วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

นรก สวรรค์มีจริงหรือ

ปุจฉา: นรก สวรรค์มีจริงหรือไม่ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของนักเผยแผ่หรือ?

วิสัจฉนา: เรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องที่ท่านได้บรรลุญาณที่เรียกว่า จุตูปปาตญาณคือญาณที่ทำให้ทราบการเกิดความแตกต่างของสัตว์ทั้งหลาย ว่ามีได้เพราะอะไร ท่านเห็นความมีอยู่ของนรกสวรรค์ด้วย ทิพพจักขุ คือตาทิพย์ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต้องได้อภิญญา ซึ่งแปลว่าความรู้อันยิ่ง ไม่ใช่วิสัยของคนธรรมดาจะรู้ได้เหมือนกับการรับภาพในอากาศ

การฟังเสียงจากที่ไกลเป็นวิสัยของเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุตามลำดับปัจจุบันใครๆไม่อาจปฎิเสธว่าในบรรยากาศมีเสียงกล่าวถึงเรื่องต่างๆจากภายในประเทศบ้าง ภายนอกประเทศบ้าง แต่ถ้าเขาไม่มีวิทยุเขาก็ไม่อาจจะทราบเสียงนั้นได้เมื่อต้องการจะทราบฉันใดเรื่องนรกสวรรค์ก็มีลักษณะฉันนั้น

การถกเถียงในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องของคนที่ถกเถียงรสว่าอร่อยไม่อร่อยด้วยหูแทนที่จะพิสูจน์ด้วยลิ้น ซึ่งเถียงกันอย่างไรก็ได้ แต่หาข้อยุติไม่ได้เรื่องนรกสวรรค์ก็เหมือนกัน การรู้ การเห็นนรกสวรรค์เป็นวิสัยของญาณและทิพย์จักษุ เมื่อไม่มีเครื่องมือสองประเภทนี้ ก็ต้องเถียงกันด้วยโวหารที่ไม่มีทางจบสิ้นเป็นการเสียเวลาโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

ที่สำคัญคือเรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องของผลแห่งกรรมอันถือว่าเป็น อจินไตย คือไม่อาจรู้ได้ด้วยการคิดเอาแต่จะทราบได้ด้วยการลงมือปฎิบัติเหมือนการทราบชัดรสอาหารด้วยการบริโภคฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรจับหลักอะไร? ก็ต้องอาศัยตถาคตโพธิสัทธาคือ เชื่อพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะเรื่องนี้ พระองค์ทรงรู้ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วหาได้รู้เมื่อยังครองเรือนอยู่ไม่

พระพุทธเจ้านั้นทรงมีหลักในการสอนธรรม ๓ ประการข้อที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ "ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในสิ่งที่เขาควรรู้ควรเห็น" ในเรื่องที่ทรงแสดงนั้นมีเรื่องนรกสวรรค์อยู่ด้วย แสดงว่าเรื่องนี้ควรรู้ควรเห็น เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้นั้นมีมากมายสุดจะนับจะประมาณได้ แต่ข้อที่นำมาสั่งสอนนั้น อุปมาเหมือนใบไม้กำมือเดียวจากใบไม้ในป่าเท่านั้น และในใบไม้กำมือเดียวนั้นมีเรื่องนรกสวรรค์รวมอยู่ด้วย เรื่องเหล่านี้ปรากฎในคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งชั้นบาลีอรรถกถาและตำรารุ่นหลังเป็นอันมาก จนคนผู้ทราบประมาณแห่งความรู้ตนไม่อาจปฎิเสธได้

"อาจจะมีปัญหาว่าการเชื่อถือในลักษณะนี้จะไม่เป็นการเชื่อเพราะอ้างตำราหรือ? เพราะในกาลามสูตรห้ามมิให้เชื่อโดยอ้างตำรา มิใช่หรือ?" ปัญหาก็จะติดตามมาว่าก็กาลามสูตรเองเล่ามิใช่เป็นตำราด้วยหรือ เมื่อเป็นตำราแม้กาลามสูตรเองต้องเชื่อไม่ได้ด้วยนะซิ ในที่สุดก็จะเกิดปัญหาวัวพันหลักขึ้นมา


ในชั้นนี้ขอให้ข้อสังเกตเพียงว่าแหล่งแห่งความเชื่อของคนเรานั้นอาจจำแนกได้ดังนี้

  1. ประจักษ์ประมาณคือ เชื่อเพราะได้เห็น ได้ยิน ได้สูดดม ได้ลิ้ม ได้จับต้อง ได้รู้ด้วยตนเอง แล้วจึงเกิดความเชื่อขึ้นมา
  2. อนุมานประมาณ รู้ด้วยการอนุมาน คือการคาดคะเนเอาว่าเมื่อเป็นอย่างนี้
    ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เช่นเราเคยเห็นควันเกิดจากไฟ ต่อมาเห็นเฉพาะควันไม่เห็นไฟ
    ก็อนุมานได้ว่าที่ตรงนั้นต้องมีไฟ เพราะที่ใดมีควันที่นั้นมีไฟ
  3. ศัพท์ประมาณคือ การศึกษาจากหลักฐานต่างๆ เช่น ตำรา โบราณคดี เป็นต้น

ให้สังเกตว่าแหล่งแห่งความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่ข้อยุติว่าจะต้องถูกต้องเสมอไปจำเป็นจะต้องใช้ปัญญาเช้าพิจารณาเสียก่อนทั้งนั้น ตามที่ท่านแสดงว่าบุคคลไม่เชื่อด้วยเหตุผล 10 ประการ ซึ่งมักจะแผยแพร่กันแบบไม่ตลอดสายอยู่เสมอนั้นพระพุทธเจ้าทรงมุ่งไปที่ประเด็นว่า "ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะเป็นตำรา" แต่โดยหลักปฎิบัติแล้วให้นำเอาแหล่งแห่งความรู้เหล่านั้นเองไปพินิจพิจารณาด้วยเหตุผลสติปัญญาจึงจะเชื่อในเรื่องนั้นๆ

สำหรับบางคนที่อ้างว่าตนไม่รู้ไม่เห็นตนไม่เชื่อนั้น นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้อที่ไม่ควรลืมว่าการที่บุคคลยอมรับว่าท่านผู้นั้นเป็นพ่อเป็นแม่ของตนเป็นต้นนั้นไม่ได้เชื่อเพราะเห็นเป็นต้น แต่เชื่อเพราะท่านบอกและคนอื่นบอกว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้กับตนและตนอนุมานเอาจากพฤติกรรมที่ท่านแสดงวิญญาณของแม่เท่านั้นเพราะอะไร? "เพราะว่าเราไม่ได้รู้เห็นตอนที่ท่านเกิดเรามาด้วยสายตาของเราเองจึงต้องเชื่อด้วยวิธีที่สองและสาม"

เรื่องนรกสวรรค์จึงเป็นเหมือนคนที่เคยขึ้นไปยอดเขาหิมาลัยมาเล่าถึงความสวยงามของภูเขาและทิวทัศน์ที่ตนได้เห็นมาบนภูเขาหิมาลัยผู้ฟังทำได้สองประการ คือเชื่อตามที่เขาบอกให้ทราบเพราะเขาไปรู้เห็นมาด้วยตนเองขึ้นไปดูภูเขาในจุดที่เขาบอกว่าเขาเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ "หากปฏิเสธไปเลยว่าเขาโกหกได้ไหม?" "ไม่ได้หรอก" ทำอย่างนี้ก็เสียเชิงวิทยาศาสตร์แย่นะซีเพราะนักวิทยาศาสตร์นั้นเขามีหลักสำคัญอยู่ว่า "จะไม่ยืนยันหรือปฏิเสธอะไรในเรื่องที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทดสอบ" แต่การพิสูจน์ทดสอบอะไรก็ตาม ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องมือและกรรมวิธีเฉพาะเรื่องนั้นๆไม่ใช่จะเอากล้องจุลทัศน์ดูไปเสียทุกเรื่อง

อย่างไรก็ตามเรื่องนรกสวรรค์นั้นเท่าที่พบมาทรงมีวิธีแสดงหลายวิธีคือ

  1. แสดงถึงภพหรือภูมิ ที่คนสัตว์จะต้องไปเกิดตามสมควรแก่กรรมของตน เรียกว่า ปรโลก คือโลกอื่น ตรงกันข้ามกับโลกนี้ที่เรียกว่า อิธโลก
  2. แสดงในรูปของกรรมที่บุคคลกระทำแล้วจะนำให้เขาอุบัติในคติภพนั้นๆเช่น ทรงแสดงอานิสงส์ คือผลอันเกิดขึ้นจากการกระทำความดีมีการให้ทาน รักษาศีล มีศรัทธา เมตตา เป็นต้นจะจบลงด้วยคำว่าตายแล้วไปบังเกิดในสุคติหรือทุคติ หากกระทำตรงกันข้ามหรืออย่างที่รับสั่งปรารภ คน ๔ คนผู้มีการกระทำแตกต่างกัน ได้ตายไปว่า คพภเมเก อุปปชชนติ นิรยํ ปาปกมโน สคคํ สุคติโน ยนติ ปรินิพพนติ อนาสวา คนทั้งหลายบางพวกย่อมเกิดในครรภ์ ผู้มีบาปกรรมย่อมเข้าถึงนรก ผู้มีกรรมเป็นเหตุแห่งสุคติย่อมไปสวรรค์ ท่านผู้ไม่มีอาสวะย่อมปริพพาน
  3. ทรงแสดงในรูปของธรรมอันเป็นเหตุให้คนไปบังเกิดในนรกและสวรรค์ เช่น น หิ ธมโม อธมโม จ อุโภ สมวิปากิโน อธมโม นิรยํ เนติ ธมโม ปาเปติ สุคตํ
    ธรรมและอธรรมทั้งสอง หามีวิบากเสมอกันไม่ อธรรมนำไปสู่นรกธรรมยังบุคคลให้ถึงสุคติ
  4. ทรงแสดงในรูปของสรรค์ที่บุคคลจะประสบด้วยการกระทำของตนในปัจจุบัน
    เช่นมีฐานะร่ำรวยอยู่เย็นเป็นสุขเป็นสวรรค์ ทำผิดติดคุกประสบความเดือดร้อนเป็นนรก
  5. แสดงในรูปของการเป็นเทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต ด้วยการการปฏิบัติตามธรรมและอธรรม เช่นเป็นเทวดาเพราะมีหิริ โอตตัปปะ เป็นพรหมเพราะมีพรหม วิหารเป็นต้น
  6. แสดงในรูปของความรู้สึกในด้านจิตใจโดยเฉพาะ เช่นสุขกายสบายใจเป็นสวรรค์กลัดกลุ้มเดือดร้อนใจเป็นนรก

สำหรับคนที่ไม่สมัครใจที่จะเชื่อจะด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตามให้ยึดหลักการทำความดีเอาไว้คือ

  • หากสวรรค์นรกไม่มีอยู่จริง ตนก็อยู่อย่างไม่มีเวรมีภัยในปัจจุบัน
  • หากสวรรค์นรกมีเมื่อตายไปก็จะได้บังเกิดในสวรรค์
  • หากทำความชั่วแล้วแม้ว่าจะไม่มีนรกสวรรค์ตนก็ได้รับความเดือดร้อนที่เห็นในปัจจุบันตายไป
  • หากนรกสวรรค์มีก็ต้องตกนรก

การทำความดีในปัจจุบันอย่างน้อยที่สุดจะได้รับความสุขในโลกนี้ เมื่อมีนรกสวรรค์ในโลกหน้าก็จะได้บังเกิดในสวรรค์อีกเป็นการได้ถึงสองชาติ แต่ผู้ทำความชั่วกลับตรงกันข้ามคือต้องเดือดร้อนในโลกนี้เป็นอย่างน้อย หากนรกสวรรค์เกิดมีเข้าก็เดือดร้อนทั้งสองโลก

วิธีการแสดงเรื่องนรกสวรรค์ตามที่กล่าวมานี้จะพบว่าผลจะออกมาในลักษณะเดียวกัน ใครจะเชื่อในระดับใดก็ตาม หากต้องการความสุขก็ต้องทำดีหนีความชั่ว ผลจะเกิดขึ้นให้พิสูจน์ได้ทั้งในปัจจุบันและด้วยญาณของท่านผู้รู้ ให้สังเกตว่าการตกนรกหรือขึ้นสวรรค์นั้นเป็นการใช้คำว่า ตก และขึ้น แห่งระดับจิตของบุคคลคือยกจิตจากกระแสอธรรม และขึ้นสู่กระแสธรรม เมื่อจับจุดนี้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์หรือถกเถียงกันให้เสียเวลา เพราะถึงจุดหนึ่งแล้วตนจะรู้เองขอเพียงยึดมั่นในการยกระดับจิตของตนให้สูงไว้ก็พอแล้ว

การจะทราบชัดในเรื่องนี้ได้จริงๆนั้นนอกจากทราบด้วย "ญาณ"ดังกล่าวแล้วอีกวิธีหนึ่งคือ "จะทราบชัดด้วยตนเอง เมื่อตนตายไปแล้ว" การรอคอยพิสูจน์วิธีนี้หากทำความดีไว้ก็ไม่เสียหายแต่ถ้าทำความชั่วมากๆก็ออกจะเสี่ยงเอาการทีเดียวทางที่ดีแล้วคือ "เพียรพยายามสร้างความดีในปัจจุบันให้มากๆไว้เป็นการปลอดภัยที่สุด"

สำหรับประเด็นที่ว่า "ไม่ใช่เป็นเครื่องมือนักเผยแผ่หรือ" นั้น ออกจะเป็นการกล่าวหาที่ไร้เหตุผลเอามากที่เดียว "ทำไมถึงได้กล่าวเช่นนั้น?" เพราะว่าเรื่องนรกสวรรค์นี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านรู้เห็นด้วยญาณและได้แสดงแก่ชนทั้งหลาย

ในฐานะที่เป็นเรื่องควรรู้ควรเห็นประการหนึ่ง พระพุทธเจ้านั้นทรงแสดงเรื่องนี้ด้วยพระมหากรุณาแก่สัตว์โลกพระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยพระบริสุทธิคุณไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพระองค์ แต่ทรงทำเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่สรรพสัตว์ พระอรหันต์ทั้งหลายก็มีนัยเดียวกัน

พระสงฆ์ที่ทำงานเผยแผ่นั้นท่านไม่มีความรู้อะไรเป็นส่วนตัวของท่าน แต่ท่านรู้เพราะการได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทำงานไปตามหน้าที่ของท่านที่กำหนดไว้ว่า "พระสงฆ์คือหมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและสอนบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามด้วย"

หากจะถามว่าปฏิบัติตามซึ่งอะไร? คำตอบคือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เวลาพระเทศน์ทุกครั้งจึงมีคำว่า "บัดนี้จะแสดงพระธรรมเทศนาพรรณนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า" ก่อนทุกครั้งเพื่อบอกให้ทราบว่าที่กล่าวต่อไปนี้ไม่ใช่คำสอนของท่านนะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าพระสงฆ์จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนราชทูตอ่านพระสาส์น และในการสอนนี้เองมีหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของพระคือ "บอกทางสวรรค์ให้แก่ชาวบ้าน" ที่ว่าเป็นเครื่องมือจึงไม่ทราบว่าเป็นเครื่องมือในทางแสวงหาผลประโยชน์จากอะไรเพราะถ้าเรื่องนี้นักเผยแผ่สร้างขึ้นมาเอง

นักเผยแผ่ก็กล่าวมุสาอันเป็นเหตุอย่างหนึ่งให้ตนตกนรกนักเผยแผ่ไม่กลัวนรกหรือ ? ที่ไม่ควรลืมคือเรื่องนรกสวรรค์นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ได้ชัดด้วย จุตูปปาตญาณ หรือทิพยจักษุ

การอธิบายเรื่องนรกสวรรค์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ใครจะเอาเรื่องอธิบายยากมาสอนให้ลำบากเล่า ในเมื่อเรื่องง่ายๆมีมากมายก่ายกองอธิบายเรื่องนั้นๆไม่ดีกว่าหรือ ?

ศีลทำให้คนรวย

ปุจฉา: ศีลทำให้คนมีโภคสมบัติจริงหรือไม่ ถ้าจริงชาวประมงไม่มีศีล แต่ทำไมถึงรวย?

วิสัจฉนา: พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์คือผลอันเกิดขึ้นจากการรักษาศีลไว้ในมหาปริพพานสูตรก่อนกาลปรินิพพานของพระองค์ว่า ศีลที่บุคคลรักษาสำรวมระวังดีแล้วย่อมได้รับ อานิสงส์ 5 ประการ คือ

  1. ย่อมได้ลาภโภคสมบัติเป็นอันมาก
  2. กิตติศัพท์อันดีงามย่อมฟุ้งขจรไปในที่ทั้งปวง
  3. เมื่อไปในท่ามกลางชุมนุมชนใดก็ตามไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว
  4. ไม่หลงทำกาลกริยาคือตายอย่างมีสติ
  5. หลังจากตายไปแล้วย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ชาวพุทธทั่วไปมักจะได้ยินคำกล่าวของพระเวลาให้ศีลท่านจะจบลงด้วยคำว่า "ศีลย่อมนำไปสู่สุคติ ศีลให้บุคคลถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติ ศีลย่อมนำไปสู่นิพพานเพราะเหตุนั้นจงชำระศีลให้บริบูรณ์"

ข้อความเหล่านี้เป็นหลักฐานที่เป็นพระพุทธดำรัส แต่บุคคลอาจสังเกตพบด้วยตนเองว่าใครก็ตามที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการละเมิดศีล ถูก เขาอาจจะร่ำรวยได้ในบางโอกาส แต่หากลองติดตามดูวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขาเหล่านั้นจะพบว่า มักจะฉิบหายไป เพราะอันตรายในด้านต่างๆ ตรงกันข้าม กับทรัพย์สมบัติที่เกิดขึ้นแก่ผู้มีศีลอาจจะเป็นการค่อยๆเจริญขึ้น

แต่เป็นความเจริญเติบโตอย่างมีสัดส่วนแบบธรรมชาติทั้งหลายทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจะไม่ฉิบหายไปเพราะอันตรายต่างๆ เรื่องอานิสงส์ศีลส่วนนี้จะเกิดความเข้าใจได้ดี ต้องอาศัย

  • การสังเกตพิจารณาบุคคลผู้มีศีลเป็นรายๆไป
  • การประจักษ์ด้วยตนเองเมื่อตนเป็นผู้มีศีล
  • การได้ความสุขใจอันเกิดขึ้นจากการทำงานที่ปราศจากโทษ

นอกจากนั้นศีลที่บุคคลรักษาดีแล้วนั้นย่อมนำไปสู่ความมีอริยทรัพย์คือทรัพย์ที่ประเสริฐเพราะสามารถนำติดตนไปได้ ในกาล สถานที่ คติ ภพทั้งปวง คือ "ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือ พาหุสัจจะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา"

คำว่าทรัพย์คือสิ่งที่นำความปลื้มใจมาให้ จะพบว่าทรัพย์ภายนอกนั้นให้ความปลื้มใจที่แฝงไว้ด้วยความวิตกกังวลห่วงใย หวาดหวั่น แต่ทรัพย์คือศีลนั้นให้ความสุขกาย สบายใจที่ถาวร ยืนนาน ข้ามภพ ข้ามชาติได้ ศีลจึงเป็นทางให้เกิดโภคทรัพย์ในระดับต่างๆดังนี้ ส่วนชาวประมงนั้นศีลไม่ได้มีเฉพาะข้อปาณาติบาตเมื่อไรเล่าศีลข้ออื่นเขาไม่เสียนี่ เมื่อเขาขยันทำงานก็ย่อมได้เงินเป็นธรรมดา.

ถ้าตนไม่ทำแต่ใช้ให้เขาทำบาปอย่างนี้ผิดหรือไม่

ปุจฉา: ผู้ทำบาปเองก็เศร้าหมองเอง มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้อย่างนี้ถ้าตนไม่ทำแต่ใช้ให้เขาทำบาปอย่างนี้ผิดหรือไม่ ถ้าผิดไม่แย้งกับข้อความข้างต้นหรือ?

วิสัจฉนา: ผิดและไม่แย้งกับข้อความข้างต้นแต่ประการใดที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุไร ? เพราะว่ากรรม คือ เจตนา ที่บุคคลกระทำลงไปนั้น ย่อมเป็นได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ แต่ละอย่าง เมื่อบุคคลกระทำลงไปย่อมเป็นผลให้เกิดเป็นบาป บุญ ตามสมควรแก่กรรมทั้งนั้น คนไทยโบราณท่านกล่าวไว้ให้คิดว่า "บาปคนทำ กรรมคนใช้ "

การตัดสินว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ท่านให้ดูที่เจตนาว่าประกอบด้วยกลุ่มกิเลสสาย โลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หากประกอบด้วยกิเลส 3 กลุ่มนี้ อย่างใดย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำด้วยกาย วาจา หรือแม้จะคิดด้วยใจก็ตามท่านถือว่าเป็นบาปทั้งนั้น

ด้วยหลักนี้ทำให้เราพบว่า แม้กฎหมายท่านก็ลงโทษทั้งคนทำเองและคนใช้จ้างวานให้ทำเพราะว่าผิดกฎหมายเหมือนกัน เรื่องบาปก็เช่นนั้น หากใช้คนอื่นทำสิ่งที่เป็นบาป ตนก็ได้รับบาปนั้นด้วยใช้ให้เขาทำสิ่งที่เป็นบุญตนก็ได้บุญด้วย.

ฆ่าคนตายภายใต้เจตนาที่ดีผิดศีลหรือไม่

ปุจฉา: นาย ก.ได้รับทุกข์เวทนาแรงกล้า นายข.จึงยิงให้ตายด้วยความสงสาร ต้องการให้พ้นจากความทุกข์เวทนานั้น การกระทำของนาย ข อย่างนี้จะผิดหรือถูกอย่างไร ถ้าผิดเป็นการผิดศีลหรือผิดธรรม?

วิสัจชนา: ผิดทั้งศีลและธรรมไม่มีเหตุผลสำหรับอ้างเช่นนั้น เรื่องนี้เพียงแต่ทำตนเองเป็น อุปมาว่าหากเราได้รับความทุกข์ทรมานอย่างหนักมีคนมายิงให้เราตายเรายินดีไหม? คำตอบจะออกมาได้เอง ฆ่าคนด้วยความสงสารมีได้หรือ?

นอกจากจะเป็นคำพูดแบบหลอกตัวเอง เพราะไม่ต้องการรับผิดชอบในคนสัตว์ที่ตนจะต้องรับผิดชอบในความเป็นอยู่อย่างปกติของเขาของมัน เช่นมีข่าวเสมอว่าฝรั่งยิงสุนัขบ้าง ม้าของตนบ้างให้ตาย เพราะตนไม่อาจเลี้ยงดูได้เป็นต้น

เป็นการกล่าวอ้างไปอย่างนั้นเองให้ลองตรวจสอบจิตใจตนดูว่าอะไรคือความรู้สึกอันแท้จริงที่กระตุ้นให้ตนต้องทำเช่นนั้น จะพบว่าไม่ใช่ความกรุณาแน่นอน อาจจะเป็นความเบื่อหน่ายระอา ความหวง ความเห็นแก่ตัวเป็นต้น

คนสัตว์ประสบความทุกข์ทรมาน ท่านสอนให้กรุณาช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ หากทำไม่ได้จริง ๆให้ทำใจเป็นอุเบกขา คือพิจารณาให้เห็นความที่สัตว์หรือคนนั้นมีกรรมเป็นของ ๆตน เป็นต้น ไม่ใช่ทำด้วยการฆ่าให้ตาย

การกระทำของนาย ข. ในปัญหานี้จึงผิดศีลข้อที่ ๑ และขาดเมตตา กรุณา ทั้งผิดกฎหมายในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาด้วย ถ้าทำอย่างนั้นจริงคงต้องกินข้าวหลวงนานทีเดียว.

กรรมมีจริงหรือไม่

ปุจฉา: เรื่องกรรมมีจริงหรือไม่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง หรือไม่ ขอทราบเหตุผลว่าพระพุทธศาสนา แสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร?

วิสัจฉนา: เรื่องกรรม การให้ผลของกรรมตามสมควรแก่เหตุที่บุคคลได้กระทำลงไปนั้นเป็นเรื่องจริงๆอย่างที่ได้กล่าวมาส่วนหนึ่งแล้วในข้อก่อน
สำหรับในที่นี้จะพูดในส่วนที่เป็นการให้ผลของกรรมว่าเราจะสังเกตุได้อย่างไรเป็น การเพิ่มเติมจากปัญหาข้อก่อน

แต่อย่าลืมว่ากรรมมีความสลับซับซ้อนอยู่มากพระพุทธเจ้าทรงจำแนกในแง่การให้ผลของกรรมเพื่อเป็นหลักในการกำหนดพิจารณาเชื่อมโยงให้เห็นว่าอะไรเป็นผลของอะไรเรียกว่า มหากัมมวิภังคสูตรคือสูตรที่ทรงจำแนกกรรมขนาดใหญ่แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  1. พฤติกรรมของคนที่เป็นไปตามคัลลองแห่งกุศลธรรมแต่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในชาตินี้ และบังเกิดในทุคติหลังจากตายไปแล้วก็มี
  2. พฤติกรรมของบุคคล ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นคนทำทุจริตแต่ได้รับความสุขความเจริญในชาติปัจจุบันและบังเกิดในสุคติหลังจากตายไปแล้วก็มี
  3. พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าประกอบด้วยสุจริตธรรมด้วยได้รับความสุขในชีวิตปัจจุบันและตายไปเกิดในสุคติด้วยก็มี
  4. พฤติกรรมของคนบางคนปรากฎให้เห็นในปัจจุบันว่าเป็นผู้ทำทุจริตด้วยได้รับความทุกข์ในชาติปัจจุบันและตายไปบังเกิดในทุคติด้วยก็มี

จากหัวข้อใหญ่ๆ 4 หัวข้อนี้ จะพบว่า 1-2 ฟังดูออกจะสับสนเพราะดูเหมือนจะขัดแย้งกันจนถึงกับมีคนกล่าวว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่เข้าใจนัยแห่งมหากัมมวิภังคสูตรการที่มองตามตัวอักษรเห็นว่าสับสนนั้นอันที่จริงหาสับสนไม่ การที่คนสองประเภทแรกได้รับผลตรงกันข้ามกับกรรมในปัจจุบันของตน เป็นเพราะอกุศลกรรมและกุศลกรรมในอดีตมามีอิทธิพลเหนือชีวิตของเขา

กรรมที่ปรากฎในปัจจุบันจึงไม่อาจให้ผลได้ต้องยกยอดไปให้ผลในโอกาสต่อไป ส่วนสองประเภทหลังให้ผลแบบตรงตัวแต่ทั้งสี่ประเภทนั้นยังคงอยู่ในหลักการที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" อยู่นั่นเองข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ความว่า

  • เป็นไปไม่ได้ที่คนผู้กระทำความชั่วแล้วจะได้รับผลเป็นความสุขความเจริญเพราะการกระทำความชั่วนั้นเป็นเหตุให้เกิดขึ้น
  • เป็นไปไม่ได้ที่คนซึ่งกระทำความดีแล้วจะได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะการกระทำความดีของตนเป็นเหตุ

หากใครประสบกับผลที่มีลักษณะขัดแย้งกับเหตุที่ตนกระทำในปัจจุบันพึงรู้เถิดว่าผลนั้นจะต้องเกิดมาจากเหตุในอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่ผลที่ปรากฎ อันที่จริงการให้ผลแห่งกรรมนั้นเป็นการให้ผลตามลำดับที่บุคคลอาจกำหนดสังเกตุได้ เช่นบุคคลปลูกมะพร้าวสักต้นหนึ่งผลจะเกิดตามลำดับดังนี้

  1. อันดับแรก ได้ต้นมะพร้าวเป็นสมบัติหนึ่งต้น
  2. อันดับสอง เมื่อเวลาผ่านไปด้วยการเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน มะพร้าวก็ออกลูก
  3. อันดับสาม ลูกของมะพร้าวที่ออกมานั้นย่อมให้ผลไปตามลำดับจากอ่อนถึงสุก
  4. อันดับสี่ เมื่อเรานำผลไปขาย หรือปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์จากมะพร้าวนั้นและผลของมะพร้าวนั้นจะตามให้ผลแก่คนซ้ำซ้อนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แม้ในเรื่องอื่นๆก็ทำนองเดียวกัน ขอเพียงใช้ความสังเกตพิจารณาก็จะเห็นได้ไม่ยากนัก

อีกประการหนึ่งที่ท่านถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะทำให้กรรมสามารถแสดงผลเต็มที่ทั้งในด้านดีและไม่ดีคือ

  • กาล หมายถึงยุคสมัยที่ผู้ปกครองหัวหน้าเป็นต้นลักษณะส่งเสริมให้ผลกรรมปรากฎได้ชัดเจน เช่น มีผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นคนดี ถือว่าเป็นกาลสมบัติ
  • คติ หมายเอาภพ กำเนิด สถานที่ที่ตนอยู่อาศัยเกิดอำนวยให้กรรมให้ผลได้เติมที่
  • อุปธิ คือเรื่องสุขภาพพลานามัย ความสมบูรณ์ บกพร่องแห่งอวัยวะร่างกาย
  • ปโยคะ คือการกระทำในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางสนับสนุนให้กรรมแสดงผลได้เต็มที่หรือไม่

ทั้ง 4 ประการนี้ท่านจัดเป็นสมบัติคือสมบูรณ์ วิบัติคือบกพร่องไปในด้านกุศลกรรม หากทั้ง4ประการนี้สมบูรณ์ ผลกรรมก็ปรากฎได้อย่างเด่นชัด อย่างที่เรียกกันว่า "บุญมาวาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก"

หากองค์ประกอบ 4 ประการนี้บกพร่องไป กรรมทั้งสองฝ่ายก็ให้ผลเต็มที่ไม่ได้แต่ที่แน่นอนที่สุดคือคนเราทำกรรมอันใดไว้ก็ตามไม่ว่าจะดีหรือชั่วจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ให้ใช้สติปัญญาระลึกพิจารณาให้ดี ก็จะเห็นได้สำคัญอย่าหลงประเด็นก็แล้วกัน.

กรรมไม่มีตัวตนจะทำให้คนดีชั่วมั่งมีศรีสุขได้อย่างไร

ปุจฉา: การสอนให้เชื่อเรื่องกรรมทำให้เป็นคนยอมแพ้ต่อชีวิต และกรรมไม่มีตัวตนจะทำให้คนดีชั่วมั่งมีศรีสุขได้อย่างไร จะต้องมีพระเจ้าเป็นผู้กำหนดจึงจะถูกใช่ไหม?

วิปัสนา: ปัญหานี้ออกจะมีโมหาคติคือลำเอียงเพราะความไม่รู้มากไปหน่อยเพราะพูดไปพูดมาแสดงว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไรกันแน่ ก็ไม่เข้าใจซึ่งก็น่าเห็นใจ ก่อนอื่นควรทราบว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไร?

กรรมคือความจงใจที่บุคคลกระทำลงไป ทางกาย ทางวาจา อาจจะออกมาในทางดีไม่ดี กลางๆก็ได้ท่านเรียกว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม และอัพยากตกรรม ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้จะพบว่าชีวิตของเราทุกคนจึงผูกพันอยู่กับกรรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ตลอดเวลา การอาบน้ำ ทานข้าว เรียนหนังสือ ทำงาน งานประจำวันทุกรูปแบบของคนล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความจงใจที่บุคคลกระทำลงไปนั้นมีอะไรบ้างที่ไม่เป็นกรรม?
พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมกรรมเป็นตัวแบ่งแยกให้คนแตกต่างกัน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เห็นได้ทันทีทันใด เช่นนักเรียนๆหนังสือ ผลสอบออกมาไม่เหมือนกัน คนทำราชการมีความก้าวหน้าต่างกัน คนประกอบอาชีพเดียวกันแต่ประสบความสำเร็จแตกต่างกัน แม้คนที่ปฏิบัติธรรมศึกษาธรรม ก็ได้รับผลไม่เหมือนกันซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจำแนกของกรรมทั้งนั้น

"กรรมจำแนกให้ต่างกันอย่างไร?"
คือในการเรียน การทำงาน การประกอบอาชีพ การศึกษา และการปฏิบัติธรรมของคนเหล่านั้น มีเจตนาคือความจงใจ ความตั้งใจไม่เท่ากัน ผลจึงออกมาไม่เหมือนกัน อันที่จริงคำสอนเรื่องกรรมนั้นพระพุทธศาสนาเน้นหนักไปในกรรมปัจจุบันคือการกระทำของคนในปัจจุบันเป็นหลักสำคัญโดยสอนให้คนยอมรับเงื่อนไขแห่งกรรมว่า "คนเรามีกรรมเป็นของๆตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตามจะต้องเป็น
ผู้รับผลของกรรมนั้น"

ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาได้จำแนกประเภทของกรรม พร้อมทั้งผลให้คนเลือกกระทำ และละเว้นตามสมควรแก่กรณี หากเขาต้องการความสุขความเจริญในชีวิตคือ
  1. กุศลกรรม เช่น ความขยัน มีสติ มีเมตตา กรุณา ในการดำรงชีวิตให้ผลเป็นความสุข ความเจริญ
  2. อกุศลกรรม เช่น ความเกียจคร้าน การลักขโมย การดื่มสุรา ยาเสพติด ขาดสติ เขลา มีความริษยาอาฆาตให้เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการสอนเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา แทนที่จะสอนให้คนแพ้ชีวิตกลับเป็นการกระตุ้นให้คนสำนึกว่า ความดี ความชั่ว ความทุกข์ ความเจริญ ก้าวหน้า ความมั่งคั่ง ยากจน ในชีวิตของตนนั้นหาได้เนื่องด้วยอำนาจภายนอกไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองเป็นผู้สร้าง ผู้ทำลาย ผู้ดำรงรักษาชีวิตของตนด้วยตนเอง

ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นกรรมของตนนั้นย่อมมีทั้งส่วนที่เป็นอดีตกาลใกล้ และอดีตกาลนานไกล และปัจจุบันกรรมอันมีความสลับซับซ้อนอยู่ในชีวิตของคนการอำนวยให้เกิดผลในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยปัจจุบันกรรมเป็นหลัก อดีตกรรมมีความสำคัญรองลงมาจึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำให้คนผู้ไม่มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมจะยอมแพ้ต่อชีวิตมัวรอการบันดาลแห่งกรรมอยู่ เพราะกรรมจะบันดาลให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ทำกรรมเท่านั้นและผลที่เกิดขึ้นจากการบันดาลแห่งกรรมก็ต้องไม่ขัดแย้งกับเหตุที่บุคคลได้กระทำลงไป เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลยาณการี กลยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
การเชื่อและยอมรับกฏแห่งกรรมจะเป็นประทีปนำทางชีวิตให้บุคคลในสังคมมีความเคารพเชื่อมั่นในตนเองมากยี่งขึ้น จะต้องการผลเช่นไรก็ใช้ความเพียรพยายามประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการดลบันดาลจากอำนาจภายนอกพร้อมที่จะต่อสู้ผจญอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยสติปัญญาความเพียรของตน
เวลาแห่งชีวิตจะถูกใช้ไปเพื่อกุศลกรรมอันนำผลเป็นความสุขความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตน แทนที่จะมัวอ้อนวอนบวงสรวง สะเดาเคราะห์ ผูกดวง วิ่งหาเจ้าพ่อเจ้าแม่ ขอหวยกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันคนบางพวกเป็นอย่างไรบ้าง? คนบางพวกกลายเป็นทาสที่ปล่อยแล้วไม่ยอมไปเมื่อก่อนเคยปล่อยให้วิถีชีวิตของตนขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของ ธรรมชาติ ผีสาง เทวดา เทพเจ้า พรหมลิขิต พระเป็นเจ้า ปัจจุบันพวกเหล่านั้นมากลายเป็นดวง เป็นพระเจ้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของตนถือว่าเป็นเรื่องของดวงกันหมด อาชีพหมอดู การสร้างเครื่องรางของขลังกลับเป็นอาชีพที่สร้างความร่ำรวยให้แก่คนที่อยู่ในอาชีพนี้อย่างมาก นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น

อุตส่าห์เรียนและทำงานมาด้วยความเหนื่อยยาก แต่กลับต้องให้หมอดูช่วยตรวจดูว่าตนจะสอบไล่ได้ไหม ? จะได้เลื่อนตำแหน่งไหม จะได้เลื่อนสมณศักดิ์ไหม ? เป็นต้น

การกระทำอันขาดความรับผิดชอบออกมาในรูปของอาชญากรรมต่างๆได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคม จนกลายเป็นความชาชินกันไปเสียแล้วหากคนเหล่านี้ยอมรับเชื่อในกฏแห่งกรรมแล้วเรื่องเลวร้ายต่างๆในสังคมจะเกิดขึ้นหรือ ?

ในตอนสุดท้ายของปัญหาที่อ้างเป็นทำนองว่าผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเป็นของพระเจ้านั้นไม่มีความเห็น เพราะจะกระทบกระเทือนต่อศาสนาอื่น เรื่องเหล่านี้ขอเพียงคนได้ใช้ปัญญาตรวจสอบชีวิตของตนที่ผ่านมาทั้งในด้านดีและไม่ดี จะเห็นด้วยตนเองว่าผลเหล่านั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องที่นำไปสู่การถกเถียงที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างที่เคยถกเถียงกันมานานแสนนานแล้ว

ปฎิบัติดีไปเพื่ออะไร

ปุจฉา: พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตาหาสาระมิได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วจะหลงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปทำไมเพราะอะไรๆก็ไม่มีสาระเสียแล้ว?

วิสัจฉนา: ฟังดูเผินๆก็น่าจะเป็นอย่างนั้น หากจะตอบสั้นๆก็อาจตอบได้ว่าที่คนต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น เพื่อต้องการให้เข้าถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลายจนสามารถถ่ายถอน

ตัณหา คืออาการของจิตที่ทะเยอทะยาน อยากในสิ่งทั้งหลาย และอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งหลายออกไป เปรียบเหมือนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในด้านกายภาพและชีวภาพในการวิเคราะห์นั้นจะวิเคราะห์จนเข้าถึงกฏแห่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จนเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตก็ตามไม่มีแก่นสารตัวตนอะไรประกอบขึ้นและรวมตัวกันอยู่ด้วยปรมาณูแห่งธาตุทั้งหลาย ในที่สุดจะเข้าถึงการแยกตัวตนออกเป็นพลังงานอันไม่มีตัวตน กลายเป็นพลังในทางทำลายอันมหาศาล เช่นระเบิดปรมาณู อันเกิดขึ้นจากการแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงาน

แต่การให้เห็นความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลายนั้น ไม่เกิดผลในการทำลายล้างคน สัตว์ แต่กลายเป็นพลังในการทำลายกิเลส หรืออวิชชา ด้วยพลังแห่งวิชชาอันจะบังเกิดขึ้นได้ด้วยการละความชั่ว บำเพ็ญความดี หรือการลดปริมาณแห่งอวิชชา ความไม่รู้ เสริมสร้างวิชชา ความรู้ จนอวิชชาหมดไปเพราะความปรากฏอย่างเต็มที่ของวิชชา ได้ชื่อว่าเขาถึงเป้าหมายองค์พระพุทธศาสนา เมื่อถึงระดับนี้แล้วกิจด้วยการละชั่ว
ประพฤติดีหมดไปเพราะท่านละได้ทั้งบุญและบาปหมดสิ้นแล้วหากจะตอบเพียงนี้ก็ได้

แต่เห็นควรทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาซึ่งควรทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้คือ อนัตตา คืออะไร? ส่วนมากเรามักจะพูดกันว่า อนัตตา ได้แก่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนฟังแล้วทำให้หลงทางได้ง่าย

คำว่าอนัตตาท่านจึงแสดงว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" โดยแสดงลักษณะที่เรียกว่าอนัตตาไว้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาของใคร สิ่งทั้งหลายตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่ง คน ทั้งหลายอย่างแท้จริง เมื่อแยกย่อยออกไปแล้วกลายเป็นของสูญคือว่างเปล่าจากตัวตน

ด้วยความหมายที่ท่านนิยามออกมานั้นเป็นการประกาศให้ทราบความจริงของคน สัตว์ สิ่งของทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมว่ามีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเมื่อคนปรับจิตของตนให้เข้าถึงและยอมรับได้ตามสมควรแก่กรณี แล้วย่อมทำให้ความยึดติดในลักษณะต่างๆอ่อนตัวลงไม่ต้องทุกข์โศกเป็นต้น ในเมื่อประสบกับเรื่องที่ชวนให้ทุกข์ให้โศกเป็นต้น

ในขณะเดียวกันเพื่อบรรลุถึงความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นอนัตตานั้น ท่านให้ยึดเอาสาระแห่ธรรมทั้งหลายเหล่านี้คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะและปรมัตถสาระ"

ธรรมเหล่านี้ทรงแสดงว่าเป็นสาระแห่งธรรมทั้งหลาย ซึ่งเน้นหนักไปในข้อปฎิบัติที่จะนำคนเข้าไปสู่พระนิพพานคือสภาพจิตที่ถึงความสมบูรณ์แห่งสุข อันเกิดจากความสงบจากสรรพกิเลส หลักกุศลธรรมในพระพุทธศาสนานั้นเมื่อเราแบ่งออกเป็นระดับจะได้สองระดับ คือ

  1. วัฎฎคามีกุศล คือกุศลความดีที่บุคคลจะต้องยอมรับว่ามีอยู่เป็นอยู่แห่งสิ่งทั้งหลายตามโลกบัญญติ เช่น นับถือพ่อแม่ ครูอาจารย์ ให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาเป็นต้น แต่ไม่ควรจะยึดติดในสิ่งต่างๆในลักษณะตายตัว เช่นตนมีหน้าที่ ตำแหน่งงานอะไรอยู่ ก็ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่หน้าที่ตำแหน่งงานนั้นๆให้ถูกต้องสมบูรณ์ แต่ไม่ควรยึดติดว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ จนมีการยกตนเสมอท่านหรือยกตนข่มคนอื่นเป็นต้นหรือยึดถือว่าตนเท่านั้นจะต้องเป็นเช่นนี้คนอื่นเป็นไม่ได้ ในระดับนี้พระพุทธศาสนายอมรับความจริงตามที่สมมติเรียกร้องกันแต่ไม่ยึดถือเป็นตัวเป็นตนจนเกิดความเดือดร้อน
  2. วิวัฏฏคามีกุศล คือเรื่องที่เป็นความจริงอย่างแท้จริงไม่เกาะเกี่ยวด้วยสมมติบัญญติแต่เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ แต่ควรเข้าใจว่าหลักธรรมแม้ในส่วนที่เป็นวิวัฏฏคามีกุศลคนธรรมดาก็อาจสัมผัสได้ในระดับหนึ่ง เช่นการฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้น เป็นการระงับกิเลสไว้ได้ชั่วคราวอันท่านเรียกว่า ตทังควิมุตติ คือจิตหลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ หรือความเข้าถึงอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย หากคนปรับจิตให้เหมาะสมแล้วสามารถได้รับประโยชน์อย่างมากในขั้นที่เป็นวัฏฏคามีกุศล

คำสอนของศาสนาพุทธขัดแย้งกันเองหรือไม่

ปุจฉา: พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดถือสิ่งทั้งปวงถ้าเรานับถือศาสนาเช่นศาสนาพุทธ อย่างนี้จะมิเป็นการขัดแย้งกับคำสอนดังกล่าวหรือ?

วิสัจฉนา: ไม่เห็นขัดแย้งอะไรกันนี่อันที่จริงการนับถือพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอะไรก็ตามเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของบุคคล เพราะคนเราไม่มีใครที่จะรู้อะไรไปทุกอย่างโดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนได้ การนับถือพระพุทธศาสนาก็เพื่อศึกษาให้รู้และปฎิบัติให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ทางศาสนาได้จำแนกแสดงไว้

การยึดหลักของพระศาสนาจึงเป็นเหมือนนักเรียนผู้เริ่มฝึกเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ จำเป็นต้องอาศัยไม้บรรทัดการสะกดอักษรกันไปตามหลักเกณฑ์ที่ท่านแสดงไว้แต่เมื่อเกิดความชำนิชำนาญดีแล้วความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นก็หมดไปคือ การเขียน การอ่าน การทำความเข้าใจก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ

การปฏิบัติธรรมอันเกิดขึ้นจากการศึกษาสดับฟังทางพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกันในขั้นแรกจำเป็นจะต้องยึดหลักตามที่ท่านสอนไว้ เมื่อถึงจุดหนึ่งท่านจะถ่ายถอนความยึดติดในรูปแบบต่างๆได้ จิตของท่านจะมีปฏิกิริยาต่ออารมณ์หรือสิ่งเร้าทั้งหลายเองโดยอัตโนมัติ

การสอนสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นเรื่องของสัจธรรมอันบุคคลจะเข้าถึงได้ไม่ง่ายนักเพราะคนจะมีความรู้สึกว่า "นั้นเป็นของเราเช่นตัวเรา ญาติเรา น้องเรา ทรัพย์สมบัติของเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นเราเป็นนายทหาร เป็นข้าราชการเป็นต้น หรืออาจยึดถือว่านั่นเป็นตัวเป็นตน จนเกิดการแบ่งแยก เป็นเราเป็นเขา เป็นพวกเป็นหมู่กัน"

เรื่องการยึดถือในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ถ่ายถอนได้ยากมาก เครื่องมือที่จะนำไปสู่การถ่ายถอนความยึดถือในลักษณะที่หลงผิดดังกล่าวได้อย่างแท้จริง ก็ต้องอาศัยหลักศาสนาที่ตนได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติตามเท่านั้น
ดังนั้นการนับถือพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุให้คนเข้าถึงความจริงโดยการถ่ายถอน อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ความปล่อยวางจึงเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งสองจึงเป็นเหตุเป็นผลกัน เป็นปัจจัยของกันและกัน ซึ่งทุกคนจะต้องเข้าถึงให้ได้ทั้งสองระดับจึงจะได้ประโยชน์จากพระศาสนาอย่างแท้จริง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าธรรมที่ทรงแสดงนั้นเปรียบเหมือน แพ ทุ่น หรือยานพาหนะที่คนต้องอาศัยข้ามฟาก แน่นอนว่าตราบใดที่คนเหล่านั้นยังเดินทางจากฟากหนึ่งไปสู่ฟากหนึ่งนั้น เขาต้องมียานพาหนะสำหรับอาศัยและต้องยึดถือพาหนะเหล่านั้นเป็นที่พึ่งแต่เมื่อเขาถึงฝังแล้วเขาต้องละพาหนะเหล่านั้นเพื่อขึ้นฝั่งซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้นเขาจะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือจะขึ้นฝั่งหรือว่าจะอยู่ในพาหนะที่อาศัย
มาแต่จะขึ้นฝั่งพร้อมด้วยแบกเรือไปด้วยไม่ได้ เพราะเหตุนี้พระอริยบุคคลทั้งหลายท่านจึงมีศีลมีธรรม แต่ท่านไม่ยึดถือในสิ่งเหล่านั้นเช่นศีลของท่าน ก็ไม่ต้องระมัดระวังสำรวมระวังอะไรอย่างที่คนทั่วไปเขาทำกัน
เพราะศีลของท่านมีสมบูรณ์จนไม่ต้องสำรวมระวังอย่างคนที่ศีลยังไม่สมบูรณ์ต้องคอยสำรวมระวังสมาทานแสดงอาบัติกันอยู่ ศีลของพระอริยบุคคลจึงมีลักษณะที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

อันที่จริงเรื่องการเข้าถึงความจริงสองระดับนี้ ระดับการปล่อยวางความยึดถือเป็นปหาตัพพธรรมคือธรรมที่ต้องละ แต่การนับถือพระพุทธศาสนาเป็นภาเวตัพพธรรมคือ ธรรมที่ต้องสร้างให้มีให้เป็นขึ้นในชีวิตจิตใจของตน หากคนเข้าถึงธรรมสองฝ่ายนี้ตามสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงปัญหาเรื่องยึดถืออะไรไม่ยึดถืออะไรก็จะหมดไป

การรู้ธรรมสองฝ่ายนี้จัดเป็นความรู้อริยสัจ ๔ อย่างไร? การเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนในระดับต่างๆอันเกิดชึ้นจากความยึดถือในสิ่งทั้งหลายแล้ว

กำหนดรู้ไว้ว่า นี่ทุกข์ จัดเป็นทุกขสัจ การกำหนดเห็นความเป็นโทษอันเกิดจากความยึดถือในขันธ์ ๕ ประการด้วยอำนาจตัณหาว่าของเรา ด้วยอำนาจมานะว่า เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ละเสีย จัดเป็นทุกข์สมุทัยอริยสัจ

การกำหนดให้รู้จักว่าผลเกิดขึ้นจากการนับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความสงบเย็น
เป็นความหมดไปสิ้นไปแห่งความยึดมั่นถือด้วยประการนั้นๆ จนถึงเป็นบรมสุข
ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้งจัดเป็นทุกข์นิโรธอริยสัจ


การกำหนดรู้ว่าผลที่ตนจำนงหวังจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักของพระพุทธ
ศาสนาจัดเป็นทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ


เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วจะพบว่าท่านสอนให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา แทนที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยโมหะความหลง เพราะชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด ด้วยเหตุนี้ข้อความในปัญหานี้จึงไม่มีลักษณะขัดแย้งกันตามที่ถามมา

พึ่งตนเองดีกว่าหรือพึ่งพระเจ้าดีกว่า

ปุจฉา: พระพุทธศาสนาสอนให้พึ่งตนเองช่วยตนเองสู้พึ่งพระเจ้าไม่ได้พึ่งตนเองดีกว่าหรือพึ่งพระเจ้าดีกว่า?

วิปัสนา: การเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไรนั้น ย่อมขึ้นกับความพอใจ ศรัทธาของคนๆนั้นเป็นสำคัญเหมือนเราถาม "ระหว่างปลาร้า กับ น้ำมูดูอะไรอร่อยกว่ากัน" ถามคนอีสานก็ต้องตอบว่า น้ำมูดูอร่อยสู้ปลาร้าไม่ได้คนทางสงขลา ปัตตานี ก็ต้องตอบว่า น้ำมูดูอร่อยกว่า พอมาถามคนภาคกลางเข้าเขาอาจจะตอบว่า "ผมว่าสองอย่างนั้น สู้น้ำพริกปลาทูไม่ได้นะ"

เรื่องการพึ่งสิ่งที่ตนเคารพเป็นสรณะก็เหมือนกัน ใครมีความศรัทธามีความฝังใจในศาสนาธรรมของศาสนาใด ก็ชอบที่จะยึดมั่นในศาสนาของตนและที่ไม่ควรลืม คือพระพุทธเจ้านั้นทรงอยู่ในฐานะผู้บอกทางแห่งความสุขอันควรเดินไป กับทางแห่งความทุกข์อันควรละเว้นให้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่ตนจำนงหวังเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่มีการดลบันดาลในพระศาสนานี้จะรักษาคุ้ม
ครองเป็นที่พึ่งของคนได้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่า "พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเหมือนร่มใหญ่ป้องกันคนผู้กั้นร่มไม่ให้เปียกฝนในเวลาฝนตกฉะนั้น"

แม้ว่าจะมีร่มอยู่ในมือหากไม่กั้นร่มไว้เหนือศีรษะเวลาเปียกฝนจะไปตำหนิร่มไม่ได้ฉันใดพระธรรมในพระศาสนานี้จะรักษาได้เฉพาะผู้ประพฤติธรรมฉันนั้น แม้พระเจ้าเองก็เถอะอย่างที่เคยกล่าวมาในข้อก่อนว่า
"จงช่วยตัวของเจ้าก่อนแล้ว พระเจ้าจึงจะช่วยเจ้า" ถ้าพระเจ้าสามารถช่วยแม้คนที่ไม่พร้อมจะช่วยตนเองได้แล้ว ลูกของพระเจ้าสองพระองค์คงไม่ทำสงครามล้างผลาญกันอยู่ในเลบานอนในปัจจุบันนี้หรอก

ข้อนี้หาได้เป็นความบกพร่องของพระเจ้าไม่แต่เพราะลูกหลานเหล่านั้นไม่ยอมช่วยตนเองก่อนเลยแล้วจะโทษใครกันเล่า ?

ศาสนาไหนดี่สุด

ปุจฉา: ศาสนาของพระเจ้าย่อมดีกว่าศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาของคน

วิสัจฉนา: เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศรัทธาของคนแต่ละศาสนา ซึ่งนักศาสนาที่ดีไม่ควรก้าวก่ายวิจารณ์ นอกจากการเปรียบเทียบตามหลักของศาสนาเปรียบเทียบ แต่ไม่ควรจะทำในเชิงยกตนข่มท่านให้เสียคุณลักษณะของศาสนิกที่ดีในศาสนานั้นๆ ในทัศนะของชาวพุทธนั้นย่อมมีความภาคภูมิใจในการที่ศาสดาของตนเป็นคนๆหนึ่งที่ใช้ความเพียรพยายามแบบคนประสบความสำเร็จแบบคน

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาโดยมนุษย์ ของมนุษย์ เพื่อมนุษย์ จากความรู้สึกนี้นำไปสู่ความเข้าใจว่าคนเราด้วยกันย่อมเข้าใจกันและกันดี คำว่าศาสนาอาจหมายถึงการปกครองด้วยก็ได้ ดังนั้นศาสนาที่ตรัสรู้และสั่งสอนโดยคนนั้นจึงเป็นเหมือนกับ "ประเทศไทยที่มีคนไทยเป็นประมุข มีคนไทยทำการบริหาร มีคนไทยเป็นข้าราชการ มีคนไทยอยู่ภายใต้การปกครองย่อมจะดีกว่ามีคนต่างชาติมาเป็นประมุข มีคนต่างชาติมาบริหาร แต่มีคนไทยเป็นผู้ถูกปกครอง"

หากใครจะชอบอย่างหลังก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆแต่คนไทยทั่วไปคงไม่ยินดีด้วยกับการปกครองแบบนั้น คนที่นับถือพระพุทธศาสนามีความรู้สึกอย่างนี้จึงไม่รู้สึกว่าตนมีปมด้อยที่ควรน้อยใจแต่ทั้งศาสนา ศาสดา สถาบันต่างๆทางศาสนาล้วนแต่ก่อให้เกิดความภาคภูมิแก่คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาในความเป็นคนธรรมดาๆนี้เอง

เรื่องความรักระหว่างศาสนาคริสต์กับพุทธ

ปุจฉา: ศาสนาคริสต์สอนให้รักคนอื่นเหมือนกับรักตนเองแต่ศาสนาพุทธสอนให้อยู่คนเดียวเป็นการเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดใช่ไหม?

วิสัจฉนา: คนโบราณนั้นท่านมีความคิดเห็นคมคายมาก เมื่อท่านเห็นว่าใครพูดอะไรโดยขาดเหตุผล ความเป็นจริงท่านจะตำหนิว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด" เรื่องปัญหาข้างต้นนั้นเป็นการพูดแบบมองไม่ตลอดสายทั้งฝ่ายศาสนาคริสต์และพระพุทธศาสนา เพราะคำสอนระดับศาสนานั้นจะต้องมองให้ตลอดสายว่าอะไรเป็นอะไรและเป็นคำสอนในระดับใด จึงจะไม่เกิดความสับสนในการทำความเข้าใจสำหรับการสร้างความรู้สึกต่อคนอื่นนั้น

พระพุทธศาสนาไม่สอนเพียงแต่ให้สร้างความรู้สึกอันดีต่อคนเท่านั้น แต่ก้าวไกลไปถึงสรรพสัตว์โดยใช้คำว่า สพเพ สตตา แปลว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงแต่ท่านไม่ใช้คำว่าให้สร้างความรัก เพราะความรักนั้นในความหมายของพระพุทธ
ศาสนาท่านใช้คำว่า เปมะ แปลว่า ความรัก มีลักษณะที่ไม่ควรสร้างให้มากนัก เพราะว่า
"ความรักมีลักษณะต้องการได้รับการตอบสนองคือให้คนอื่นรักตนตอบถ้าเขาไม่รักตอบ ก็กลายเป็นโทสะคือความโกรธ ประทุษร้าย ในลักษณะที่เรียกกันว่า รักมากแค้นมาก หากคนหรือสิ่งที่รักพลัดพรากจากไปจิตจะกลายเป็นความเศร้าโศกแต่ในกรณีที่รักมากไปจิตก็จะกลายเป็นอคติคือมีความลำเอียงเพราะเหตุว่ารักใคร่กัน"

พระพุทธศาสนาสอนให้คนมี
  1. เมตตา คือความปรารถนาดีต่อกันต้องการที่จะเห็นคนและสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่าง ไม่มีเวรมีภัยไม่เบียดเบียนกัน มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะของตน
  2. กรุณา คือเหมือนเห็นคนอื่นเศร้าโศกประสบความผิดหวังเป็นต้น ก็ช่วยเหลือเขาตาม
    กำลังที่จะช่วยได้
  3. มุทิตา ในกรณีที่เห็นคนอื่นเขาได้รับความสุขความเจริญให้แสดงความยินดีต่อเขาแทนที่จะไปริษยาเขาในกรณีที่คนสัตว์ที่เราควรจะแสดงเมตตา กรุณา มุทิตา นั้นต้องประสบความพิบัติไม่อยู่ในวิสัยที่จะใช้ธรรมะอีก๓ ข้อนั้นได้ ท่านสอนให้ทำใจเป็น
  4. อุเบกขา คืออย่าไปแสดงความยินดีหรือยินร้ายในความพิบัติอันนั้นของเขาด้วยการทำความรู้สึกว่า
    "คนเรามีกรรมเป็นของๆตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมอันใด ไว้ดีหรือชั่วก็ตามเขาจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

การทำความรู้สึกได้เช่นนี้ จะช่วยให้คนไม่ต้องไปว้าวุ่นในสิ่งที่ตนไม่อาจทำอะไรได้ ทั้งเป็นการป้องกันจิตตนไว้ไม่ให้ตกไปเป็นอคติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ประการ คือ

  1. ลำเอียงเพราะรักใคร่กันเป็นการส่วนตัว เรียก ฉันทาคติ
  2. ลำเอียงเพราะไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว เรียก โทสาคติ
  3. ลำเอียงเพราะความกลัวเป็นเหตุ เรียก ภยาคติ
  4. ลำเอียงเพราะความเขลา เรียก โมหาคติ

สำหรับในกรณีที่สอนให้อยู่คนเดียวนั้นใช้ในกรณีที่ต้องการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานทางจิตให้อยู่ในสภาพพร้อมจะใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์แก่บุคคลจนถึงทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเสลในที่สุดเท่านั้น

เมื่อปรับจิตได้แล้วหรือแม้เมื่อสละกิเสลจนจบสิ้นหน้าที่ส่วนตนแล้ว เวลาแห่งชีวิตต่อจากนั้นได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่สรรพสัตว์เป็นหลักเป็นธรรมดาประการหนึ่ง คือจะเป็นใครก็ตามหากต้องการทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม เขาจะต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งแห่งชีวิตเพื่อสร้างคุณสมบัติอันเหมาะสมสำหรับทำงานเพื่อสังคมในช่วงนั้น คนที่สติสัมปชัญญะมีเหตุผลมากพอจะไม่ว่าเขาเห็นแก่ตัวหรือเอาตัวรอดแน่

พระพุทธศาสนาสอนแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริงหรือ

ปุจฉา: พระพุทธศาสนาสอนแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่?

วิสัจฉนา:ได้แน่นอนโดยไม่มีข้อสงสัย คนได้รับผลจากการแก้ปัญหาและระงับความทุกข์ด้วยอาศัยหลักธรรมของพระพุทธศาสนามามากต่อมากทั้งในอดีตและปัจจุบันคนเขาไม่สงสัยกันแล้วในเรื่องนี้ แต่เมื่อสงสัยมาก็ขอชี้แจงว่าพระพุทธศาสนารับรองว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้จริง แต่มีข้อแม้ว่า "บุคคลนั้นจะต้องดำเนินตามหลักการและวิธีการทางพระพุทธศาสนานะ"

หลักการนั้นท่านได้กำหนดเป็นเรื่องๆไป เช่นถ้าต้องการจะแก้ความเสื่อมในชีวิตก็ต้องเว้นจากการกระทำอันเป็นทางแห่งความเสื่อมเสีย คือ อบายมุข อันได้แก่ ความเป็นนักเลงหญิง นักเลงการพนัน นักเลงดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน คบคนไม่ดีเป็นมิตร และเกียจคร้านทำการงานเป็นต้น

หากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต การงาน ก็ต้องดำเนินไปตามหลักการที่จะนำคนไปสู่ความสำเร็จในชีวิตการงานก็ต้องดำเนินไปตามหลักการที่จะนำคนไปสู่ความสำเร็จ ๔ ประการ คือ

  1. ฉันทะ ปลูกฝังความพอใจไม่ให้เสื่อมคลายในการงานนั้นๆ
  2. วิริยะ มีความเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นโดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค
  3. จิตตะ เอาใจใส่สนใจในเรื่องนั้นๆไม่วางธุระ
  4. วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลตรวจสอบในเรื่องนั้นๆ
สำหรับวิธีการนั้น ท่านกำหนดขั้นตอนที่คนควรจะทำความเข้าใจในปัญหาความทุกข์เป็นต้น ให้ทราบตามความเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติให้เหมาะสมแก่กรณีนั้น ขั้นตอนนั้นหมายเอาการวิเคราะห์ในเรื่อง นั้นตามลำดับดังนี้

  1. อะไร? คือให้ทราบปัญหาหรือความทุกข์เป็นต้นว่าเป็นอะไรแน่
  2. มาจากไหน? คือการศึกษาให้ทราบถึงสาเหตุอันเป็นมูลฐานและปัจจัยร่วมแห่งปัญหาความทุกข์เหล่านั้นให้ทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุแท้จริง และปัจจัยร่วมซึ่งจำเป็นจะต้องขจัดให้หมดไป
  3. เพื่ออะไร? เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ตนมุ่งหวังอันเป็นความสุข ความเจริญ ซึ่งเกิดจากการทำลายสาเหตุแห่งปัญหาและความทุกข์เป็นต้น
  4. โดยวิธีอย่างไร? ได้แก่การนำเอาหลักการแก้ปัญหาแก้ความทุกข์ในเรื่องนั้นๆตามที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้มาใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ได้โปรดเข้าใจว่าพระพุทธศาสนานั้นเปรียบเหมือนโอสถพิเศษที่สามารถบำบัดโรคได้ตามสมควรแก่โลกที่เกิดขึ้น แต่การรักษาโลกคนจำเป็นต้องทราบอาการ สมุฏฐาน เป้าหมายและกรรมวิธีในการรักษาและยาที่จำเป็นต้องใช้โดยถูกต้องไม่ผิดพลาดก็สามารถแก้โรคนั้นๆได้ฉันใด หลักธรรม พระพุทธศาสนา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันฉันนั้น

ดังนั้นท่านจึงแสดงว่าพระธรรมเป็นโอปนยิโกคือเป็นข้อที่คนจะต้องน้อมเข้ามาหาตนหรือน้อมตนเข้าไปหาจึงจะได้รับผลจากพระธรรมในระดับต่างๆตามสมควรแก่การปฎิบัติ.

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2552

พระพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์จริงหรือ

วิปัชนา:2
พระพุทธศาสนากล่าวถึงกฎของการดึงดูดว่าน้ำตกจากที่สูงย่อมไหลลงสู่ที่ลาดลุ่มฉันใดจิตใจที่ถูกกระแสแห่งกิเลสดึงดูดไว้เรียกว่า โลกิยจิต แต่จิตนั้นอาจทำให้พ้นจากกระแสการดึงดูดได้ ด้วยความเพียรพยายามจนเป็นโลกุตรจิต เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ที่ลาดลุ่มตามปกติ แต่อาจใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ทดน้ำขึ้นสู่ที่สูงจนถูกความร้อนแผดเผากลายเป็นไอได้ ยิ่งในด้านจิตวิทยาอันเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งด้วยแล้ว เขากล่าวว่าให้ยกไลเมนขึ้นสูงกว่าสิ่งเร้า ซึ่งหมายถึงการยกจิตให้สูงกว่าอำนาจฝ่ายต่ำนั้นเองนี่เป็นเสี้ยวหนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป

คำสอนเรื่องทางสายกลางของพระพุทธศาสนาก็มีหลักการอันเดียวกับวิทยาศาสตร์ให้สังเกตว่าเครื่องวัดอุณหภูมิก็ดี วัดความเร็ว ความชื้น ความดัน กระเเสไฟฟ้าเป็นต้นก็ดี เพื่อต้องการรักษาจุดกลางเอาไว้นั้นเอง ไม่อย่างนั้นก็ระเบิดหรือเป็นอันตรายได้ แม้เรื่องความเกิดขึ้นของโลกพระพุทธศาสนา ถือว่าเกิดจากเหตุปัจจัยคล้ายๆกับทฤษฎีหมอกเพลิงทางวิทยาศาสตร์ วิชาจักรวาลวิทยาปัจจุบันได้ค้นพบระบบสุริยจักรวาลเป็นอันมากจนถึงกับได้พบระบบหนึ่งเรียกว่า "คัทเตอร์ในเจมินี" มีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลางถึง ๖ ดวง มีจักรวาลดารกาเป็นบริวารขึ้นต้นด้วยเลข ๒๓ ตามด้วยศูนย์ ๒๗ ตัว

พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้อย่างไรรู้ไหม?
พระพุทธศาสนาบอกว่าจักรวาลนั้นมีมากจนใช้คำว่าอนันตจักรวาลหรือแสนโกฏิจักรวาลบางจักรวาลมีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ๑-๒-๓-๔-๕-๖-ถึง๗ดวงยังล้ำหน้าวิทยาศาสตร์ไปอีกระบบหนึ่งซึ่งวิทยาศาสตร์ยังค้นไม่พบ ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากแต่ที่ไม่ควรลืมคือพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ตรงกันในด้านหลักการวิธีการบางอย่างเท่านั้นไม่ใช่เหมือนกันทุกอย่าง เพราะฝ่ายหนึ่งเน้นหนักด้านนามธรรมฝ่ายหนึ่งเน้นหนักด้านรูปธรรมอีกประการหนึ่ง "ผลิตผลที่เกิดขึ้นตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีส่วนที่ผิดกันอยู่บ้าง คือ ของวิทยาศาสตร์นั้นมีคุณอนันต์แต่มีโทษมหันต์ ส่วนผลิตผลที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนามีคุณอนันต์อย่างเดียวไม่มีโทษ"นี่ว่าถึงผลิตผลที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนานะ หากผิดจากกรรมวิธีทางพระพุทธศาสนาไม่รับรอง

พระพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์จริงหรือ

ปุจฉา
ที่ว่าพระพุทธศาสนาเข้ากับวิทยาศาสตร์นั้นมีเหตุผลอย่างไร?

วิปัชนา
ที่ว่ากันนั้นอันที่จริงเป็นความเห็นของนักปราชญ์ทางตะวันตกแต่มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หมายเพียงแต่ว่า"พระพุทธศาสนามีหลักการและวิธีการเป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์" ข้อนี้นักปราชญ์ทางตะวันตกที่ศึกษาแตกฉานดีทั้งพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ได้มีความเห็นร่วมกันว่า "วิทยาศาสตร์ทางโลกเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุส่วนพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ" การวิธีการทางพระพุทธศาสนาที่ตรงกับวิทยาศาสตร์ เช่น พระพุทธศาสนาอธิบายหลักทั่วไปแห่งจิตใจในฐานะเป็นมูลฐานแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาโลกทางวัตถุมูลฐานแห่งวิทยาศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับจิตใจ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา กับ สิ่งที่สะท้อนไปจากเนื้อหา ในเรื่องนี้ผู้ศึกษาสิ่งหนึ่งโดยการเปรียบเทียบหรืออนุมาน คือการคาดคะเนจากเหตุผลย่อมได้รับความรู้ถึงอีกสิ่งหนึ่งหรือหลายสิ่งด้วย การวิเคราะห์ปรากฎการณ์ในแนวทางอันเป็นพื้นฐานของตนพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ตรงกันในข้อที่ว่า"ความรู้ต้องได้มาด้วยการวิเคราะห์ ทดลอง หาเหตุผลอย่างมีหลักการและวิธีการที่ถูกต้องและกรรมวิธีที่เหมาะสมแก่การหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ" การจะเชื่อถืออะไรจะต้องมีการพิสูจน์ทดสอบก่อนจึงจะเชื่อ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงายผลทุกอย่างที่ปรากฎนั้นจะต้องมาจากเหตุ พระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์มีวิธีการค้นจากผลสาวไปหาเหตุ บ้างค้นจากเหตุไปหาผลบ้างเช่นเดียวกัน

พระพุทธศาสนาสอนว่าสรรพสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ไม่เป็นแก่นสารตัวตนอะไรที่ควรยึดถือ วิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ไปถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน เห็นสิ่งทั้งหลายมีการเกิดดับต่อเนื่องกันซึ่งเมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้วสารวัตถุทั้งหลายคือการรวมตัวของปรมาณูอันมหาศาล ในที่สุดก็เป็นเพียงพลังงานหามีตัวตนอะไรไม่ แม้การทำระเบิดปรมาณูก็เป็นการแยกปรมาณูเพื่อให้เกิดพลังงานนั่นเอง

ตรงนี้ผิดกันที่ไหนรู้ไหม?
ผิดกันตรงที่วิทยาศาสตร์แยกปรมาณูเพื่อให้เกิดเป็นพลังงานพลังงานเหล่านั้นกลายเป็นลูกระเบิดมหาประลัย แต่พระพุทธศาสนาแยกออกเป็นอนัตตาเสร็จแล้วไม่มีกิเลสเป็นเหตุยึดถือว่าของเราว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา จิตท่านที่แยกได้เช่นนี้จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกอย่างเดียวเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย"ปรมาณูในพระพุทธศาสนาจึงเป็นปรมาณูเพื่อสันติอย่างแท้จริง"

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

การดื่มสุราเพือสังคมเป็นบาปมัย

วิสัชนา:2
เพราะว่าถ้าคนจะยึดถือสังคมเป็นประมาณแล้วหากเป็นสังคมของคนดีก็ดีไปหากสังคมของคนพาลเล่าจะทำอย่างไรกัน? คนเราจะต้องอ้างว่าตนต้องคอรัปชั่นเพราะหากไม่ทำเช่นนั้นก็อยู่ร่วมกับพวกคอรัปชั่นไม่ได้ ต้องขโมยต้องเล่นการพนันต้องหมกมุ่นในอบายมุขเป็นต้นเพื่อต้องการสถานะคือ การยอมรับของสังคมอยู่ตลอดไป ทำให้เป็นคนขาดหลักการดำรงชีวิตกลายเป็นท่อนไม้ลอยน้ำจนกว่าจะเน่าเปื่อยผุพังไปอย่างนี้จะไหวหรือ

การดื่มเหล้าเพื่อให้ตนสามารถเข้าสังคมได้สังคมอะไรก็คือสังคมคอสุราก็มีลักษณะอย่างนั้น ย่อมไม่พ้นการประพฤติผิดศีลไปได้ผู้มีปัญญาจะต้องเลือกเอาระหว่าง
"ฐานะของผู้มีศีลกับไร้ศีล" จะเลือกเอาสองอย่างในขณะเดียวกันไม่ได้แม้จะดื่มแล้วนอนหลับไปก็ย่อมได้รับโทษจากสุราที่ดื่มเช่น "เสียทรัพย์ ทอนกำลัปัญญา ขาดความละอาย ไม่รักครอบครัว" เป็นต้น หากจะทำอะไรผิดเพราะความเมาสุราเป็นเหตุความผิดก็เพิ่มขึ้นตามสมควรแก่เหตุ คนจึงไม่ควรสร้างความเคยชินในการกระทำบาปและไม่ควรดูหมิ่นว่าเป็นเรื่องเล็กเพราะทุกอย่างเริ่มจากน้อยไปหามากทั้งนั้น.

การดื่มสุราเพือสังคมเป็นบาปมัย

ปุจฉา
การดื่มสุราก็เช่นเดียวกันบางครั้งก็จำเป็นต้องดื่มเพื่อสังคมถ้าเราไม่ดื่มก็เข้ากับเขาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดื่มเมานอนเสียจะบาปหรือไม่?

วิสัชนา
ตามหลักความเป็นจริงแล้วการกล่าวอ้างบุคคลสังคมว่าที่ตนต้องกระทำไปเช่นนั้น เพราะสังคมเพราะคนนั้นคนนี้เป็นต้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวแก่ธนัญชานิพราหมณ์ผู้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่แต่ฉ้อหลวงบังราษฎร์ แล้วอ้างว่าตนทำเพื่อพ่อแม่ บุตรภรรยา เป็นต้นความว่าคนที่ทำความผิดแล้วอ้างว่าทำเพื่อใครก็ตามเวลาตายไปจะบอกนายนิรยบาลเขาได้ไหมว่าที่ตนทำผิดไปเพราะต้องทำเพื่อคนอื่นขออย่าได้ถือเป็นความผิดเลยหรือคนที่เราอ้างว่าเราทำความผิดไปเพื่อพวกเขาจะไปขอร้องต่อยมบาลว่าขออย่าได้ลงโทษเขาเลย คนๆนี้ต้องทำความผิดเพื่อพวกตนซึ่งปรากฏว่าไม่มีข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดไม่ว่าจะเพื่อ
ใครโดยใครก็ตาม "นี่คือหลักสากลแม้ในด้านกฎหมายก็มีลักษณะเดียวกัน"

ในกรณีของการกล่าวว่าตนจำเป็นต้องดื่มสุราเพื่อสังคมซึ่งมีคนกล่าวอ้างกันเป็นอันมากนั้นมีหลักในการพิจารณาเช่นเดียวกับที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ แต่ในกรณีของการดำรงชีวิตแบบชาวบ้านนั้นเราจำเป็นต้องมองปัญหาตามที่มีอยู่เป็นอยู่ในสังคมว่าข้อเท็จจริงในสังคมเป็นอย่างไร? การดำรงชีวิตของคนในโลกนั้นเมื่อจำแนกออกจะได้เป็นกลุ่มๆจะได้ ๓ กลุ่มใหญ่ๆคือ
๑.ถือเอาความคิดเห็นของตนเป็นประมาณในการตัดสินปัญหาการแก้ปัญหาการทำงาน เป็นต้นซึ่งออกจะเป็นการเสี่ยงมากอยู่
๒.ถือเอาความคิดเห็นของสังคมคือคล้อยตามความเคลื่อนไหวของสังคม ค่านิยมของสังคม ปัญหาในเรื่องนี้ตัวกำหนดความถูกผิดจึงอยู่ที่สังคมว่า สังคมที่เราเคลื่อนไหวไปตามนั้นเป็นสังคมประเภทใด?
๓.ถือเหตุผลความถูกต้อง ตามหลักธรรม กฎหมาย จารีตประเพณี เป็นมาตรฐานในการดำรงชีวิตซึ่งเป็นเหมือนการขับรถไปตามกฎจราจร อันตรายไม่อาจเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่เขายังยึดมั่นในหลักการอันถูกต้องนั้นๆอยู่
หลักในการดำรงชีวิต ๓ ระดับนี้ สำหรับบัณฑิตแล้วแม้การถือความคิดเห็นของตนเองหรือสังคมเป็นหลักในบางกรณีก็ตาม แต่ความคิดเห็นของตนและสังคมนั้นจะต้องยุติด้วยเหตุผลและความถูกตรงนัยที่ ๓ ตลอดไป

การพูดปดบางครั้งก็ดีจริงหรือ?

ปุจฉา
การพูดปดบางครั้งก็จำเป็นเช่นในทางที่จะทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองหรือในกรณีอื่นใดที่เป็นประโยชน์ เมื่อพระพุทธศาสนาห้ามพูดปดจะมิขัดกันหรือ?

วิสัชนา
ก็ขัดกันนะซีแต่ที่สำคัญคือคนจะทำประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองต้องทำการพูดปดหรือ? แปลกดีเหมือนกันคนเราเริ่มมาถึงก็ขาดความจริงใจเสียแล้วคนอย่างนี้หรือจะมีหน้ามาพูดว่าทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง คนประเภทนี้กระมังที่หนังสือพิมพ์เรียกว่านักการเมืองน้ำเน่า? ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่เราจะทำประโยชน์ด้วยการพูดปดอย่างบางกรณี เช่น "เราบอกคนกลัวเข็มฉีดยาว่าให้ฉีดเถิดไม่เจ็บเท่าไรหรอกหรือบอกว่าเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ไม่เป็นการพูดปดอะไร อย่าไปบอกเขาว่าไม่รู้สึกเจ็บเลยก็แล้วกัน"เรื่องการพูดนั้นท่านให้ยึดหลักว่า "เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง เป็นธรรม มีประโยชน์ พูดถูกแก่กาล คนฟังอาจจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตามหากหลัก ๔ ประการไม่เสียก็ให้พูดได้"สมมติว่า เรื่องที่เป็นประโยชน์นั้นจำเป็นจะต้องโกหกจริงๆมีอยู่เช่น หลอกคนป่วยให้กินกล้วยใส่ยาขมไว้ข้างในเป็นต้นท่านไม่ถือว่าเป็นบาปมากมายอะไร เพราะการพูดปดที่เป็นอันตรายและมีโทษมากนั้น ท่านกำหนดเอาที่ผลอันเกิดขึ้นจากการพูดปดเป็นการทำลายประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นฯสำคัญ

แต่โดยทั่วไปแล้วการพูดปดโดยอ้างอย่างที่ถามมานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติซึ่งมีภาษาที่ใช้กันอีก ประเภทหนึ่งเรียกว่าสำนวนทางการทูตซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ภาษาก็ไม่อาจจัดว่าเป็นเรื่องโกหกตามความหมายของศีล เรื่องนี้พระอาจารย์ได้เล่าตัวอย่างแห่งการเลี่ยงไม่กล่าวคำเท็จว่าสมมติว่าพระ ก.เห็นคนร้ายวิ่งหนีตำรวจไปจึงขยับไปยืนเสียในที่แห่งหนึ่งเมื่อตำรวจถามว่าท่านยืนตรงนี้เห็นคนร้ายผ่านมาทางนี้ไหม? ตอบว่าอาตมายืนตรงนี้ไม่เห็นเพราะตอนที่ท่านเห็นนั้นท่านยืนอยู่อีกที่หนึ่งเรื่องนี้ไม่ควรถือเอาเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติมากนักเพราะตามหลักความเป็นจริง
แล้วคนเราย่อมมีอำนาจเหนือตนเองที่จะพูดหรือไม่พูดอะไรก็ได้ วิจารณญาณในการพูดจึงควรจะเป็นการตัดสินด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยตนเอง หากเกิดความจำเป็นจะต้องเลือกระหว่างการขาดศีลกับสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ หากจะมีก็ต้องตัดสินเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะเอาทีเดียวสองอย่างย่อมไม่อาจเป็นไปได้