แสดงกฤษดาภินิหารเสียจนพระอินทร์เสียคนถูกลดฐานะลงมาเป็นระดับเทวดา เจ้าสวรรค์เพียงชั้นเดียว

ดังได้กล่าวแล้วว่าคำถามนี้หาได้เกิดจากหลักการของศาสนาประเภทเทวนิยมไม่ แต่เมื่อกล่าวมาเช่นนั้นได้ เราก็อาจได้หลักที่ควรแก่การพิจารณาคือ พระพุทธเจ้าได้พระนามว่า สยัมภู แปลว่าผู้เป็นเอง โดยหมายเอาการตรัสรู้ของพระองค์ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความเพียรพยายามของพระองค์ หาได้มีใครบันดาลให้เกิดชึ้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อควรพิจารณาสำหรับปัญหาข้อนี้คือ

ตามหลักความจริงแล้ว สรรพสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ ไม่มีสิ่งอันใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ แต่ด้วยสมมติฐานที่ว่าพระเจ้าเกิดเป็นสยัมภูโดยปราศจากเหตุนั้นเองข้อที่ควรเปรียบเทียบสำหรับผู้ต้องการเปรียบเทียบ คือ ความเป็นเองของพระเจ้าเปรียบเหมือนคนที่ร่ำรวยเพราะเกิดมารวย กับความเป็นเองของพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนความร่ำรวยของคนที่เกิดขึ้นจากความเพียรพยายามของตนเอง ในสายตาของบัณฑิตพอจะบอกได้หรือไม่ว่าระหว่างคนทั้งสองนั้น ใครคือคนที่มีคุณสมบัติ ฝีมือ ความสามารถควรแก่การนับถือมากว่ากัน

การเผยแผ่ศาสนาแบบยกตนข่มท่านนั้น นักศาสนาทั้งหลายควรยุติได้แล้ว เพราะนั่นหาใช่คุณสมบัติที่ดีของนักศาสนาไม่ เพราะเป็นการกล่าวร้ายการล้างผลาญกันระหว่างศาสนาต่อศาสนา และที่น่าขายหน้ามากที่สุด คือ "การเผยแผ่ศาสนาด้วยวิธีโจมตีอีกศาสนาหนึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่ได้รับผลจากศาสนาแม้แต่วจีทุจริตก็ยังละไม่ได้แล้วยังจะไปเผยแผ่ศาสนาของตนให้คนอื่นนับถืออีกหรือ?"

งานที่นักศาสนาแต่ละศาสนาควรทำในปัจจุบัน คือการทำศาสนิกในศาสนาของตนให้เป็นศาสนิกที่ดีให้ได้ ในขณะเดียวกันควรมีการร่วมมือประสานงานกันเพื่อให้เกิดผลในทางดำรงอยู่อย่างมั่นคงแห่งศาสนาทั้งหลาย เพราะศาสนาแต่ละศาสนานั้นมีความดีพอที่จะสร้างศาสนิกให้เป็นคนดีได้ในระดับต่างๆ ถึงเวลานานแล้วที่นักศาสนาจะกล่าว คำว่า "ขอให้เรามาร่วมมือกันเถิด อย่าได้ด่าทอทะเลาะวิวาทกันเลย."