วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระดื่มเครื่องดองของเมาผิดศีลไหม?

ปุจฉา: ที่ว่าถ้าดื่มเครื่องดองของเมาแล้วจะผิดศีล แต่มีพระองค์หนึ่งทำเช่นนี้ จะผิดศีลไหมคะ ถ้าไม่ผิด เครื่องดองของเมาหมายความว่าอย่างไร ?

วิสัจฉนา: เครื่องดองนั้น หมายถึงเครื่องดองบางชนิดที่ทำคนดื่มให้เมา เช่นส่า เบียร์ เหล้า ฝิ่น เฮโรอินเป็นต้น เรียกว่าเครื่องดอง ของเมา ไม่ว่าจะมีชื่อ

พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

ปุจฉา: พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

วิสัจฉนา: ถ้าเป็นการผิดศีลข้อนั้นเต็มที่ คือเกี่ยวข้องกันทางกามารมณ์ ก็มีโทษสูงสุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ คือเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระในทันที ถึงแม้จะอยู่ในเพศของพระ ก็ถือเป็นเสมือนตาลยอดด้วน ที่ไม่อาจจะมีผลได้อีกต่อไป มีทางเดียวเท่านั้นคือต้องไล่ให้สึกออกไป

แต่ศีลข้อ ของพระนั้น เป็นอนาคาริยวินัย จึงหมายรวมไปถึงการจับต้องกาย เกี้ยวสตรีด้วย ในกรณีก็มีโทษลดหย่อนลงมา ไม่ถึงกับขาดจากพระ แต่ต้องอยู่กรรมทรมานตน และประจานความผิดของตนด้วยตนเอง ด้วยการบอกกล่าวแก่พระทุกรูปในวัดนั้นทุกๆวัน จนครบ 6 ตรี จึงทำพิธีเพื่อให้กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามเดิมได้ โดยการประชุมสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 20 รูปให้ยอมรับรู้ ท่านเรียกว่าเป็นอัพภาน

ในขั้นจับต้องกายนั้น จะผิดเฉพาะในกรณีที่จับต้องด้วยจิตกำหนัดเท่านั้น ไม่ใช่เดินไปกระทบเข้าโดยพระไม่ได้เจตนา

ถ้าหากพระต้องอาบัติ ทำอย่างไรจึงจะหายจากอาบัติ? อาบัติ คือความผิดที่เกิดเพราะการละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตให้ทำ เมื่อพระต้องเข้าแล้วมีวิธีสำหรับออกจากอาบัตินั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้างดังนี้

  1. อาบัติปาราชิก เป็นโทษขั้นประหารสำหรับพระ ใครต้องเข้าไปไม่มีทางแก้ไข นอกจากสึกออกไปเป็นฆราวาส จะบวชอีกไม่ได้ตลอดชาติ แม้ขืนห่มจีวรแสดงว่าตนเป็นพระอยู่ ก็ไม่เป็นพระถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระต้องปาราชิกท่านจึงเรียกว่า “ผู้ปราชัย”
  2. อาบัติสังฆาทิเสส โทษหนักที่สุดของบรรดาอาบัติที่แก้ไขได้ ใครต้องเข้าจะต้องอยู่กรรมทรมานตนประจานตน โดยการบอกความผิดที่ตนกระทำแก่พระทุกรูป ภายในวัดที่ตนไปทรมานตัวอยู่ การทรมานตนในลักษณะนี้ ถ้าเป็นการต้องเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ปกปิดโทษของตนไว้ ใช้เวลา 6 คืน 6 วันต่อจากนั้นท่านให้ประชุมสงฆ์คือพระจำนวน 20 รูปสวดรับรองความบริสุทธิ์ เรียกว่าอัพภานกรรม แต่ถ้าในขณะที่ทรมานตนอยู่ต้องอาบัติในลักษณะเดียวกันหรือประเภทเดียวกันซ้ำอีก หรือปกปิดอาบัติที่ตนต้องไว้ เวลาแห่งการทรมานตนก็เพิ่มขึ้นตามวันเหล่านั้นแล้วจึงประชุมสงฆ์สวดอัพภานกรรมทีหลัง กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามพระวินัยเหมือนเดิม

อาบัติอีก 5 ประเภท คือถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต ต้องเข้าแล้วให้สารภาพ
ความผิดนั้นต่อพระรูปอื่น แล้วให้ปฏิญญาว่า จะสำรวมระวังต่อไป ก็เป็นอันพ้นจากความผิดอันนั้นได้ แต่อาบัติปาจิตตีย์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุให้อาบัติด้วย เช่นชาวบ้านเอาเงินตักบาตรพระ ตามวินัยแล้วพระจะรับไม่ได้ เมื่อท่านรับไปจะต้องสละ คือทิ้งเงินนั้นเสียก่อน จึงจะแสดงอาบัติ พ้นจากความผิดอันนั้นได้ ปาจิตตีย์บางประเภท ท่านให้ทำลายสิ่งที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก คือพ้นจากโทษนั้นๆ

อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

ปุจฉา: อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

วิสัจฉนา: อาบัติ แปลว่าความต้อง หรือพูดให้ชัดลงไปว่า “ความผิดที่เกิดขึ้นเพราะไม่ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่พระองค์ทรงพระอนุญาตให้ทำ เรียกว่าอาบัติ” อาบัตินั้นว่าโดยชื่อมี7 อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ถลุลัจจัย ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต

โทษของพระนั้น เมื่อแบ่งโดยละเอียด ก็เป็น 7 ชั้น ตามชื่อของอาบัติดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อว่าโดยย่อก็แบ่งเป็นโทษที่แก้ไขให้กลับเป็นปกติได้ กับโทษที่แก้ไขไม่ได้ ท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สเตกิจฉา คือโทษที่แก้ไขได้ กับอเตกิจฉา โทษที่แก้ไขอะไรไม่ได้

  • อเตกิจฉา นั้น ได้แก่อาบัติปาราชิก ซึ่งพระที่ต้องอาบัติขั้นนี้แล้ว ท่านเรียกว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ มีทำได้อย่างเดดียวคือ สึกออกไปเป็นฆราวาส ถ้าปรารถนาจะสร้างความดี ก็ทำความดีในขั้นของฆาวาสไป แม้จะกลับมาบวชอีกก็ถือว่าไม่เป็นภิกษุ หมายความว่าตลอดชาตินี้ จะเป็นพระอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆก็ตาม แต่ท่านแสดงว่า ถ้าสึกออกมาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรทางจิต ในฐานะที่เป็นฆราวาส อาจบรรลุมรรคผล 3 ขั้นต้นได้ ถ้ามีบารมีพอ
  • สเตกิจฉา นั้น มีวิธีแก้ไขที่ผิดกันอยู่ คืออาบัติสังฆาทิเสสนั้น เป็นโทษที่รองลงมาจากอาบัติปาราชิกถึงแม้ผู้ต้องจะไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่ต้องประจานตนเอง และทรมานตน ด้วยการประพฤติมานัต และอยู่ปริวาส เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ราตรีแต่ถ้าปกปิดไว้ ก็ต้องเพิ่มวันออกไปอีก กว่าจะกลับเป็นพระบริสุทธิ์ได้เหมือนเดิมก็หนักอยู่ คือต้องประชุมสงฆ์ให้ยอมรับรู้ถึง 20 รูป มากกว่าการประชุมเพื่อรับคนเข้าบวชเสียอีก

ส่วนอาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิตนั้น จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการบอกความผิดของตนแก่เพื่อนสพรหมจารี ละรับว่าจะสำรวมระวังต่อไป ปาจิตตีย์บางประเภทมีแปลกอยู่ที่ว่า นอกจากจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดงแล้ว บางข้อยังต้องทำลายสิ่งของ ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นด้วย

โทษของพระที่หนักที่สุด คือโทษชั้นไหน? โทษของพระที่หนักที่สุด คือต้องอาบัติปาราชิก 4 ดังกล่าวแล้ว อาบัตินั้น ได้แก่การเสพเมถุนจะกับคนหรือสัตว์ก็ตาม ลักของคนอื่นราคาบาทหนึ่งขึ้นไป ฆ่าคนตาย และอวดคุณพิเศษมีมรรค ผล นิพพาน ทั้งๆที่ตนไม่มีคุณพิเศษเช่นนั้น และยุยงทำลายให้พระสงฆ์แตกกัน อันเรียกว่าสังฆเภท ถ้าต้องแล้วยังขืนเป็นพระอยู่ ก็เป็นเพียงผ้าคลุมคนเท่านั้น ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน คือจะไปเกิดในสวรรค์ หรือบรรลุนิพพานไม่ได้ ถ้ายังขืนครองเพศพระอยู่จนตาย และในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะบำเพ็ญเพียรอย่างไร ก็ไม่อาจลบล้างกรรมชั่วนั้น จนบรรลุมรรค-ผลได้

นรกมีกี่ชั้น ชั้นไหนร้ายแรงที่สุด?

ปุจฉา: นรกมีกี่ชั้น ชั้นไหนร้ายแรงที่สุด?

วิสัจฉนา: เรื่องของนรก และชื่อของนรกนั้น หลักฐานต่าง ๆไม่ค่อยจะตรงกันนัก โดยเฉพาะชื่อที่ใช้เรียกแต่เท่าที่พบส่วนมาก โดยเฉพาะในฎีกามาลัยอันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยนรกสวรรค์โดยตรง ท่านแบ่งนรกไว้เป็น 8 ขุม ท่านไม่เรียกว่าชั้น แต่ใช้คำว่าขุมแทนแต่ละขุมนั้น ในที่บางแห่งท่านบอกว่ามีนรกบริวาร ท่านเรียกว่า อุสสุททนรก แวดล้อมอยู่อีก ท่านนับเป็นขุม ๆเหมือนกัน ความเดือดร้อนของสัตว์ในนรกก็มีลดหลั่นกันลงไป โดยท่านเรียงลำดับไว้ดังนี้

  1. สัญชีพนรก
  2. กาลสุตตนรก
  3. สังฆาตนรก
  4. โรรุวนรก
  5. มหาโรรุวนรก
  6. ตาปนนรก
  7. มหาตาปนนรก
  8. อเวจีมหานรก

ในฎีกามาลัย ท่านอธิบายรายละเอียดไว้มาก เกี่ยวกับสัตว์ผู้เกิดในนรกชั้นนั้น ๆว่าต้องเสวยกรรมกรณ์อย่างไรบ้าง อันผู้สนใจอาจจะหารายละเอียดได้จากเรื่องนั้น แม้ในไตรภูมิพระร่วงท่านก็อธิบายรายละเอียดไว้เหมือนกัน

นรกทั้ง 8 ขุมนี้ ท่านถือว่า อเวจีมหานรก เป็นนรกที่อยู่ลึกที่สุด ทรมานที่สุด พระนาคเสนเคยบอกพระยามิลินท์ว่า ในอเวจีมหานรกนี้ ถ้าคนเอาก้อนหินทิ้งลงไป ก้อนหินนั้น จะถูกเผาไหม้ไปในชั่วพริบตาคนที่จะเกิดในนรกนี้ ต้องทำกรรมหนักมาก เช่น พระเทวทัตเป็นต้น และบุคคลที่ทำอนันตริยกรรม 5 คือ ฆ่าพ่อ แม่ พระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และทำสังฆเภท ท่านว่าไปเกิดในนรกนี้.

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตายไป 2-3นาทีฟื้น หมายถึงยมบาลเอาตัวไปผิดหรือเปล่า?

ปุจฉา: คนที่เจ็บหนักใกล้จะตาย แล้วตายไป สัก2-3นาทีฟื้น หมายถึงยมบาลเอาตัวไปผิดหรือเปล่า?

วิสัจฉนา: คนที่ตายไปเพียง 2-3นาทีฟื้นนั้น เขาไม่เรียกว่าตาย เป็นเพียงสลบไปเท่านั้นเอง ยมบาลจะเอาตัวไปผิดได้อย่างไร เพราะเวลาน้อยเหลือเกิน เท่าที่ทราบ ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเล่าและตัวอย่างบุคคลมีในปัจจุบัน ซึ่งท่านเหล่านั้น ถ้าหากว่าเป็นคนเคยทำบาปมาก่อน หลังจากฟื้นขึ้นมาจะเลิกทำบาปอันเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่น่าสังเกตุประการหนึ่ง

เขาเล่ากันส่วนมากจะพบว่า ตายไปนานผิดปกติเช่น 8-24 ชั่วโมง พวกนี้เมื่อฟื้นขึ้นมาจะเล่าทำนองที่คล้ายคลึงกันว่า เป็นการนำตัวไปผิด ของยมทูตศัพท์เกี่ยวกับนรก ซึ่งปรากฏในคัมภีร์รุ่นหลังท่านเรียกบุคคลในโลกนรกตามหน้าที่ ยมทูต มีหน้าที่นำคนสัตว์ที่อายุถึงฆาตไปสู่นรก ยมบาล มีหน้าที่ควบคุมรักษายมโลก และยมราช เป็นประธานหรือพระราชาของยมโลก

เรื่องการนำตัวไปผิดนั้นเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยพบหลักฐานทางบาลี พบแตคนในปัจจุบันดังกล่าวแล้ว มีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อ ก็คือการที่บุคคลผู้นั้น หลังจากฟื้นมาแล้ว กลายเป็นคนใจบุญยินดีในการทำความดีละเลิกความชั่วที่ตนเคยกระทำมาถ้าไม่มีอะไรประทับใจอย่างแรงไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่เคยทำแต่ความชั่ว จะมาเลิกไม่ทำ หลังจากตายไป 8-24 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องน่ารับฟังไว้ แต่ไม่ได้หมายถึงการตายไปเพียง 2-3 นาที เพราะนั่นเป็นเพียงสลบไปดังกล่าว

สวรรค์มีกี่ชั้น?

ปุจฉา: ถ้าสวรรค์มีจริง อยากทราบว่ามีกี่ชั้น อะไรบ้าง? และความสุขแต่ละชั้นต่างกันอย่างไร?

วิสัจฉนา: สวรรค์นั้น เมื่อว่ากันตามหลักฐานทางศาสนาท่านแสดงว่ามีอยู่จริงๆ ในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้น มีเรื่องของสวรรค์เข้ามาเกี่ยว ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะมาอุบัติในโลกมนุษย์ และเกี่ยวข้องกันไปตลอด ไม่ว่าตอนเสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ ตัดสินพระทัยแสดงธรรม แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

แม้หลังจากปรินิพพานแล้ว ก็มีเรื่องสวรรค์เทวดาเข้าเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมากในพระไตรปิฎกเองท่านจัดเรื่องของเทวดาไว้พวกหนึ่งเรียกเทวตาสังยุตต์ แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง ไม่บ่งให้ชัดลงไปว่าสวรรค์อยู่ที่ไหนเพราะคนฟังเป็นพระอริยบุคคล รู้เรื่องสวรรค์ดีอยู่แล้ว ส่วนชั้นของสวรรค์นั้น ท่านแสดงไว้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. กามาวจร เป็นสวรรค์ที่อยู่ของพวกเสพกามหมายความว่าสวรรค์ชั้นนี้ มีเทพบุต เทพธิดา เป็นสามีภรรยากัน แต่ทุกอย่างมีความสุขและประณีตกว่าโลกมนุษย์ สวรรค์พวกนี้มีอยู่ 6 ชั้น
  2. รูปาวจร พวกนี้ท่านไม่เรียกสวรรค์ แต่เรียกพรหมโลก ถ้าเรียกเป็นภพท่านเรียกว่ารูปภพ แบ่งเป็น ชั้น ๆได้ 16 ชั้น ใน 16 ชั้นนี้ 11 ชั้นข้างล่าง เป็นที่บังเกิดของท่านที่บรรลุฌาน 4 อันเรียกว่ารูปฌานอีก 5 ชั้น ตอนปลายท่านเรียกว่า สุทธาวาส คือที่อยู่ของท่านที่บริสุทธิ์มากแล้ว อันได้แก่พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ 3 ในพระพุทธศาสนา ท่านว่าตายแล้วจะไปบังเกิดในสุทธาวาส 4 ชั้นนี้
  3. อรูปาวจร คือเป็นพรหมโลกเหมือนกัน แต่คนที่ตายไปเกิดในพรหมโลกนี้ เกิดด้วยอำนาจอรูปฌามซึ่งมีอยู่ 4 ชั้น พรหมโลกขั้นนี้ จึงมี 4 ชั้นเช่นกันเรียกชื่อเหมือนกับฌานที่เป็นอรูปทั้ง 4 นั้น

ตกลงว่าที่เป็นสวรรค์จริงๆ มีเพียง 6 ชั้นเท่านั้น แต่เทพบุตรเทพธิดาที่ไม่อยู่บนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นนั้น ท่านแสดงว่ามีเหมือนกัน เช่นภูมเทวดา เทวดาประจำพื้นดิน รุกขเทวดา เทวดาประจำต้นไม้ อากาสเทวดา เทวดาประจำอากาศเป็นต้น พวกนี้ท่านไม่จัดเป็นชั้น อย่างสวรรค์ 6 ชั้น ที่จะกล่าวต่อไป คือ

1.จาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นแรก ท่านว่าเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ มีหน้าที่อภิบาลโลก และรับผิดชอบกันองค์ละ1 ทิศ ความสุขคงไม่มากนัก เพราะงานหนักไม่น้อยเหมือนกัน ต้องตรวจตราดูแลความเป็นไปของโลก ป้องกันบริวารของตนไม่ลงมาจุ้นจ้านในโลก เพราะแต่ละท่านก็ดูเหมือนจะเป็นเทวดาที่ไม่จะสมบูรณ์นัก ท่านเหล่านั้น มีชื่อและความรับผิดชอบต่อโลกดังนี้

  • ทิศตะวันออก ท้าวธตรฐ มีภูต บางแห่งว่ากุมภัณฑ์เป็นบริวาร มีฤทธิ์อำนาจมาก
  • ทิศตะวันตก ท้าววิรูปักข์ มีนาคเป็นบริวารตัวท่านเองก็น่าจะเป็นนาคเหมือนบริวาร
  • ทิศใต้ ท้าววิรุฬหก องค์นี้แปลก บางแห่งว่ากุมภันฑ์เป็นบริวาร บางแห่งว่าเทวดา
  • ทิศเหนือ ท้าวกุเวร ส่วนมากคนไทยรู้จักกันในนามท้าวเวสสุวรรณ มีพวกยักษ์เป็นบริวารองค์นี้มีรูปมากที่สุดในเมืองไทยเพราะเป็นนายผี คนกลัวผีก็เลยสร้างรูปเจ้านายเอาไว้ ขู่ผีอีกต่อหนึ่ง ท่านว่าไว้ในพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงว่า แต่ละองค์มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก มีลูกองค์ละ 80 องค์ และ ลูกทั้ง 320 องค์นั้น ชื่ออินทร์เหมือนกันหมด แปลกเหมือนกันอักษรศาสตร์คงไม่เจริญมากนักก็ได้ เลยต้องไปยืม ชื่อเจ้านายคือพระอินทร์มาตั้งชื่อลูก แต่ไม่แน่อาจจะเป็นวิธีประจบเจ้านายของพวกเทวดาเขาก็ได้ พูดถึงความสุข ดูไม่น่าจะสุขมากนัก เพราะบริวารแต่ละคนก็สาหัสพอแล้ว ยังต้องคอยระวังอันตราย ที่จะคุมคามเบื้องบนคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กับ ทำหน้าที่อภิบาลโลกด้วย

2. สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นนี้คนไทยคุ้นเคยมาก เพราะแม้แต่เมืองหลวงของดาวดึงส์ คืออยุธยา เราก็นำมาตั้งชื่อเมืองหลวงของเราเสีย แม้แต่กรุงเทพฯ ก็คือเทวนคร อันหมายถึงสวรรค์ชั้นนี้เหมือนกัน เทวราชผู้ปกครองดาวดึงส์ก็คือพระอินทร์เมื่อก่อนนิสัยไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะมักชอบยุ่งกับภรรยาคนอื่น ต่อมากลับมานับถือพระพุทธศาสนานิสัยดีขึ้น มีเมียเอก 4 นาง

สนมกับบริวารไม่ต้องนับความสุขคงจะดีกว่าชั้นแรก แต่ก็ไม่น่าจะสุขใจนักตามธรรมดาคนมีเมียมาก โดยเฉพาะนางสุชาดา ทราบว่าต้องเอาใจเป็นพิเศษ ไปไหนก็ต้องพาไปด้วย เลยได้ชื่อว่า“ท้าวสุชัมบดี” ทั้งต้องมีศึกกับพ่อตาคือท้าวเวปปจิตตาสูร พ่อของนางสุชาดาเป็นประจำด้วย ท่านองค์นี้มีหน้าที่บริหารอภิบาลโลกเหมือนกันถ้าโลกไม่ปกติ พระอินทร์จะทราบด้วยพระแท่นแข็งเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทรงทอดพระเนตรดูเหตุการณ์ในโลกและลงมาแก้ไข หรือช่วยเหลือตามควรแก่กรณี

ปัจจุบันนี้ ทั้งท้าวมหาราช และพระอินทร์ชักจะไม่เอาไหนมากขึ้น โลกวุ่นวายอย่างไรไม่เคยให้ความสนใจ ทั้งนี้ท่านคงคิดว่า เดี๋ยวนี้เขามีองค์การสหประชาชาติแล้ว เลยเฉยเสีย ปล่อยให้มนุษย์แก้ไขกันเอง หรือไม่อย่างนั้น อาจเป็นเพราะปัจจุบันคนไม่ค่อยนับถือท่าน ท่านเลยเฉยเสียก็เป็นได้ นานเข้าคงลืมหน้าที่ไปก็ได้ เรื่องของผู้ใหญ่ที่ได้รับความสุข มักลืมความทุกข์ของคนอื่นอย่างนี้เอง ไม่ว่าเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม


3. สวรรค์ชั้นยาม ชั้นนี้ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักทราบว่า ท้าวสุยามเป็นเทวราช ความสุขก็ต้องดีกว่า 2 ชั้นที่แล้วมา อาจจะเป็นความสุขสงบจนไม่มีข่าวอย่างประเทศที่สงบทั้งหลายในโลกปัจจุบันก็ได้ ที่เป็นข่าวส่วนมากเป็นประเทศที่ยุ่ง ๆทั้งนั้น


4. สวรรค์ชั้นดุสิต แปลว่าสวรรค์ที่น่ายินดี ท่านบอกว่าเป็นที่เกิดของคนที่บริสุทธิ์มาก เช่นคนที่จะไปเกิดเป็นพุทธบิดา พุทธมารดา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์บางองค์ มักจะจุติไปจากสวรรค์ชั้นนี้แม้พระนางมายาเทวี พระพุทธมารดา ท่านบอกว่าทิวงคตแล้วไปอุบัติชั้นนี้อีก สวรรค์ชั้นนี้ก็เช่นกัน น่าจะสุขสงบจนไม่ค่อยมีข่าวมากนัก ทราบแต่ว่า ท้าวสันตุสิตเป็นผู้ปกครอง การปกครองก็คงจะไม่ยุ่งยากอะไร เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเทวดาชั้นดีด้วยกันทั้งนั้น


5. ชั้นนิมมานรดี ชั้นนี้ก็เช่นกัน ไม่ค่อยมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากนัก ทราบแต่เพียงว่าบนสวรรค์ชั้นนี้จะต้องการอะไรก็นิรมิตเอา เรื่องความสุขท่านไม่ได้บอกไว้ละเอียดนัก แต่ต้องดีกว่าสวรรค์ชั้นต่ำกว่าเทวราชดูเหมือนจะชื่อตามสวรรค์ว่า สุนิม เป็นผู้ปกครอง


6. สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี ท่านบอกว่าเป็นที่อยู่ของพระยามาร ชื่อตามสวรรค์นั้น ตนที่ไปตามผจญพระพุทธเจ้าในเวลาจะตรัสรู้ แปลกเหมือนกัน นักเลงโตขนาดนี้ ได้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นสูงขนาดนี้ แต่เมื่อมองตามความเป็นไปของพระยาปรนิมมิตวสวัดดีแล้ว จะพบว่าปกติไม่ค่อยรบกวนชาวบ้านมากนักนอกจากเห็นใครจะได้ดีจริง ๆเช่นพระพุทธเจ้า ท่านก็ลงมือขัดขวางจนสุดความสามารถ แต่เมื่อสู้พระบารมีของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็กลายเป็นเด็กขี้แย นั่งร้องไห้อยู่จนลูกสาวมาถามทราบความ จึงได้อาสาไปล่อลวงพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง แต่พระพุทธองค์ทรงรู้จักทุกครั้ง

ไม่ว่าจะไปในรูปใด ตอนหลังเลยออกจะเซ็ง ๆไป มาโผล่อีกครั้งหนึ่งตอนทูลให้พระพุทธเจ้าปรินิพพานตำนานบอกว่ามารตนนี้ แต่ลองคิดดูอีกทีน่าจะเป็นขันธมารมากกว่า เพราะพระพุทธองค์ทรงพระชรามากแล้ว ทั้งต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยมามากตลอดเวลา 51 ปี พระวรกายทนทานต่อไปไม่ไหวทั้งงานที่ควรจะทำก็ได้ทำสมบูรณ์ดีแล้ว จึงไม่ทรงฝืนสังขารที่จะอธิษฐานด้วยอิทธิบาทภาวนาจะอยู่ไปอีกจึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามตำนานบอกว่าสวรรค์ชั้นนี้มีพิเศษอยู่ตามชื่อ คือต้องการอะไรไม่ต้องนิรมิตเอง มีคนอื่นรู้ความต้องการแล้วนิรมิตให้บางท่านให้ข้อสังเกตุว่าผู้มานิรมิตให้น่าจะเป็นเทพชั้นนิมมานนดี

พระยามารตนนี้ ปัจจุบันไม่ทราบว่าหายไปไหนไม่ค่อยสำแดงอาการคุมคามใครอีก ท่านคงเห็นว่าไม่ต้องถึงมือท่าน พวกมนุษย์ต่อมนุษย์ก็ล้างผลาญกันพอแรงแล้ว ไม่มีใครมีทีท่าว่าจะออกไปนอนอำนาจของท่าน เลยไม่ต้องทำงานไปอีกตนหนึ่ง

ชื่อสวรรค์นี้ ออกจะตรงกับของพราหมณ์เขาเหมือนกัน ไม่ทราบว่าใครเลียนแบบใคร แต่การอธิบายถึงรายละเอียดแตกต่างกัน เหมือนกันแต่ชื่อสวรรค์กับเรื่องบางเรื่องเท่านั้น แต่รับฟังไว้ก็เป็นความดีสำหรับผู้เชื่อเรื่องสวรรค์ เพราะไม่มีผลเสีย คนไม่เชื่อเสียอีกอาจจะทำกรรมชั่วอะไรก็ได้ เพราะคิดว่าสวรรค์นรกไม่มี

ทำบาปไปแล้ว แต่มีสติสำนึกได้ตอนหลังจะมีความผิดไหม?

ปุจฉา: ถ้าหากว่าเราทราบว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี แต่บางครั้งเราทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อทำไปแล้วก็มีสติสำนึกได้จะมีความผิดไหม?

วิสัจฉนา: การกระทำทุกอย่างของคนนั้น ไม่ว่าจะทำด้วยความรู้สึกตัว หรือว่าทำไปโดยเผลอสติก็ตาม ถ้าหากว่าการกระทำอันนั้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองคนอื่นหรือเบียดเบียนทั้งตนเองและคนอื่นแล้ว การกระทำอันนั้นย่อมถือว่าเป็นความผิดอยู่นั้นเอง บุคคลไม่อาจจะอ้างเอาความรู้ ความเผลอสติ หรือเหตุอย่างอื่นเป็นเครื่องอ้างได้ เพราะทำผิดก็ต้องเป็นความผิด และผลแห่งการทำผิดก็ต้องเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนตามธรรมดาของหลักเหตุผล

ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การกระทำถูกหรือผิดนั้นท่านวัดกันด้วย
  • วัตถุ คือสิ่งที่เรากระทำ
  • เจตนา คือความจงใจ ความตั้งใจที่จะทำการนั้นๆ
  • ประโยค คือความพยายาม ซึ่งอาจจะเป็นไปทางกาย วาจา ใจก็ได้

ความหนักเบาของผล ย่อมขึ้นอยู่กับความหนักเบาของเครื่องประกอบทั้งสามนั้นท่านกล่าวว่า “กตสสฺส นตฺถิ ปฏิการํ” สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้ ที่ดีก็ดีไปที่ชั่วก็ชั่วไป ทุกอย่างเป็นอดีตไปหมดแล้ว จะมีก็เพียงบาป-บุญ ที่จะติดตามบุคคลผู้นั้นไป เหมือนเงาติดตามคนไปฉะนั้น และบาปบุญอันนี้ก็รอคอยเหตุปัจจัยสนับสนุน หรือโอกาสที่จะให้ผล ก็ให้ผลไปตามกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้

ส่วนการสำนึกได้ จัดเป็นความรู้สึกดีอีกช่วงหนึ่งคนละช่วงกับที่เป็นแรงกระตุ้นให้ทำผิด จึงจัดเป็นความดี สามารถสกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดในอนาคตได้ ถ้าหากว่าสำนึกผิดแล้ว ไม่กระทำความผิดเช่นนั้นหรือความผิดในลักษณะอื่นอีก แต่ถ้าสำนึกได้หลังจากทำผิด ต่อจากนั้นก็ทำผิดเหมือนเดิมก็หาช่วยให้อะไรดีขึ้นไม่ จะถือเป็นความดีก็เพียงเป็นจิตุปบาทอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล ได้เกิดขึ้นภายในจิต เพียงแวบเดียวแล้วดับไป แต่อย่างไรก็ตาม การทำผิดแล้วสำนึกว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นผิด ก็อาจจะกลับจิตของบุคคลผู้นั้นได้ ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะว่าคนพาลที่สำนึกตนเองว่าเป็นพาล ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นบัณฑิตได้ ดีกว่าคนพาลที่ถือตัวว่าเป็นบัณฑิต

----------------------------------------------------
พุทธภาษิต
คนพาลมีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึกย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเหมือนถูกไฟไหม้
ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนสัตว์ ผู้ต้องการสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นละ (ตาย)ไปแล้วย่อมได้สุข

ปัญหาเกี่ยวกับปรโลก สวรรค์ นรก

  • ทำไมยานอพอลโลขึ้นดวงจันทร์ตั้งหลายลำแล้วยังไม่เห็นสวรรค์สักที?
  • อ้าวแล้วใครบอกว่าสวรรค์อยู่บนดวงจันทร์เล่า?
  • เรื่องที่ตั้งของสวรรค์นี้ออกจะเป็นเรื่องน่าคิดและดูจะเป็นการยากสำหรับการพิสูจน์
    สวรรค์ด้วยวิชาการปัจจุบัน นอกจากการปฏิบัติทางจิต จนบรรลุถึงขั้นเห็นสวรรค์ ตามที่พระอริยเจ้าท่านบรรลุมาแล้วเท่าที่สังเกตมาในตำรา ที่กล่าวถึงเรื่องสวรรค์นั้น
  1. พระพุทธองค์จะทรงแสดงเรื่องสวรรค์ กับ พระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคลชั้นต่ำลงมา ในการ
    สนทนานั้น ไม่มีการพูดว่าสวรรค์อยู่ตรงไหน เพราะคนฟังต่างก็ทราบอยู่แล้ว เหมือนคนกรุงเทพฯคุยกันเรื่องสนามหลวง หรืองานสนามหลวง จะไม่มีการพูดถึงว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน เพราะคนฟังต่างก็ทราบอยู่แล้ว เหมือนคนกรุงเทพฯ คุยกันเรื่องสนามหลวง หรืองานสนามหลวง จะไม่มีการพูดถึงว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน เพราะคนที่ฟังทราบที่ตั้งดีอยู่แล้ว จะพูดก็เฉพาะเหตุการณ์ในสนามหลวง ผู้ฟังดีอยู่แล้ว จะพูดก็เฉพาะเหตุการณ์ในสนามหลวง ผู้ฟังก็จะเข้าใจได้ทันทีฉันใด ก็ฉันนั้น

  1. ความมีอยู่ของสวรรค์ในลักษณะที่ซ้อน ๆกันขึ้นไป เหนือยอดเขาสิเนรุ และนรกอยู่ใต้เขาสิเนรุ
    ลงมาเรื่อย ๆน่าจะเป็นของพราหมณ์มากกว่าพุทธเพราะฟังดูสวรรค์คล้าย ๆ กับจานผีขนาดมหึมา ที่ลอยอยู่สูงขึ้นไปตามลำดับ
  2. เมื่อกล่าวถึงเทวดา พรหมบนสวรรค์ และพรหมโลก ทางพระพุทธศาสนาจะแสดงในแง่ที่เป็นอทิสสมานกาย คือมีกายละเอียด บุคคลไม่อาจจะเห็นเห็นด้วยสมาธิจิตและทิพยจักษุเท่านั้น เมื่อคิดกันตามหลักวิชา ทางศาสนาและปัจจุบันประกอบกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า

  1. สวรรค์ที่เป็นชั้น ๆอย่างที่ท่านว่า อาจจะเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง บรรดาจักรดารกาจำนวนล้านๆดวงในหลาย ๆสุริยจักรวาล ซึ่งมีความหนาแน่นของอากาศทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร และอื่นๆ แตกต่างจากโลกมนุษย์ แม้นรกก็ทำนองเดียวกัน แต่มีลักษณะตรงกันข้ามกับสวรรค์ ปัญหาที่น่าคิดในแง่นี้ก็คือเขาจะอยู่ได้อย่างไร? ข้อนี้เป็นกมฺมโยนิ สำเร็จด้วยกำเนิดของเขา เราไม่อาจจะเอามาตรฐานของมนุษย์ไปวัดได้ เหมือนปลามีกำเนิดในน้ำ เขาอยู่ในน้ำได้แต่คนอยู่ไม่ได้ เพราะกำเนิดผิดกัน
    เขามาโลกนี้ได้อย่างไร? นี้เป็นฤทธิ์หรือความสำเร็จโดยกำเนิดเช่นกัน เหมือนนกบินไปในอากาศได้ ถ้าสวรรค์นรก เป็นโลกอีกโลกหนึ่งโดยนัยนี้ การที่คนไปดวงจันทร์ หรือแม้ดาวอื่น ๆอีกสักสองสามพันดวง แล้วไม่พบสวรรค์ในที่นั้น ก็ไม่อาจจะปฏิเสธความมีอยู่ของสวรรค์ได้ เพราะมีข้อมูลมีไม่เพียงพอในเมื่อดาวมีมากเป็นล้าน ๆดวง และมีหลายระบบสุริยจักรวาลด้วยกัน
  2. สวรรค์เป็นโลกทิพย์ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งอาจจะเป็นโลกซ้อนโลกของเราอยู่ หรืออยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งคนไม่อาจจะเห็นได้โดยนัยที่กล่าวแล้ว ทั้งโลกและคนในโลกนั้น
    เท่าที่ศึกษาพบมา ปรากฏว่าเทวดาบางจำพวก เช่นพระภูมิเทวดา รุกขเทวดา อากาสเทวดา สมุท
    เทวดาเป็นต้น ก็อยู่ใกล้คนนี้เอง หากแต่ท่านเหล่านั้นมีกายไม่ปรากฏคนจึงไม่เห็น แต่ท่านเหล่านั้นสามารถเห็นเราได้ทุกอย่าง คนโบราณจึงกลัวนัก จะทำผิดอะไร หรือเรื่องที่ควรจะปฏิบัติในที่ลับ ก็ปฏิบัติในที่ลับ โดยเขาถือว่า“คนไม่เห็น ผีสางเทวดาเขาเห็น หรืออายผีสางเทวดากันบ้าง”
    คนทุกวันไม่เชื่อเรื่องนี้ เรื่องที่โบราณเขาถือใคร ๆ จึงไม่ค่อยถือกัน คงจะเล่นเอาเทวดาอายม้วนต้วนไปมากแล้วก็ได้

คนที่ต้องการพิสูจน์เรื่องนี้ จึงทำได้วิธีเดียวเท่านั้นคือการปฏิบัติไปตามที่ท่านสอนไว้ว่า เมื่อจิตสงบถึงขั้นนั้น ๆบุคคลอาจจะน้อมใจไปเพื่อเห็นเทวดา สวรรค์ก็ทำได้ ถ้าจิตถึงขั้นนั้นแล้วแต่ไม่ได้รับผลดังที่ท่านว่าจึงค่อยปฏิเสธ แต่ส่วนมากท่านที่บรรลุในขั้นนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่พูด เพราะพูดไป ก็ไม่รู้เรื่องกัน ดีไม่ดีจะหาว่าท่านโกหกเสียอีก เรื่องนี้จึงเป็น “ปจฺจตฺตํ คือรู้เฉพาะตนอีกเรื่องหนึ่ง”
แต่สำหรับคนที่รู้เฉพาะตนมาแล้วด้วยกัน ย่อมพูดคุยกันได้ เหมือนพระพุทธเจ้าสนทนาเรื่องเทวดากับพระอริยบุคคล

อีกวิธีหนึ่ง ต้องรอให้ตายเสียก่อน วิธีนี้เห็นจะไม่ได้เรื่องเท่าไร บางคนตองการจะเห็นสวรรค์ อาจต้องหันไปนรก แต่จะเป็นนรกหรือสวรรค์ ท่านว่าเวลาต่างกับโลกนี้มาก กว่าจะมาเล่าอะไรได้ ลุกหลานในโลกนี้ตายไปหมดแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นปัญหามาจนทุกวันนี้ และน่าจะเป็นปัญหาต่อไปเรื่อย ๆ

เดี๋ยวนี้ใครเชื่อเรื่องสวรรค์นรก เขาว่า เชย ครึ ล้าสมัย งมงาย พวกปราชญ์เหล่านั้น ตายไปคงได้บทพิสูจน์ว่าใครเชย ครึ งมงาย ล้าสมัยกันแน่ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง จะขอโทษขอโพยกันหน่อย ก็คงจะสายเกินแก้แล้ว

ความอุ่นใจสำหรับคนที่สงสัยคือ “พยายามทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ จนสุดความสามารถ ถึงจะไม่มีสวรรค์จริง ชาติปัจจุบันเราก็ไม่มีเวรมีภัยกับใคร อยู่เป็นปกติสุขดี”

ถ้าเราทำความชั่วแต่ไม่รู้ตัวว่าทำจะบาปหรือไม่?

ปุจฉา: ถ้าเราทำความชั่วแต่ไม่รู้ตัวว่าทำจะบาปหรือไม่?

วิสัจฉนา: ความชั่วเปรียบเหมือนยาพิษ คนที่ดื่มกินยาพิษลงไปโดยเขาจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ยาพิษก็ย่อมแสดงพิษของมันออกมา จนถึงเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้ดื่มกินฉันใด คนที่ทำความชั่วโดยไม่รู้ว่าตนทำ ความชั่ว ก็จะถูกแผดเผาด้วยผลแห่งความชั่วเช่นเดียวกันฉันนั้น

ได้โปรดเข้าใจว่า ถ้าคนไม่รู้ทำชั่วไม่เป็นความชั่วแล้ว โลกก็จะเต็มไปด้วยคนที่ไม่ยอมรับรู้ผิดชอบชั่วดีสิ่งที่เป็นคุณเป็นโทษ แล้วจะทำกันแต่ความชั่วเสียส่วนมาก จะหาความสุขสงบไม่ได้เลย แต่เพราะกฎแห่งกรรม เป็นกฎที่ยุติธรรม อันธำรงโลกเอาไว้ คนจึงจำเป็นต้องขวนขวาย ศึกษาให้รู้ถึงสิ่งที่ดีและชั่ว เพื่อจะได้ละเว้นในสิ่งที่ควรเว้น บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเอง และผู้อื่น จนเกิดเป็นรูปของศาสนาต่าง ๆ ดังที่ปรากฏอยู่

ระหว่างผู้ที่ลบหลู่ศาสนา กับการทำผิดศีลประเภทไหนจะบาปมากกว่ากัน?

ปุจฉา: ระหว่างผู้ที่ลบหลู่ศาสนา กับการทำผิดศีลประเภทไหนจะบาปมากกว่ากัน?

วิสัจฉนา: ศาสนา แปลว่าคำสั่งสอน คำสั่งคือศีล คำสอนคือพระธรรม ดังนั้นการผิดศีล ก็ชื่อว่าเป็นการลบหลู่พระศาสนาประการหนึ่งเหมือนกัน แต่ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น การลบหลู่ศาสนาหมายเอาเพียงการแสดงความไม่เคารพต่อพระรัตนตรัย ตลอดจนถึงการฆ่าพระสงฆ์ การตัดพระเศียรพระพุทธรูป การเหยียบย่ำอักษรจารึกพระธรรม การแสดงความดูหมิ่นต่อศาสนาสถานเป็นต้น

ในการกระทำทั้งสองนี้ ที่สุดของการกระทำเป็น กรรมหนักพอ ๆกัน คือการดูหมิ่นศาสนาอาจจะถึงอนันตริยกรรม ได้แก่กรรมหนักที่สุด เช่นฆ่าพระอรหันต์การผิดศีลก็อาจจะถึงที่สุดได้ ด้วยการฆ่าพ่อแม่เป็นต้น ถ้าเป็นการกระทำในขั้นเดียวกัน เจตนา วัตถุ ความพยายามเท่ากัน บาปก็พอ ๆกัน

ดังนั้นการจะวัดว่าอะไรว่าบาปหรือบุญน้อยกว่ากันนั้น ท่านให้ดูที่

  • เจตนา คือความจงใจหรือความตั้งใจทำ มีความมากน้อยเพียงไร
  • วัตถุ สิ่งที่ตนลบหลู่หรือล่วงละเมิดมีความใหญ่เล็ก และสำคัญมากน้อยว่ากันอย่างไร

เมื่อดูทั้งสามอย่างแล้วก็อาจเปรียบเทียบกันได้เพราะทั้งสามอย่างแล้วก็อาจเปรียบเทียบกันได เพราะทั้งสามนี้จะต้องมีความยิ่งหย่อนกว่ากันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าหากว่าพอ ๆ กันก็เสมอกันดังกล่าว

คนที่สำนึกผิดได้หลังจากที่ตนกระทำบาปไปแล้วจะได้บาปมากหรือน้อย?

ปุจฉา: คนที่สำนึกผิดได้หลังจากที่ตนกระทำบาปไปแล้วจะได้บาปมากหรือน้อย?

วิสัจฉนา: เรื่องการทำบาปนั้น เราจะวัดปริมาณว่ามากหรือน้อย หาได้ขึ้นอยู่กับความสำนึกผิดเพียงประการเดียวไม่ จะต้องดูว่าบาปที่ทำนั้นคืออะไร? เช่นการฆ่าสัตว์ สัตว์ที่ฆ่านั้นเป็นสัตว์อะไร? หรือเป็นใครเจตนาในการฆ่ามีความรุนแรงขนาดไหน? มีความพยายามมากน้อยแค่ไหนเพียงไร? ด้วย ส่วนการสำนึกผิดเป็นเรื่องคนละเหตุคนละผลกับการทำบาปที่เขาได้ทำมาแล้ว ความสำนึกผิดจึงไม่อาจจะลดปริมาณบาปที่ทำไปแล้วได้ แต่อาจจะป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ได้

ปัญหานี้ไม่บ่งมาให้ชัดว่าบาปนั้นคือการกระทำอะไร? มีวัตถุ เจตนา และความพยายามเป็นอย่างไร? จึงบอกได้แต่เพียงว่า “คนที่สำนึกผิดหลังจากได้กระทำบาปไปแล้วนั้น ย่อมดีกว่าคนที่ทำผิดแล้วไม่สำนึก”และจากความสำนึกผิดนี้เอง อาจจะป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่วนบาปที่ทำไปแล้ว จะเป็นบาปมากน้อยหรือหนักเบาอย่างไร ย่อมต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ประการเป็นเครื่องตัดสิน

แต่โปรดให้เข้าใจว่าความสำนึกผิดลดบาปที่ทำไปแล้วไม่ได้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้สร้างความดี และป้องกันบาปไม่ให้เกิดขึ้นในภายหน้าได้ ถ้าเป็นความสำนึกผิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของหิริโอตตัปปะ .

เหตุใดจึงต้องมีการบูชาพระประจำวัน?

ปุจฉา: เหตุใดจึงต้องมีการบูชาพระประจำวัน?

วิสัจฉนา: เหตุจริงไม่มี เป็นเรื่องทางโหราศาสตร์มาแอบเข้า เป็นเรื่องของพุทธปนไสย์ ที่คิดสร้างกันขึ้นทำให้คนอีกหลายจำพวกมีโอกาสได้ทำมาหากินกัน แม้พระประจำวัน ก็ไม่มีหลักฐานทางบาลี พวกรุ่นหลังว่ากันเองทั้งนั้น ซ้ำยังดึงเอาพระคาถาบ้าง พระสูตรและปาฐะบ้าง โดยอาศัยเค้าความของคาถาเป็นต้น เหล่านั้นเป็นหลัก คิดดัดแปลงขึ้น

แม้พระประจำวันก็คิดสร้างกันขึ้นเองเช่นกัน อันที่จริงพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เป็นสัญญาลักษณ์ของความสะอาด สงบ สว่าง เป็นตัวแทนของพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระปัญญาคุณเสมอกันหมด และเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกัน ใครเกิดวันอะไรจะบูชาพระปางไหนก็ได้ทั้งนั้น หากเป็นการทำด้วยศรัทธา และเลื่อมใสในพระพุทธคุณ และถ้าทำไปจนเข้าข่ายกรรมฐาน ก็อาจจะยังพุทธานุสสติให้เกิดขึ้นได้ด้วย

ดังนั้นใครมีพระปางอะไรอยู่ ก็ชอบที่จะบูชาไปตามศรัทธาปสาทะของตน ไม่จำเป็นจะต้องขวนขวายหาพระประจำวันนั้นวันนี้ นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้วยังยากต่อการรักษาด้วย

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ผู้ที่ยุคนอื่นให้เลิกนับถือศาสนา

ปุจฉา: คนบางคนไม่นับถือพระสงฆ์และยุให้ผู้อื่นไม่นับถือด้วย กล่าวหาว่าพระสงฆ์เป็นกาฝากสังคม กินแรงงานของสังคมดีแต่สอนตัวเองไม่ทำ ควรทำอย่างไร?

วิสัจฉนา: จะทำอะไรละ? คนเรานั้นธรรมดาเหลือเกิน หากไม่ชอบกันก็ต้องด่าว่ากัน ที่ว่ามาทั้งหมดนะไม่ค่อยเจ็บเท่าไรหรอก แสดงว่ายังไม่ค่อยโกรธไม่พอใจมากเกินไป เคยเห็นคนเขาโกรธไม่ชอบกันด่ากันไหม?

บางครั้งผัวเมียอยู่กันมาเป็นปีๆ เวลาเกิดไม่ชอบกันโกรธกัน เขาด่ากันเจ็บแสบกว่าที่บอกมาเสียอีก แต่เขาก็ยังอยู่กันได้ หน้าที่ของพระนั้นท่านสอนว่า "อย่าไปสนใจต่อคำหยาบคายและการงานที่ทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำของคนอื่นแต่ให้สนใจในการงานที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตน"

ทุกอย่างที่ถามมาจึงเป็นปกติวิสัยของคนที่มีจิตใจลำเอียง มองปัญหาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่กลับตัดสินเรื่องเหล่านี้เกินกว่าที่ตนได้พบเห็น ที่พูดที่ทำไปเช่นนั้นจึงอาจพูดเพราะ "ไม่ชอบพระไม่เข้าใจความจริงหรือเพราะกลัวว่าจะไม่ทันสมัยก็ได้"

พระพุทธศาสนานั้น ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่แล้วต้องประสบกับการต่อต้าน โจมตี กล่าวหา ใส่ความ จนถึงทำลายด้วยกำลัง เมื่อการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอีก หรือจักเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม "อย่าได้วิตกทุกข์ร้อนให้เกินพอดีเพราะนั้นเป็นเพียงธรรมดาอย่างหนึ่งเท่านั้น มันเกิด
ขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นและจะต้องดับไป เมื่อเหตุปัจจัยของการดำรงอยู่ดับไป"

คำกล่าวหาทั้งหมดนั้นเป็นคำพูดเพราะ "ไม่ชอบกับไม่รู้" ทั้งนั้นจึงควรทำความเข้าใจแต่โดยย่อๆว่า กาฝากนั้นเกิดขึ้นที่ต้นไม้ใดแล้วจะเบียดเบียนต้นไม้นั้นจนตายไป แต่พระสงฆ์อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว และมีอยู่ในหลายประเทศ พระสงฆ์นอกจากจะไม่ทำให้สังคมต้องเป็นอันตรายแล้ว ยังมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการพัฒนาสังคมทั้งด้านวัตถุและจิตใจ คำว่า กาฝากสังคมเป็นภาษาทางการเมืองของพวกที่ไม่หวังดีต่อชาติศาสนา คำกล่าวของคนไม่หวังดีมีอะไรให้เชื่อได้หรือ?

กินแรงงานสังคม ว่าที่จริงมีลักษณะอธิบายคำว่ากาฝากสังคม พระสงฆ์ไม่ได้กินแรงงานสังคม แต่พระสงฆ์ก็ทำงานในหน้าที่ของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการตอบแทนสังคมและให้แก่สังคม ผู้กินแรงสังคมนั้นคือผู้ที่สังคม
จะต้องเลี้ยงดูโดยส่วนเดียว แต่พระสงฆ์มีลักษณะเช่นนั้นหรือ? ดีแต่สอนตัวเองไม่ทำหมายความว่าอย่างไร? สิ่งที่พระนำมาสอนนั้น เป็นการทำหน้าที่ของฑูตอ่านพระราชสาส์น เพราะคำสอนเป็นของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ นำมาบอกกล่าวให้ทราบเท่านั้น พระจึงทำหน้าที่เหมือนราชฑูตอ่านพระราชสาส์น


ข้อว่าดีแต่สอน หากท่านทำได้ก็ควรอนุโมทนา เพราะเราหาพระที่สอนได้ดีๆยากมาก แม้ท่านทำได้เพียงระดับนี้ก็ควรยินดีแล้ว ข้อที่ว่าตัวเองไม่ทำนั้น เป็นการกล่าวหาแบบไม่มีเหตุผล คนที่ทำเช่นนั้น ทำอย่างพระสอนได้ใหม? อย่ากินอาหารตอนเย็นไม่ต้องมากหรอก เดือนละ 4 ครั้งเท่านั้น รักษาศีล5 ให้ได้ เหล่านี้พระทำได้นะ หากชาวบ้านทำได้จากส่วนน้อยนิดที่พระสอน และทำได้ดังที่กล่าวนั้น น่าจะเป็นการพอแล้ว
สำหรับชีวิตของการครองเรือน


เรื่องศาสนานั้นไม่ใช่นั่งดื่มเหล้าแล้วพูดเรื่องนิพพาน แต่เป็นเรื่องที่คนทุกคนจะต้องตรวจสอบตนเอง แล้วปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะที่ตนเป็น จึงจะได้รับผลประโยชน์จากศาสนา

คำกล่าวหาศาสนาในลักษณะนี้หรือลักษณะอย่างอื่น หน้าที่ของพระหรือชาวพุทธก็ตามควรทำเพียงไม่โกรธแค้นเมื่อเขากล่าวตำหนิ ไม่หลงดีใจเมื่อเขายกย่องสรรเสริญ เขาพูดถูกยอมรับเขา เขาเข้าใจผิดชี้แจงให้เข้าใจ เชื่อหรือไม่เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่ควรหวังผลเลิศอะไรในเรื่องนี้.




พระพุทธศาสนาล้าสมัยจริงหรือ?

ปุจฉา: ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยสนใจในพระพุทธศาสนาและผู้ที่สนใจอยู่แล้วได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง คนที่ไม่สนใจพระพุทธศาสนาบางคนคิดว่าไม่จำเป็นบ้าง อายบ้าง พระพุทธศาสนาล้าสมัยบ้าง?

วิสัจฉนา: ปัญหาข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อก่อนจึงจะตอบในประเด็นที่แตกต่างออกไปการสร้างความสนใจในพระพุทธศาสนาเหมือนกับการสร้างความสนใจในเรื่องอื่นๆ จำเป็นจะต้องมีวิธีการและหลักการในการดำเนินงานเพื่อเรียกร้องความสนใจ การยอมรับ นับถือ ในสิ่งนั้นๆ

เป็นเรื่องปกตินิสัยของคนประการหนึ่งคือการให้ความสนใจในเรื่องของคนอื่นเรื่องที่ไกลจากตัวเช่น เรื่องข่าวสารการเมืองคนไทยมีความรอบรู้ ในด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญเมืองสำคัญของฝรั่งมากกว่าประวัติศาสตร์ของไทยเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

เพราะนอกจากจะเป็นปกตินิสัยดังกล่าวแล้วคือ ความต้องการฐานะที่สังคมยอมรับนับถือว่าเป็นคนมีความรอบรู้ในด้านต่างประเทศ ข้อนี้พึงให้เห็นได้ง่ายๆเช่นครูสอนภาษาไทย หายากมากกว่าครูสอนภาษาอังกฤษเพราะคนมีความรู้สึกว่า "สอนภาษาอังกฤษโก้เก๋กว่า แสดงว่าเป็นผู้มีความรอบรู้อย่างแท้จริง"

ศาสนาพุทธมีลักษณะเดียวกับภาษาไทยคือเกิดมาถึง ก็เป็นชาวพุทธกันตามสำมะโนครัวแล้ว คนไทยจึงเป็นชาวพุทธโดยกำเนิดกันเป็นส่วนมาก ว่านโมกันได้ตั้งแต่เป็นเด็กๆ แต่ไม่ทราบว่า ว่าไปทำไม และหมายความว่าอย่างไร พระพุทธศาสนาจึงคุ้นเคยกับคนไทยอย่างที่เรียกว่าเป็นคนกันเอง มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีคนมาถามเรื่องพระพุทธศาสนากลับตอบไม่ได้เหมือนอะไร?

เหมือนเพื่อนที่เคยคุ้นเคยกันมาก เรียกชื่อเล่นกันมาจนชิน พอเอาเข้าจริงไม่ทราบว่าชื่อจริงๆของเพื่อนชื่อว่าอย่างไร ปกตินิสัยเหล่านี้จะเห็นว่ามีทั่วไปในโลก คนอเมริกาที่สนใจทางศาสนาอาจทราบหลักธรรมในพระพุทธศาสนาดีกว่าคนไทยบางคนเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันคนไทยบางคนอาจทราบเรื่องศาสนาคริสต์ดีกว่าพวกฝรั่งบางคน "เมื่อความจริงอันเป็นปกตินิสัยของคนเป็นอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไร?

นอกจากเหตุผลที่กล่าวในข้อก่อนแล้วการแผยแพร่ศาสนาธรรมในปัจจุบันได้ทำกันอย่างกว้างขวางและจริงจังมากทีเดียว แต่ผลกลับไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือทางศาสนาพิมพ์ 2,000 เล่ม ขาย 2ปี ไม่หมด ตรงกันข้ามกับหนังสือกำลังภายในของจีนขายได้แต่ละวันเป็นหมื่นๆเล่ม อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกต่างเช่นนี้?

เป็นเรื่องของจิตที่เกิดมาจากเรื่องเหล่านั้น หมกมุ่น ครุ่นคิดแต่ในเรื่องกาม กิน นอน การไหลไปของจิตในเรื่องนั้นจึงเป็นไปได้ง่าย เพราะเป็นธรรมชาติ แต่หลักธรรมในศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น คำสอนในศาสนาเป็นความจริงตามธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกัน พยายามที่จะดึงคนให้สามารถทวนกระแสธรรมชาติบางอย่าง ตลอดถึงเรียนรู้เหตุผลหาประโยชน์จากธรรมชาติจนถึงอาจควบคุมธรรมชาติและอยู่เหนือธรรมชาติได้
ในที่สุด


เป็นการฝืนความรู้สึกปกติของคนจนบางคน ขนาดขยาดความยากของพระพุทธศาสนากลัวว่าจะถูกบังคับในด้านต่างๆ กลัวว่าหากการศึกษาและปฏิบัติธรรมจะกลายเป็นคนแก่ ต้องเข้าวัดหมดสนุก จนถึงไม่รวยเป็นต้น จนถึงกับมีคำพูดในหมู่คนบางพวกว่า "ไม่โกงไม่รวย อยากรวยต้องโกง"

ความคิด คำพูดเช่นนี้เป็นการหลงประเด็นแห่งชีวิตอย่างแรง เพราะกำหนดค่าของความร่ำรวยกันด้วยวัตถุเพียงประการเดียว การจะสร้างความใส่ใจ สนใจ ในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ อาจทำได้ด้วย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อความสนใจในธรรม และนำคนไปสู่หายนธรรมของความเป็นมนุษย์

ให้การอนุเคราะห์ ส่งเสริม ยกย่อง ผู้ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมทั้งในด้านวัตถุและกำลังใจ ให้ความหวังแก่เขาเหล่านั้นว่า ผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม จะได้รับการยกย่อง และได้รับความสุขตามสมควรแก่การปฏิบัติ

เหล่านี้เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันระหว่างฝ่ายบ้านเมือง สังคม ศาสนา ในด้านศาสนาจักรโดยตรงนั้นจะต้องตระหนักถึงงานอันเป็นภาวะของตนว่า ศาสนาทายาทที่ดีนั้นควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์แก่สังคมอย่างไรบ้าง โดยยึดหลักที่ว่า "พระสงฆ์คือหมู่ชนที่ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและสอนบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามด้วย" เป็นประการสำคัญ

เส้นทางใดที่บุรพาจารย์ได้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนก็ให้ดำเนินการไปตามนั้นเช่น ทำวัดในพระพุทธศาสนาให้สมนามว่า อาราม อันแปลว่า สถานที่ทำให้สบายใจ ด้วยการสร้างความงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สะอาด ให้เกิดขึ้นในอาราม

สร้างบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นตัวอย่างในทางความประพฤติและมีขีดความสามารถในการสอนธรรม อันอาจดึงดูดคนเข้าวัด เข้าหาพระและฟังธรรมได้ ละเว้นการกระทำในลักษณะที่ทำให้คนหลงทางด้วยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าเป็นวัตถุมงคลให้น้อยลง หากจำเป็นจะต้องมีสิ่งนั้นๆ ควรแนะนำให้เขาทราบว่า ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดได้หากมีธรรมะ ซึ่งอาจจะสอดแทรกธรรมะเข้าไปตามควรแก่ฐานะของบุคคล

สร้างส่งเสริมการศึกษาของศาสนาและทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อผลิตศาสนาทายาทที่มีความสามารถเหมาะสมแก่กาล สมัย สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปจน คนเข้าวัด ไม่มีความรู้สึกว่า ตนต้องฟังคนที่มีความรู้น้อยกว่าตนสั่งสอน

งานเหล่านี้พูดไปก็เหมือนความฝัน อันที่จริงนั้นผู้รับภาระของชาติ ศาสนา ตระหนักถึงปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่ติดอยู่คือ "คนเป็นไม่อยากทำ ไม่มีเวลาทำ เพราะท่านเป็นกันมากจนทำไม่ไหว คนไม่ได้เป็นอะไรก็อยากทำกัน พอเป็นเข้าจริงๆก็หมุนเข้าวัฏฏจักรแห่งชีวิตเดิม คือ ไม่ทำ ไม่อยากทำ ไม่ได้ทำ ทำไม่ทัน จนถึงทำไม่เป็น"

แต่ท่านก็อยากเป็นกัน คนประเภทนี้มีมากเสียด้วยไม่ว่าในทางบ้านเมืองหรือทางศาสนาก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนเหมือนกันก็อดจะทิ้งความเป็นคนไม่ได้หากคนพยายามลดความอยากเป็นให้น้อยลง พยายามทำงานอันเป็นหน้าที่ของตนให้มากขึ้น ด้วยการรับงานเฉพาะที่ตนทำได้ และทำได้ดีเท่านั้น อะไรๆก็คงจะดีขึ้นกว่านี้มากทีเดียว.

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวพุทธไทยสมัยใหม่มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง

ปุจฉา: ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวพุทธไทยสมัยใหม่มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง ไม่เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาทำให้ประเทศไทยไม่เจริญเท่าฝรั่ง พระพุทธศาสนาทำให้เพ้อฝันเพราะสอนให้มักน้อยสันโดษ?

วิสัจฉนา: เรามีคำประโยคหนึ่งว่า "คนต้องนำ สัตว์ต้องต้อน" อันเป็นการแสดงปกติของคนกับสัตว์ซึ่งแตกต่างกัน เราต้องการให้สัตว์เดินไปทางใด ก็ต้องต้อนให้เดินไป แต่คนทำอย่างนั้นไม่ได้ คนต้องอาศัยการนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำด้วยการปฏิบัติ แม้ในหมู่สัตว์ก็มีลักษณะอย่างนั้นคือว่าสัตว์จะต้องเดินไปตามจ่าฝูงหัวหน้าตลอดไป

ปัญหาเรื่องผู้นำทางศีลธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญมาก ในการที่จะนำสังคมไปสู่ทิศทางที่สังคมต้องการ ข้อนี้ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ว่า "เมื่อโคว่ายน้ำข้ามฟากไปอยู่ หากโคจ่าฝูงว่ายไปตรงโคทั้งฝูงก็ว่ายไปตรงด้วย หากจ่าฝูงว่ายไปคดโคทั้งฝูงก็ว่ายไปคดตาม"

ในสังคมของคนก็เหมือนกัน คนใดได้รับสมมติให้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าหมู่ หากคนนั้นประพฤติธรรม คนทั้งปวงก็พลอยประพฤติธรรมตาม หากว่าหัวหน้าไม่ประพฤติธรรมคนทั้งหลายก็ไม่ประพฤติธรรมตามไปด้วย

แต่สภาพสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างไร? การไม่ยอมรับนับถือคุณค่าทางศีลธรรม ได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตของเยาวชน แม้ว่าบางคนจะตระหนักถึงความจำเป็นทางด้านศีลธรรม

แต่ทำไปในลักษณะมือถือแก้วเหล้าปากพร่ำสอนเยาวชนให้เห็นโทษของการดื่มเหล้าและคนเหล่านั้นมีอยู่ไม่น้อยที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆที่ถือกันว่าเป็นผู้มีเกียรติ

คนสมัยใหม่ไม่ใช่เป็นคนเลวร้ายอะไร กลับเป็นคนดีที่มีเหตุผล เขาพร้อมที่จะรับฟังเหตุผลที่แสดงออกไปแล้ว ไม่ทำให้เขาเห็นว่าขัดแย้งกันกับการกระทำของผู้ที่เดินไปข้างหน้าเขา การคิดจะแก้ไขปัญหานี้จึงขึ้นอยู่กับการสร้างปัจจัยทางสังคมในลักษณะที่ให้คนสมัยใหม่ๆเห็นคุณค่าทางศีลธรรมจนสามารถปรับสภาพจิตให้เกิด "การยอมรับ นับถือ เชื่อฟัง และศรัทธา ที่จะทำตาม"

หากต้องการให้เกิดผลที่ตนต้องการก็ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวซึ่งมีบบทบาทอย่างสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของเยาวชน

การจัดการศึกษาในเรื่องศาสนาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของนักเรียน คือเรียนไปแล้วใช้ได้ทันทีเหมือนเรียนวิชาสุขศึกษา ว่าด้วยการอาบน้ำ ชำระฟัน กินอาหารสะอาด เป็นต้น ซึ่งเมื่อพูดไปแล้ว ผู้ฟังเกิดเห็นจริง เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นการยกย่องคนทำความดีที่ถูกต้องตามหลักของศีลธรรม กฎหมายให้ปรากฏ เป็นต้น

เมื่อทำเช่นนี้แล้วความสนใจที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมก็จะติดตามมา ความคับใจข้องใจในระบบคำสอนบางประการดังที่ยกตัวอย่างมานั้น เกิดขึ้นเพราะขาดการศึกษาโดยเหตุผลของศาสนา

เมื่อคนในสังคมได้รับการปรับทัศนคติทางศีลธรรมจากจุดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเขาไม่เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจในหลักการและวิธีการของศาสนา อย่าลืมว่า พัฒนาการทางจิตย่อมมีความสำคัญกว่าพัฒนาทางด้านวัตถุ แต่หากจะทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่ายย่อมเป็นการดียิ่งขึ้น

การที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้นให้เข้าใจว่าไม่ใช่เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แต่เพราะปัจจัยหลายอย่างที่ร้ายแรงที่สุด "คือการละเลยศีลธรรมในศาสนา อันออกผลมาเป็นการคอร์รัปชั่น อบายมุขในรูปแบบต่างๆ อาชญากรรม

ซึ่งแต่ละอย่างหากคนสนใจและปฏิบัติตามหลักธรรมในศาสนาแล้วจะไม่เกิดขึ้นเลย และประเทศไทยจะเจริญมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเป็นความเจริญอย่างมีสัดส่วนระหว่างวัตถุกับจิตใจ ไม่เป็นความเจริญแต่วัตถุแต่จิตใจต่ำซึ่งเป็นความเจริญแบบคนปัญญาอ่อน.

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวบ้านเข้าวัด

ปุจฉา: ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวบ้านเข้าวัด ไม่เบื่อวัด หรือเข้าใจผิดในการเข้าวัดเหมือนในขณะนี้?

วิสัจฉนา: เอคำถามนี้ออกจะชอบกลอยู่นาไม่เข้าใจว่า ผู้ถามมีความเข้าใจคำถามของตนอย่างไรบ้าง เพราะว่าโดยปกติแล้วคนที่เข้าวัด ย่อมไม่เบื่อวัด การที่เขาพยายามสละกิจการงานของตนไปวัด เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าเขามิได้เบื่อวัด ถ้าเขาเบื่อเขาก็ต้องไม่เข้าวัด การที่เขาเข้าวัดแสดงว่าเขาไม่เบื่อการกระทำมีการยืนยันความรู้สึกอยู่ อย่างนี้จะให้เขาเข้าว่าอย่างไร?

ในกรณีของคนบางคนที่แสดงออกมาว่าตนเบื่อวัดไม่อยากเข้าวัดนั้นอาจจำแนกออกได้หลายพวก เช่น

  • พวกที่พูดเพื่อแสดงว่าตนนั้นดีวิเศษเหลือเกิน วัดเป็นสถานที่ไม่คู่ควรแก่การเข้าไปของตนจึงบอกว่าตนเบื่อวัด
  • พวกที่ไม่พร้อมจะเข้าวัดเพราะการงาน หรือเพราะการอยากสนุกเป็นต้นแต่หากจะอ้างอย่างนั้นทำให้มีข้อโต้แย้งได้ จึงโยนความไม่ดีไปให้วัดเป็นทำนองว่า ที่จริงฉันนะมีศรัทธาในศาสนามากอยากเข้าวัด เมื่อก่อนเคยเข้าประจำแต่เห็นความไม่เหมาะสมไม่ควรภายในวัด จึงเบื่อไม่อยากเข้าว่าเขานั่น พวกนี้คือองุ่นเปรี้ยวอย่างที่รู้ๆกัน
  • พวกหนึ่งนั้นเป็นคนมีอัธยาศัยประณีตเข้าไปในวัด เห็นความไม่เรียบร้อย เช่นการวางตัวไม่เหมาะสมของผู้ที่อยู่ในวัด วัดขาดความเป็นระเบียบสกปรกรกรุงรัง การเรี่ยไรหลายรูปแบบที่น่าเลื่อมใสบ้าง ไม่น่าเลื่อมใสบ้างซึ่งส่วนมากแล้ว ไม่น่าเลื่อมใสการขัดแย้งผลประโยชน์กันในด้านต่างๆของพวกที่ไม่เข้าถึงหลักอันแท้จริงของศาสนาตลอดถึงการอรรถาธิบายธรรมออกนอกแนวทางพระศาสนาเป็นต้น

เนื่องจากเป็นคนรักพระศาสนาปรารถนาที่จะเห็นความเรียบร้อย สวยงาม เหมาะสมแก่ศาสนาสถานและศาสนาบุคคล เมื่อไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการจึงเกิดอาการเบื่อหน่ายไม่ต้องการที่จะเข้าวัด คนประเภทนี้เป็นพวกที่ควรแก่การสนใจที่สุดการจะแก้ไขนั้นอาจทำได้ด้วย

  1. หากสำนึกว่าศาสนานั้นไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาที่จะต้องร่วมกันแก้ไข การปลีกตนออกไปจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ควรร่วมมือกันแก้ไขด้วยเหตุผลและวิธีการที่เหมาะสม
  2. คนที่อยู่ภายในวัดต้องสำนึกว่าตนเองเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ทางศาสนาต้องพฤติตนและกระทำการต่างๆ ในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบให้ดี
  3. พยายามอย่าใช้วิธีกล่าวโจมตีหรือเกณฑ์ให้คนนั้นคนนี้ทำเพียงอย่างเดียว ใครมีความรับผิดชอบศาสนาใด จุดใด ควรทำหน้าที่ของตนให้ดีตามควรแก่ฐานะนั้นๆ

อย่าลืมว่าปัญหาที่เกี่ยวกับชาติศาสนานั้น เป็นปัญหาร่วมกัน การจะแก้จึงควรร่วมมือกันแก้ การถือว่าธุระไม่ใช่หรือชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ ไม่ควรใช้ไปทุกกรณี หากทำได้เช่นนี้ผลดีจะเกิดขึ้นแต่อย่าเล็งผลเลิศจนถึงกับ "ต้องการจะให้ทุกคนที่นับถือศาสนาพุทธเข้าทำบุญในวัด เพราะเป็นไปไม่ได้และไม่มีความจำเป็นมากขนาดนั้น ขอเพียงให้คนสนใจในศีลธรรมปฏิบัติตามศีลธรรมกันตามควรแก่ฐานะก็เป็นเพียงพอแล้ว"

ศาสนาพุทธกับการกินเหล้า

ปุจฉา: คนไทยเป็นชาวพุทธเกือบทั้งประเทศแต่ทำไมจึงมีคนดื่มเหล้ากันมาก และมีขโมยมาก ข้อนี้แสดงว่าศาสนาพุทธยังไม่ดีจริง?

วิสัจฉนา: อ้าว ทำไมว่าอย่างนั้นละ? ไม่ขาดเหตุผลไปหน่อยหรือ? เรื่องคนไทยในประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนากันเกือบทั้งประเทศนั้นจริงอยู่ แต่เราไม่ควรลืมว่าการลักขโมยก็ดี การดื่มสุราก็ดี เป็นข้อห้ามในพระพุทธศาสนา

การที่คนไม่ทำตามศาสนาที่ตนนับถือ เราจะถือว่าเป็นความผิดของคนหรือศาสนาละ? ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างดังนี้ ภายในแผ่นดินนั้นมีทรัพยากรอันมีค่ามหาศาล ใครๆก็ทราบ แต่ไม่มีใครนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คนคงยากจนขัดสนเหมือนเดิม เราจะถือว่าการที่คนยากจนนั้นเป็นความผิดของแผ่นดินหรือ?

เรื่องข้อห้ามทางศาสนาและคำสอนในทางศาสนาก็เช่นเดียวกัน ศาสนาและผู้เผยแผ่ศาสนา ทำได้เพียงชี้ทางแห่งความเสื่อมและความเจริญให้เหมือนหมอตรวจโรคพบสมุฏฐานแล้วจ่ายยาให้แก่คนป่วยกำหนดให้รับประทานตามขนาดตามเวลา แต่คนป่วยกลับไม่นำพา เมื่อเขาไม่หายจากโรคหรืออาการของเขาหนักขึ้น เราจะถือว่าเป็นความผิดของหมอของยาหรือ?

เรื่องศาสนาดีจริง แต่ผลเสียทางสังคมที่ออกมานั้นเป็นเพราะ "คนทำดีไม่ถึงหลักของศาสนา แม้เพียงศีล 5ประการก็มีคนรักษาได้น้อย" ปัญหาเรื่องอาชญากรรมต่างๆนั้น สาเหตุของปัญหามีหลายด้าน เราจะพุ่งไปที่ด้านใด ด้านหนึ่งไม่ได้ เช่นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เป็นต้น การแก้จึงควรแก้ในหลายๆด้าน และต้องมีการร่วมมือประสานงานกัน ไม่ใช่มาคอยนั่งค่อนขอดนินทากันอยู่ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ใครเลย

ชาวพุทธเป็นคนเกียจคร้านหรือไม่

ปุจฉา: ชาวพุทธเป็นคนเกียจคร้าน ไม่จริง คือไม่เอาจริง

วิสัจฉนา: ความเกียจคร้านเป็นสัญชาติญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ต้องการความสะดวกสบาย กิน นอน เที่ยว อยากได้อะไรก็ขอให้ได้มา โดยไม่ต้องใช้ความเพียรพยายาม จนเกิดเป็นลัทธิสวดอ้อนวอน บวงสรวง ขอในสิ่งที่ตนต้องการจากสิ่งที่ตนเคารพนับถือ แม้ว่าคนเจริญมาถึงมีศาสนา การขอร้องอ้อนวอนก็ยังมีอยู่

แม้ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นอันมาก เช่นเครื่องคิดเลข ก็เป็นการผลิตขึ้นเพื่อสนองความต้องการสะดวกสบายของคน เมื่อความเกียจคร้านเป็นสัญชาติญาณปกติของคน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะนำมาเกี่ยวกับศาสนาใด เพราะคนเกียจคร้านมีทุกศาสนา แต่คำสอนให้คนเกียจคร้านไม่มีในศาสนาของโลกทุกศาสนา

ดังนั้นในด้านของความเป็นจริงแล้ว เราต้องยอมรับว่าทุกศาสนาสอนให้คนช่วยตนเองมีความหมั่นขยัน เสียสละ เป็นต้น

หากคนในศาสนานั้นๆจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ศาสนาได้สั่งสอนไว้ ก็เป็นเรื่องของคนไม่เกี่ยวกับศาสนาแม้แต่นิดเดียว

พุทธศาสนิกชนโง่หรือฉลาดที่ไปกราบไหว้อิฐ ปูน ต้นไม้

ปุจฉา: พุทธศาสนิกชนโง่หรือฉลาดที่ไปกราบไหว้อิฐ ปูน ต้นไม้ และการกราบไหว้พระพุทธรูปจะจัดเข้าในประเภทบูชารูปเคารพหรือไม่ ถ้าไม่ ต่างกันอย่างไร?

วิสัจฉนา: ความโง่ฉลาดของคนนั้นไม่ได้วัดกันด้วยการกระทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่ต้องมองกันในหลายๆด้านด้วย คนเรานั้นอาจฉลาดในเรื่องหนึ่ง แต่กลับโง่อย่างหนักในอีกเรื่องหนึ่งก็ได้


หากอิฐ ปูน เป็นซากของสถานที่สำคัญ เช่นสังเวชนียสถานก็แสดงว่าเขาไม่ได้ไหว้ อิฐ ปูน แต่ไหว้เพราะอาศัยอิฐปูนนั้นเป็นสื่อ ให้น้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์เช่นเดียวกับการไหว้พระพุทธรูป เจดีย์ อื่นๆ

หากเป็นการไหว้ อิฐ ปูน ธรรมดา นึกไม่ออกว่าใครจะไปไหว้ทำไม? ถ้าจะว่าเป็นกรณีของพระพุทธปฏิมาที่สร้างด้วยอิฐ ปูน ในขณะไหว้ใครคิดว่าตนเองไหว้อิฐปูน ก็ต้องจัดว่าเป็นบรมโง่ทีเดียว

พระพุทธรูปไม่ว่าจะสร้างขึ้นด้วยอะไร ก็ตามรวมถึงพระเจดีย์ไม่ว่าจะเป็นธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ บริโภคเจดีย์หรือ อุทเทสิกเจดีย์ก็ตาม ล้วนแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เวลาไหว้ใจคนจะน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าโดยอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องกระตุ้นให้ระลึกถึง

ทำไมจึงต้องสร้างเป็นรูปวัตถุเช่นนั้น?
เพราะพระพุทธคุณเป็นนามธรรม โดยหลักทั่วไปแล้วการระลึกถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมล้วนๆ สำหรับคนทั่วไปแล้วทำได้ยาก เหมือนระลึกถึงคุณของพ่อแม่ หากจะมีรูปท่านอยู่ด้วยจะให้ความรู้สึกแปลก คือ ให้ความซาบซึ้งมากกว่าที่จะคิดถึงในเชิงนามธรรมล้วนๆ


แต่เมื่อว่าตามความจริงแล้วคนหาได้คิดอยู่เพียงรูปถ่ายของท่านไม่ รูปถ่ายท่านเป็นเพียงสื่อให้คิดได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง เรื่องการกราบไหว้พระพุทธรูป เจดีย์ ที่สร้างด้วยอะไรก็ตาม ผู้ไหว้หาได้ติดอยู่เพียงรูปเหล่านั้นไม่ รูปเหล่านั้นจึงทำหน้าที่เป็นสื่อทางจิตเพื่อได้อาศัยรำลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธคุณ

ด้วยเหตุนี้การกราบไหว้พระพุทธรูป จึงไม่เหมือนการไหว้กราบรูปเคารพอย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน ทำไมจึงไม่เหมือนกัน? เพราะพวกสร้างรูปเคารพนั้น ผู้ที่ตนนำมาสร้างเป็นรูปไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงเป็น แต่คิดฝันขึ้น บอกเล่าสืบต่อกันมา ส่วนมากจะเกิดขึ้นจากพวกที่ต้องการประโยชน์จากความนับถือรูปเคารพเหล่านั้นของคนทั้งหลาย คนนับถือรูปเคารพจึงนับถือเพราะ "ความไม่รู้ จึงเกิดความกลัว" การไหว้รูปเคารพจึงเป็นการกระทำเพื่อ

  1. ประจบเอาใจรูปเคารพเหล่านั้นไม่ให้ท่านโกรธ
  2. ต้องการอ้อนวอน บวงสรวง ให้ท่านประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ตนต้องการและพิทักษ์
    รักษาตน พร้อมด้วยบุคคลที่ตนต้องการให้รักษา

แม้ว่าบุคคลบางคนจะไหว้พระพุทธรูป เพื่อต้องการขอสิ่งที่ตนต้องการอยู่บ้างแต่ไม่มีลักษณะของการประจบเอาใจต่อพระพุทธรูป เพื่อไม่ให้ท่านโกรธอย่างที่พวกนับถือรูปเคารพกระทำกัน พระพุทธรูปจึงไม่เหมือนกับรูปเคารพอย่างที่บางคนเข้าใจกัน

พระอรหันต์มีจริงหรือไม่

ปุจฉา: พระอรหันต์มีจริงหรือไม่ บางคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องปั้นขึ้นเพื่อให้คนเห็นเป็นอัศจรรย์แล้วเลื่อมใสในศาสนา?

วิสัจฉนา: อ้าวทำไมพูดอย่างนั้นละ? การพูดเช่นนี้ออกไม่ค่อยดีนัก สำหรับคนที่ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกเพราะว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลที่บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนามีตัวอย่างบุคคลผู้ใด้บรรลุในระดับนี้ให้รู้ให้เห็นกันในประเทศต่างๆ ไม่ใช่มีเฉพาะอินเดียประเทศเดียวเท่านั้น


การพูดในทำนองปฏิเสธจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้อที่ปฏิเสธว่าไม่มีสมณะ พราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบ อริยุปวาท คือการกล่าวตู่พระอริยเจ้าไม่เป็นมงคลเลยจริงๆ แต่เอาเถอะ เมื่ออ้างว่าเป็นคำกล่าวของคนอื่นจะได้ให้ข้อสังเกต เพื่อเป็นเครื่องพินิจพิจารณาด้วยการอาศัยสติปัญญาระดับธรรมดาๆก็จะเกิดความเข้าใจและยอมรับ

ความเป็นพระอรหันต์ท่านกำหนดกันด้วยอะไร?
ความเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านกำหนดเอาที่ความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ จนสามารถละสังโยชน์คือกิเลสที่ผูกใจสัตว์ออกได้สิ้นเชิงคือ

  • ละความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน
  • ความลังเลสงสัยในเรื่องต่างๆ
  • การถือเรื่องขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ อย่างขาดเหตุผล
  • ความกำหนัดรักใคร่ในรูปเสียงเป็นต้น
  • ความไม่พอใจกระทบกระทั่งทางใจ
  • ความหลงติดในรูปธรรมและรูปฌาน
  • ความยึดติดในนามธรรมและอรูปฌาน
  • ความถือตัวถือตนยกตนข่มท่าน
  • ความคิดพล่านขาดความสงบทางจิต
  • ความหลงงมงายไม่รู้จริง

ให้สังเกตว่าสังโยชน์เหล่านี้ แม้แต่คนธรรมดาความรู้สึกในลักษณะต่างๆที่กล่าวมานี้ไม่ได้ครอบงำบังคับจิตใจคนอยู่ตลอดเวลา คนธรรมดาๆจึงมีความรู้สึกเหล่านี้มากน้อยแตกต่างกัน เมื่อบุคคลเหล่านี้หันมาฝึกฝนจิตไปตามหลักที่ทรงแสดงไว้จะพบว่าท่านเหล่านั้นมีความรู้สึกเช่นนั้นเบาบางลง

ผิดจากสามัญชนลงไปมากซึ่งอาจสังเกตได้ทั้งจากนักบวชและชาวบ้านที่ปฏิบัติธรรม หากท่านปฏิบัติไปตามหลักการและวิธีการที่ทรงแสดงไว้จึงไม่น่าสงสัยว่าท่านจะละกิเลสเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปไม่ได้

อีกประการหนึ่งหากว่ามรรคผลในพระพุทธศาสนาไม่มีอยู่จริงแล้ว นักปราชญ์ คณาจารย์ในสมัยพุทธกาลและสมัยต่อๆมาเป็นอันมาก คงไม่ยอมสละฐานะตำแหน่งของท่านมาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาหรอก

ในสายตาของชาวบ้านนั้น ความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติตำแหน่ง ยศ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกคน แต่ตามประวัติที่บันทึกไว้ในที่ต่างๆ ปรากฏว่าพระราชา เศรษฐีเป็นอันมาก ยอมสละความสุขในการปกครองเรือนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เขาจะสละทำไม หากไม่มีสิ่งทีดีกว่าสมบัติเหล่านั้น ?

พระอรหันต์เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติอย่างมีขั้นตอน ทรงแสดงไว้โดยละเอียดทั้งได้บอกผลที่คนจะพบเห็นได้ในระหว่างทางที่ก้าวเดินไป เพื่อความเป็นพระอรหันต์ คนที่ต้องการพิสูจน์จึงไม่ยากเย็นอะไรที่จะพิสูจน์ดูว่ามีจริงหรือไม่ "การปฏิเสธเรื่องอะไรก็ตามควรทำหลังจากตนที่ตนได้พิสูจน์ทดสอบตามกรรมวิธีที่
ท่านแสดงไว้เสียก่อน ไม่ใช่ทำแบบคนตาบอด
ปฏิเสธความมีอยู่ของสีต่างๆ โดยอาศัยเหตุเพียงตนไม่เห็นอย่างเดียวทำเช่นนั้นออกจะไร้เหตุผลมากไป"

จากอดีตกาลถึงปัจจุบัน คนระดับปัญญาชนในประเทศต่างๆได้สละความสุขส่วนตนเพื่อมุ่งผลที่เกิดจากความสงบจากกิเลส ไม่อาจจะนับจำนวนได้ หากท่านไม่ได้สัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งความสงบบ้างแล้ว ท่านคงไม่ทรมานกายให้ได้รับความลำบากอยู่หรอก

พระอรหันต์นั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์พระองค์แรกในพระศาสนานี้ การปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะอาสวะทั้งหลายที่พระอรหันต์ควรละได้ พระองค์ทรงละได้แล้ว ถือเป็นเวสารัชญาณคือพระญาณที่ทำให้พระองค์ทรงกล้าหาญปฏิญาณตนออกไปเช่นนั้นประการหนึ่ง

ในโลกนี้ไม่มีใครน่าเชื่อถือมากกว่าพระพุทธเจ้า หากไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ทราบว่าควรจะเชื่อใครได้อีกแล้ว

พระพุทธศาสนานั้นไม่มีเหตุผลอันใดที่ต้องปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาหลอกคน หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็น
เอหิปสสิโก คือ เชิญชวนให้มาพิสูจน์ทดสอบได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะโดยใคร? ที่ไหน? เมื่อไร? ย่อมพิสูจน์ได้เพราะว่าหลักธรรมนั้นเป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล คือ ไม่ถูกกำหนดด้วยกาลเวลาแต่ประการใด ขอเพียงแต่บุคคลได้โอปนยิโก น้อมนำพระธรรมมาปฏิบัติ โดยสมควรแก่ธรรมแล้ว เขาเหล่านั้นจะเข้าถึง
สนทิฏฐิโก คือ ประจักษ์ชัดซึ่งผลแห่งธรรมด้วยตนเอง เหมือนคนบริโภคอาหารแล้วรู้รสของอาหารด้วยตนเอง เพราะว่าพระธรรมนั้น เป็น ปจจตตํ เวทิตพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนจะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น
ความมีอยู่ของพระอรหันต์บุคคลก็อาจจะยอมรับนับถือเชื่อโดยวิธีดังกล่าวแล้วเช่นกัน

วัดไทยมีมากเกินไป สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร พระก็มีมากเกินไป ทำให้เป็นภาระหรือไม่

ปุจฉา: วัดไทยมีมากเกินไป แต่ละวัดก็ใช้เนื้อที่มากสำหรับสร้างวัด ทำให้ที่ดินสำหรับผลิตผลทางเศรษฐกิจสิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร พระก็มีมากเกินไป ทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากไม่เหมือนวัดคริสต์และบาดหลวง

วิสัจฉนา: เอากันอย่างนั้นเลยเชียวหรือ? วัดนั้นเป็นศาสนาสถานหรือศาสนาจักรเป็นสมบัติของสาธารณชนทุกคนเป็นเจ้าของวัดนั้นๆเพราะใช้ร่วมกันเหมือนกับสถานที่ราชการของฝ่ายอาณาจักร เป็นสมบัติของชาติบ้านเมือง จำนวนวัดเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของประชากรและประชาคมที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่กระจายออกไปมากขึ้นทุกที

เมื่อเราเทียบตามสถิติจำนวนประชากรกับพระสงฆ์แล้ว จำนวนพระกลับน้อยอย่างน่าวิตก ปัจจุบันวัดต่างจังหวัดเป็นอันมาก ที่พระจำพรรษาไม่ครบ ชาวบ้านต้องการทำบุญต้องเที่ยวนิมนต์พระกันหลายๆวัดจึงจะได้ครบตามที่ต้องการ จำนวนพระในเมืองไทยนั้นเราเคยพูดกันมานานแล้วว่าประมาณ 300,000 รูป อันเป็นสถิติภายในพรรษา

ปัจจุบันก็คงเป็นอย่างนั้นอยู่ ทั้งๆที่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นไปเป็นอันมากภาระในการบำรุงนั้น เมื่อเราเปรียบกับจำนวนประชากรแล้วจะพบว่าชาวบ้านประมาณ 200 คน รับภาระในการบำรุงพระเพียง 1 รูป เป็นงานที่ผู้มีศรัทธาและเห็นประโยชน์ในด้านนี้จะไม่มีความรู้สึกว่าหนักอะไรเลย

ในด้านที่ดินซึ่งเสียผลในด้านผลิตกรรมทางเกษตรเป็นต้นนั้น เมื่อวัดเป็นสาธารณ สถานทางศาสนาเป็นสมบัติของคนในชาติ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะพูดกันเพราะความเป็นชาตินั้นหาได้มีเฉพาะที่ทำกินเพียงอย่างเดียวไม่ เราต้องสร้างบ้าน ป่าสงวน สถานที่ทางศาสนา ราชการ ที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นต้น

วัดมีลักษณะของศาสนาสถาน ที่พักผ่อน ที่ประชุม สถานศึกษา จึงไม่น่าจะมาพูดในประเด็นนี้ ส่วนเรื่องวัดคริสต์ศาสนานั้น สำหรับเมืองไทยแล้วใช่ เพราะคนไทยนับถือคริสต์ไม่เกิน 300,000 คน ทั่วประเทศ หากต้องการจะเปรียบเทียบจริงๆ แล้วลองอ่านประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ก่อนการปฏิวัติสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ดูเถิด จะทราบว่าอะไรเป็นอะไร หรือจะดูประวัติศาสตร์ของประเทศยุโรปยุคกลางก็จะเข้าใจดียิ่งขึ้น.

พระทำไมจึงเดินสูบบุหรี่อันเป็นของเสพติดและมีเครื่องบำรุงกิเลส เช่น วิทยุ โทรทัศน์?

ปุจฉา: พระทำไมจึงเดินสูบบุหรี่อันเป็นของเสพติดและมีเครื่องบำรุงกิเลส เช่น วิทยุ โทรทัศน์?

วิสัจฉนา: เรื่องพระเดินสูบบุหรี่นั้นถือว่าเป็นมารยาทที่ไม่สมควร ท่านถือเป็นเรื่องควรตำหนิอันที่จริงพระอุปัชฌายะอาจารย์ ท่านก็อบรมตักเตือนสั่งสอนกันอยู่ การที่บางรูปยังมีการประพฤติอันไม่ควรอยู่ หากเราจะมองกันด้วยเมตตาจิตและเหตุผลแล้วก็จะได้หลักที่ควรสังเกตดังนี้

  1. พระเป็นลูกชาวบ้านที่มีพื้นฐานทางสังคมไม่ถือว่าการเดินสูบบุหรี่เป็นเรื่องเสียหายเป็นความเคยชินที่ติดมาจากสมัยเป็นฆารวาส ซึ่งส่วนมากพระที่ติดบุหรี่จะติดมาก่อนบวช ท่านบวชมาไม่นาน ย่อมไม่อาจละความเคยชินเช่นนั้นได้ เพราะศาสนาไม่ใช่บ่อทองที่พอคนลงไปในบ่อแล้วจะกลายเป็นทองไปทันที อย่างพระสังข์ทองแต่เป็นเรื่องที่ ค่อยๆขัดเกลากันไปจะทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความหยาบ ประณีตของนิสัยของแต่ละรูป
  2. ทางศาสนาเองไม่อาจจะสงเคราะห์เข้าในพระวินัยข้อใดข้อหนึ่งตามที่ทรงบัญญัติไว้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ หากจะจัดก็จัดเข้าในข้อว่าด้วย สุราเมรัย แต่โทษของบุหรี่ไม่ถึงกับเมรัย ซึ่งเป็นข้อห้ามขั้นต่ำสุดในด้านยาเสพติด ผิดกับยาเสพติดประเภทอื่น เช่น เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ซึ่งมีโทษมากกว่าเมรัย สุรา ท่านก็ห้ามไม่ได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้การรู้จักสำรวมระวังเป็นหน้าที่ของพระ การมองด้วยความเมตตาและเข้าใจในเหตุผลจึงเป็นเรื่องที่คนทั้งหลายควรมี ส่วนวิทยุและโทรทัศน์เป็นต้นนั้น เป็นปัญหาทางพระวินัยที่พระจะต้องสำรวมระวัง
เอาเอง การมีไว้ในครอบครองไม่ถือว่าเป็นความผิดเพราะหลักความจริงแล้ววิทยุโทรทัศน์เป็นสื่อสารมวลชนที่มีประโยชน์มาก

การฟังการดูของพระเป็นเรื่องที่ท่านต้องวินิจฉัยเอาเองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ท่านขืนดูขืนฟังในเรื่องที่ขัดกับพระวินัยท่านก็ต้องอาบัติเหมือนกับพระเดินไปบนถนน ผ่านสถานที่เป็นอันมาก ท่านต้องเลือกเอาเองว่าสถานที่ใดเข้าไปแล้วผิดพระวินัยหรือไม่ผิดพระวินัย

การจะห้ามมิให้พระออกไปนอกถนนเพราะถือว่ามีสถานที่ไม่เหมาะสมมาก ทำไม่ได้ฉันใดการห้ามพระไม่ให้มีวิทยุอันเป็นสื่อให้เกิดความรู้หรือเกิดบาปก็ได้ จึงไม่อาจทำได้ฉันนั้นตามหลักพระวินัยแล้ว "การดูการฟังอย่างไร มีความสำคัญกว่าการดูการฟังอะไร"อันวิสัยของบันฑิตนั้นอาจมองสาวๆกำลังนอนหลับให้เป็นซากศพไปได้แต่พาลชนอาจมองซากศพเป็นสาวๆไปได้เช่นเดียวกัน

สมณสัญญา คือการระลึกว่าตนเป็นสมณะแล้วปฏิบัติกระทำไปในทางที่เหมาะสมแก่สมณภาวะเป็นภาวะที่ภิกษุผู้บวชมาจะต้องตระหนักและใช้โยนิโสมนสิการด้วยตนเองนี้เป็นกรณียกิจของนักบวชในศาสนาต่างๆ

พระดีแต่เอาของชาวบ้านจริงหรือ

ปุจฉา: พระดีแต่เอาของชาวบ้าน ไม่ให้เขา ไม่เหมือนชาวคริสต์ที่พระเจ้าส่งไปให้เขา และพระไทยไม่มีความรู้ สู้บาดหลวงไม่ได้ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็นอย่างดี ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาลได้

วิสัจฉนา: ข้อนี้ไม่มีลักษณะเป็นคำถามแต่เป้นคำกล่าวหาในลักษณะที่มองในแง่ร้ายและมองไม่ตลอดสาย
ประเด็นแรกที่ว่าพระดีเอาของชาวบ้านนั้น อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่าเป็นการทำงานกันคนละหน้าที่ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้ปฏิญาณตนนับถือพระพุทธศาสนายอมรับในเงื่อนไขเหล่านี้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติต่อกันคือ

ชาวบ้านให้แสดง เมตตาทางกาย วาจา ใจ จะทำพูดคิดเกี่ยวกับพระสงฆ์ให้ทำพูดคิดด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง บำรุงด้วยปัจจัย ๔ และยินดีต้อนรับเมื่อท่านไปหาที่บ้านพระภิกษุสามเณรมีหน้าที่จะต้องทำคือ สอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยน้ำใจอันงามให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง บอกทางสุขทางเจริญให้

งานของพระจึงเป็นงานของผู้นำทางวิญญาณ สติปัญญา ธรรมะ แต่ในข้อที่ว่า "สงเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงามนั้น" จากอดีตถึงปัจจุบันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระไม่ได้เอาแต่ของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่พระได้ทำงานในลักษณะที่เป็นการสงเคราะห์สังคมด้วยน้ำใจอันงามในด้านต่างๆที่ไม่ขัดกับสมณภาวะเป็นอันมาก ขอเพียงใช้เหตุผลพิจารณาก็จะเห็นและทำใจให้ยอมรับได้ไม่ยากนักนอกจากใจจะเอียงจนไม่อาจมองเห็นความดีของคนอื่นได้ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้เหมือนกัน

สำหรับประเด็นที่ว่าไม่เหมือนชาวคริสต์ที่พระเจ้าส่งไปให้เขานั้นไม่เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไรกัน ถ้าจะหมายความว่าบาดหลวงในศาสนาคริสต์ช่วยคนในด้านรูปวัตถุพระสงฆ์ก็ทำเหมือนกันในด้านนี้ แต่ที่เราไม่ควรลืมคือระบบโครงสร้างทางศาสนาไม่เหมือนกันศาสนาคริสต์มีองค์การทำงานที่มีเงินทุนมหาศาล แม้ในเมืองไทยก็มีที่ดินจำนวนมาก ทรัพย์อันเป็นกองทุนนี้สามารถกระจายออกไปเพื่อทำงานในด้านต่างๆ รายได้จากโรงพยาบาล โรงเรียน ที่ดินและผลประโยชน์ด้านอื่น มีมากพอที่จะทำงานแบบสงเคราะห์ทางรูปวัตถุได้ซึ่ง หากเราจะดูในจุดใดจุดหนึ่งจะเห็นว่าทำได้มาก

ที่ไม่ควรลืมอีกประการหนึ่งคือเงินในลักษณะนั้น ของพระพุทธศาสนาไม่มี เพราะศาสนาพุทธมีโครงสร้างอีกอย่างหนึ่ง หากพระจะจัดผลประโยชน์แบบนั้นศาสนาพุทธก็ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะความรู้สึกยอมรับฐานะของชาวพุทธกับชาวคริสต์ต่อศาสนาของตนแตกต่างกัน

งานที่ศาสนาคริสต์ทำจึงเป็นงานที่ควรอนุโมทนา แต่อย่าลืมว่าในจำนวนประชากรประมาณ 45 ล้านคนนั้นนับถือศาสนาพุทธถึง 95% แต่นับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 3แสนคนเท่านั้นเอง (ปี 2534) เคยคิดกันหรือเปล่าว่า งานที่ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและฆราวาสทำต่อสังคม ในทางที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมในรูปแบบต่างๆนั้นมีมากมายขนาดไหน เพราะเราทำกันทุกวันและทำกันทั่วประเทศ

บัณฑิตที่แท้จริงนั้น เมื่อยอมรับความดีของคนอื่นได้ ก็ต้องรับความดีของอีกฝ่ายหนึ่งได้เช่นกัน การยกย่องหรือตำหนิใครโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้องนั้น บัณฑิตไม่ควรทำเพราะจะเป็นการสร้างความผิดซ้ำซ้อนขึ้นมาในวิถีชีวิตของตนโดยไม่จำเป็น

ประเด็นที่ว่าพระไทยไม่มีความรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็นอย่างดีนั้น เป็นลักษณะของคำกล่าวหาเช่นเดียวกับข้อก่อนๆ โดยไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ ว่าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนพระไทยนั้นมีความรู้ในเรื่องที่บาทหลวงควรรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าบาดหลวงก็รู้สู้พระสงฆ์ในเรื่องที่พระสงฆ์ควรรู้ไม่ได้ การกล่าวเปรียบเทียบในลักษณะนี้เหมือนเอาความรู้ของทหารกับตำรวจมาเปรียบเทียบกัน คนเขาเรียนมาคนละอย่างจะไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร

ประเด็นของการสอนนั้น คงลืมไปว่างานให้การศึกษาแก่กุลบุตร กุลธิดานั้นทางโลกเพิ่งนำมาจัดเองประมาณ๗๐ปีมานี้เอง เมื่อก่อนนั้นงานสอนทั้งหมดอยู่ในมือพระสงฆ์ทั้งนั้น พระสงฆ์ในปัจจุบันนั้นสำหรับท่านที่บวชมานานพอสมควรท่านก็สามารถสั่งสอนได้ในขอบข่ายของลักษณะวิชาอันท่านได้ศึกษามา

ทำไมจึงพูดว่าบวชมานานพอสมควรเล่า? เพราะเมื่อรักจะพูดเรื่องพระ เราต้องยอมรับความจริงในสังคมพระก่อน ว่าพระสงฆ์ในประเทศไทยมีโครงสร้างทางสังคมเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาหลงเพ้อฝันด้วยตัวเลขที่สร้าง
ขึ้นหลอกและปลุกปลอบตนเองว่าพระสงฆ์ในเมืองไทยมีจำนวน 300,000 รูป ซึ่งเป็นสถิติของพระในพรรษา ออกพรรษาแล้วจะเหลือถึง 230,000 รูปหรือเปล่าในจำนวนพระเหล่านั้น เราต้องยอมรับว่าในเมืองไทย เราใช้ระบบนำคนไม่รู้ศาสนาเข้ามาบวชเพื่อศึกษาหลักธรรมในศาสนาซึ่งเป็นการบวชแบบระบบหมุนเวียนส่วนมากแล้วจะหมุนวนอยู่ระหว่าง 7 วัน ถึง 3 เดือน มากที่สุด

ซึ่งเราจะหวังให้พระเหล่านี้ไปทำงานศาสนาคงเป็น 95% เมื่อเราตัดพระที่เป็นหลวงตาแก่ๆและท่านผู้เฒ่าซึ่งไม่สะดวกในการสอนหนังสือแต่ท่านอาจสอนด้วยการแนะนำสนทนากัน ตลอดถึงการเทศน์เป็นต้นออกไปแล้วเรามีพระไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมด ที่อาจทำงานในด้านการสอนหนังสือตามโรงเรียนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมพระจึงไม่สอนหนังสือในโรงเรียนเล่า ?

อันที่จริง พระเรานั้นอยู่ในฐานะที่พร้อมทั้งด้านความรู้ บุคคล ความตั้งใจความเสียสละ แต่เพราะค่านิยมในสังคม ที่คนบางพวกคิดว่าพระไม่รู้เรื่องศาสนา แม้แต่งานที่พระน่าจะทำ ก็จัดให้ครูที่ไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาโดยตรง ทำหน้าที่นี้เสียเองจนบางครั้ง การกำหนดหลักสูตรทางศีลธรรมของกระทรวงศึกษาธิการออกมาเชยๆ ในสายตานักธรรมะอยู่เสมอไป

แม้ในปัจจุบันก็มีอยู่หลายเรื่องสังคมปฏิเสธพระว่าพระไม่ควรจะสอนหนังสือเด็ก เพราะกลัวจะคลุกคลีกับศิษย์ โดยเฉพาะที่เป็นหญิง กระทรวงศึกษาธิการเองเคยดำริอยู่เสมอ ในการที่จะให้พระเข้ามีบทบาทในการ สอน แต่ถูกคัดค้านจากด้านต่างๆและความฝังใจในอดีตของตนเลยต้องระงับไปทุกคราว เมื่อปิดประตูไม่ให้พระแสดงความรู้ความสามารถในด้านการสอนเสียเช่นนี้แล้วก็มาตำนหนิว่าพระสอนไม่ได้เพราะไม่รู้ ใครไม่รู้กันแน่?

แม้ว่าจะถูกปิดประตูแบบนี้ก็ตามปัจจุบันนี้พระภิกษุสงฆ์ได้สร้างงานขึ้นด้วยการเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยพระธรรมวิทยาการโรงเรียนบาลีสามัญมีนักเรียนในความรับผิดชอบเป็นอันมาก แต่งานพระไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์จึงไม่ค่อยทราบกันกว้างขวาง ทำให้คนใจบอดคอยค่อนขอดอยู่เสมอว่าพระไม่ทำงานอะไรไม่มีความรู้จนถึงขี้เกียจก็ขอให้เป็นสุขๆเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

แม้ว่าพระจะไม่ได้สอนในโรงเรียนอย่างเมื่อก่อน แต่โรงเรียนที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ตาม ใครจะปฏิเสธเล่าว่าพระไม่ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างขึ้นและสนับสนุนในด้านต่างๆ โรงพยาบาลก็ทำนองเดียวกันโรงพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่ง พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเข้าไปมีบทบาทร่วมในการสร้าง การบำรุงมากบ้างน้อยบ้างทั่วประเทศไทย

อย่าลืมว่างานการสั่งสอนการรักษาพยาบาลโรคกายใจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้นยังเป็นงานหลักของพระอยู่แม้ในปัจจุบัน งานของพระก็คืองานของพระ งานของทหารก็คืองานของทหาร จะให้เหมือนกันย่อมไม่ได้ แม้งานของบาดหลวงที่ยกมาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ขอให้ทุกคนยืนอยู่ในจุดอันเป็นความรับผิดชอบของตนเองให้ดีเถิดและทุกอย่างในพระศาสนา ประเทศชาติ สังคมก็จะดีขึ้นเอง ที่เกิดยุ่งๆกันอยู่เพราะคนไม่ค่อยสนใจทำงานของตน แต่พยายามเกณฑ์ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้นั่นเอง

"หากคนมองตนให้มาก มองคนอื่นเพื่อเตือนตนพิจารณาตรวจสอบตนกันให้มาก" อะไรๆก็จะดีขึ้นไม่น้อยทีเดียว

พระบวชแล้วก็สึก ทั้งมีการสะสมสมบัติและไม่ทำมาหากินอะไร เกาะกินแต่ชาวบ้านจริงไหม?

ปุจฉา: พระบวชแล้วก็สึก ทั้งมีการสะสมสมบัติและไม่ทำมาหากินอะไร เกาะกินแต่ชาวบ้านจริงไหม?

วิสัจฉนา: เรื่องนี้จะจริงหรือไม่จริงนั้น ทุกคนมีสิทธิจะคิดจะพูดกันได้ แต่หลักความจริงก็คือความจริงที่วิญญูชนพิจารณาแล้วอาจเกิดความเข้าใจได้ไม่ยากนัก

ในกรณีของการบวชแล้วสึกนั้นเป็นการแสดงให้เห็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

  1. พระพุทธศาสนาเป็นเสรีนิยม คือคนเราเมื่อมีศรัทธาจะบวชก็บวชได้หากไม่เป็นคน ต้องห้ามตามพระวินัย เมื่อศรัทธาหย่อนลงไปหรือด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตามปรารถนาจะสึกออกไปก็ชอบที่จะทำได้ไม่มีการบังคับ วันหลังเกิดศรัทธาจะบวชอีกก็ทำได้อีกไม่มีการห้ามแต่ประการใด
  2. เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมไทย คือคนไทยนิยมว่าลูกผู้ชายทุกคนควรออกบวชจะมากหรือน้อยก็ตาม ยิ่งสมัยโบราณถือกันเคร่งครัดมาก แม้จะแต่งงาน รับราชการ ต้องผ่านการบวชมาเสียก่อน ค่านิยมแบบนี้มีเฉพาะประเทศไทย ลาว เขมร เท่านั้น
  3. การบวชและสึกเป็นเรื่องของระบบขับถ่าย อันแสดงถึงความมีชีวิตของสิ่งนั้นๆ เมื่อธรรมเนียมไทยมีเช่นนี้ ผู้บวชแล้วจะต้องสึกให้มากไว้ หากสึกแต่น้อยแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องที่อยู่ เพราะในแต่ละพรรษามีคนบวชเข้ามาจนเกือบจะไม่มีที่อยู่แล้วหากท่านเหล่านั้นไม่ยอมสึกสัก ๓ ปีเท่านั้นจะเกิดปัญหาทันทีเพราะคนรุ่นใหม่จะไม่มีโอกาสได้บวช ดีไม่ดีอาจถึงกับมีการเดินขบวนเพื่อให้พระสึกกันเพื่อให้คนอื่นมีสิทธิบวชกันบ้างก็เป็นได้
  4. การบวชแล้วสึกออกไปย่อมดีกว่าอยู่ไปในสมณเพศทั้งที่ไม่มีศรัทธา เพราะอาจจะไปทำอะไรเสียหายขึ้นมาก็ได้ เมื่อบวชทำตัวเป็นพระที่ดี สึกไปเป็นชาวบ้านที่ดี ไม่เป็นเรื่องเสียหายอันใดที่ควรแก่การตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย

ประเด็นที่ว่าพระมีการสะสมสมบัตินั้นเราต้องมองกันด้วยเหตุผลและความเข้าใจกว้างพอสมควร หมายความว่า ตัวอย่างบุคคลในเรื่องนี้มีมากพอที่เราจะกล่าวว่าพระสะสมสมบัติไม่ใช่เห็นคนไทยทำผิดสักคนแล้วจะพูดเหมาเอาว่าคนไทยเป็นคนเลวอย่างนี้ก็ไม่ถูกนัก พระสะสมสมบัตินั้นอาจมีสองกรณีด้วยกันคือ

  1. สมบัติที่คนเข้าใจว่าพระสะสมนั้นเป็นสมบัติของวัด ซึ่งท่านมีหน้าที่รักษารับผิดชอบจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี
  2. สิ่งที่ท่านสะสมนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวที่ได้รับจากการบริจาคของทายกทายิกาจะศรัทธามากนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนในความรับผิดชอบที่ต้องสงเคราะห์ด้วยอามิส คือปัจจัย ๔ นั้นมีมากเช่นเดียวกัน หากท่านไม่มีการเก็บไว้บ้างเพื่อการนี้เวลามีบุคคลจำต้องสงเคราะห์มาหาจะให้ทำอย่างไร?

อย่างไรก็ตามการสะสมในระดับนี้ แม้จะมีก็น้อยมาก เพราะว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นมักจะมีเรื่องทาน จาคะ สงเคราะห์เป็นหลักปฏิบัติและขอบข่ายการสงเคราะห์ของท่านนั้น มีขอบข่ายกว้างไกลอย่างไม่น่าเชื่อว่า พระผู้ใหญ่จำนวนมากจะต้องรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ถึงอย่างนั้น

การสะสมแบบนี้อาจแบ่งออกเป็นสองพวก คือการสะสมเพื่อรวบรวมไว้จะได้เสียสละช่วยเหลือคนอื่นหรือบำเพ็ญกุศลตามความจำเป็นการสะสมแบบนี้ ไม่ควรตำหนิ แต่ควรแก่การยกย่อง การสะสมด้วยการตระหนี่ หากว่ามีจริงๆก็ควรแก่การตำหนิอย่างมาก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บุคคลผู้จะตัดสินวินิจฉัยว่า ท่านสะสมประเภทใดจำเป็นต้องมองให้ตลอดสายไม่ไช่ไปสร้าง "กรมประมวลข่าวลือ" ขึ้นมาทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของพระเถระทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท่านมรณภาพลงข่าวอกุศลจะเกิดขึ้นเสมอ ในกรณีที่ท่านรูปนั้นมีชื่อเสียงตำแหน่งสูง พอสืบต้นตอเข้า อ้างเขากันจนลงเหว ก็ไม่ทราบว่าเขาไหนเป็นพฤติกรรมที่น่าอนาถใจนัก

หากว่าพระสะสมประเภทที่สองจะมีอยู่บ้าง แต่มิได้หมายความว่าพระทั่วไปเป็นพวกที่ชอบสะสม เพราะปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ท่านสะสมหรือไม่ แต่กลับอยู่ที่ว่าท่านจะเอาอะไรมาสะสมต่างหาก ในกรณีของการเกาะกินชาวบ้านนั้นเป็นการพูดแบบไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนมากคนพูดแบบนี้เกิดมาชาติหนึ่งจะเคยตักบาตรหรือเปล่าก็ไม่รู ้แต่พูดไปด้วยความริษยาต่อพระ เพราะคนพูดแบบนี้เข้าสูตรที่กล่าวกันว่า "คนทำบุญตักบาตรไม่พูด คนพูดคือคนที่ไม่ทำบุญตักบาตร"

หากว่าการที่พระไม่ทำงานในเชิงผลิตอย่างชาวนา ชาวสวน เป็นต้น คนในโลกนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่อาศัยชาวบ้าน เพราะเหตุเพียงไม่ทำงานในลักษณะเป็นผลิตกรรมเช่นตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการเกือบจะทุกกรมกอง นอกจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งเท่านั้น แต่โดยหลักความเป็นจริงแล้ว คนในสังคมนั้นจะต้องทำงานในหน้าที่แตกต่างกันไม่มีใครที่อาศัยเกาะกินคนอื่นโดยส่วนเดียว นอกจากพวกที่ไม่ยอมทำงานอะไรเลยงานของพระเป็นธรรมของสังคมที่สังคมยอมรับว่าเป็นหน้าที่ของท่าน คือ

  • ทำหน้าที่ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
  • ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธสาสนาที่ตนได้ศึกษามา
  • แนะนำสั่งสอนชาวบ้านให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นด้วย

งานของพระที่เกี่ยวข้องกับสังคมนั้น เราจะพบว่าเป็นทั้งนักศึกษา นักบวช แพทย์ ผู้พิพากษา ครู มิตรของสังคม คำกล่าวในลักษณะขาดความรับผิดชอบโดยไม่มองถึงความเป็นจริงที่เป็นกติกาเงื่อนไขทางสังคมนั้นเกิดขึ้นเสมอเช่น

ข้าราชการกินเงินเดือนเป็นภาษีของประชาชน ด้วยสำนึกเช่นนี้ หากราชการสำนึกเองก็เป็นการดี แต่คนอื่นมากล่าวคำนี้ออกจะขาดความรับผิดชอบมากไป เพราะความจริงแล้ว ข้าราชการไม่ได้นอนๆแล้วมารับเงินเดือน แต่เขาทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อราชการ ชาติบ้านเมือง เกินกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับเสียอีกสำหรับบางคน

ข้าราชการเหล่านั้นเขาก็เสียภาษีเหมือนกัน การพูดว่าพระเป็นกาฝากสังคมก็ดี เป็นผู้เกาะกินชาวบ้านก็ดีเป็นคำพูดของคนที่ไม่มีความเข้าใจเหตุผลดังกล่าวหรือกล่าวไปด้วยความริษยาหรืออาจจะเห็นว่าด่าพระสบายดีก็ตาม หากทบทวนดูอคติ 4 ประการ แล้วจะพบว่าอคติมีอยู่ภายในจิตของตนเกือบครบ 4 ข้อทีเดียว.

ถ้าคนบวชกันหมดมนุษย์ไม่สูญพันธุ์หรือ

ปุจฉา: การบวชไม่เป็นการฝืนธรรมชาติหรือถ้าคนบวชกันหมดมนุษย์ไม่สูญพันธุ์หรือ?

วิสัจฉนา: โดยหลักทั่วไปจะพบว่าพัฒนาการของมนุษย์ในด้านต่างๆนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์ไม่ยอมสยบต่ออำนาจของธรรมชาติ พยายามต่อสู้กับธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติและควบคุมธรรมชาติ จนสามารถใช้ธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตน การฝืนธรรมชาติได้จึงแสดงถึงความเข้มแข็งการพัฒนาและความมีชีวิตของคนสัตว์เหล่านั้น

ปลาที่มีชีวิตคือปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ ส่วนปลาที่ลอยตามกระแสน้ำคือปลาที่ตายแล้ว สัตว์โลกเป็นอันมากที่ได้สูญพันธุ์ไปจากโลก เช่นไดโนเสาร์ สัตว์เหล่านั้นไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งไม่อาจต้านทานต่อความวิปริตของธรรมชาติ ในที่สุดก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้

การบวชเป็นลักษณะการทางพัฒนาการประการหนึ่งที่เป็นอุบายวิธีให้ผู้บวชเข้ามาสามารถฝืนพลังธรรมชาติของจิตและปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อันเป็นการแสดงถึงความมีชีวิตก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะก้าวไปเหนืออำนาจธรรมชาติ ในที่สุดสำหรับข้อที่ว่าถ้ามนุษย์บวชกันหมด กลัวมนุษย์จะสูญพันธุ์นั้นเป็นสมมติฐานที่ไม่อาจเป็นไปได้และจะเป็นไปไม่ได้ตลอดไป การกลัวในลักษณะดังกล่าวจึงจะเป็นการกลัวของไส้เดือนอย่างที่ท่านแสดงว่าไส้เดือนกินดินแต่ไม่กล้ากินดินมากเพราะกลัวแผ่นดินจะหมด.

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นิพพานเป็นสภาพที่ดับแล้วจะมีความสุขอย่างไรจะเอาดีกับนิพพานทางไหน?

ปุจฉา: นิพพานเป็นสภาพที่ดับแล้วจะมีความสุขอย่างไรจะเอาดีกับนิพพานทางไหน?

วิสัจฉนา: เอาดีทางจิตที่หลุดพ้นจากการถูกบงการของกิเลส อันเป็นเหตุให้เวียนเกิดเวียนตายจนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นว่าความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์เรื่อยไป จึงเพียรพยายามตัดกระแสแห่งกิเลสตัณหา อันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพเสียได้ท่านเอาดีของท่านในทางนี้

หากเราจะเปรียบเทียบกันแล้ว ความสุขขั้นโลกิยะในระดับต่างๆนั้นเหมือนความสุขจากการเกาแผลคัน พอเกิดคันขึ้นมาก็ต้องเกาแผล ความรู้สึกว่าตนเป็นสุขก็เกิดขึ้นกามสุขนั้นเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองความปรารถนาของตนได้หากตอบสนองความต้องการไม่ได้ก็กลายเป็นความทุกข์

ฝ่ายความสุขที่เกิดจากนิพพานนั้นเหมือนความสุขของคนที่มีร่างกายปกติไม่มีแผลคันให้ต้องเกาคือ จะเกิดความสุขขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายปกติไม่จำเป็นต้องไปสร้างเหตุแห่งความสุขอีกต่อไป

การกล่าวว่านิพพานเป็นความสุขนั้น เหมือนการกล่าวว่าอาหารอร่อยเมื่อคนเหล่านั้นได้ปริโภคอาหารนั้นฉันใด การบอกว่านิพพานเป็นความสุขท่านที่บอกต้องเป็นผู้ได้บรรลุนิพพานแล้วฉันนั้น หากบุคคลไม่ยอมเชื่อวาทะของพระอริยบุคคลเช่นนั้นก็ไม่ทราบว่าจะเชื่อใครแล้วในโลกนี้ และความสุขที่ท่านเรียกว่า นิพพานสุข นั้นบุคคลอาจสัมผัสได้ในส่วนหนึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อน

นิพพานนั้นมีจริงหรือไม่

ปุจฉา: นิพพานนั้นมีจริงหรือไม่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่านิพพานมีจริง?

วิสัจฉนา: มีนะมีอยู่ เพราะท่านผู้ใดบรรลุนิพพานมีมากต่อมากตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนา การที่จะพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องพิสูจน์ตามกรรมวิธีที่ท่านผู้ได้บรรลุนิพพานได้พิสูจน์มาแล้ว เหมือนการพิสูจน์รสอาหารด้วยลิ้นการพิสูจน์เสียงด้วยหูฉะนั้น เครื่องมือในการพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่จริงหรือไม่คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพียงอย่างเดียวที่จะนำคนให้พบเห็นพระนิพพานด้วยปัญญาของตน มรรคมีองค์ 8ประการคือ "ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ"

หากใครต้องการพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองก็ต้องปฏิบัติไปตามอริยมรรคมีองค์ 8 ประการนี้ให้บริบูรณ์ไม่บกพร่อง แล้วก็จะรู้ได้ด้วยตนเองเพราะนิพพานเป็นบรมธรรม อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเหมือนกับผู้บริโภคอาหารชนิดนั้นๆเท่านั้นจึงจะทราบรสอาหารด้วยตนเองการอธิบายเรื่องรสอาหารไม่อาจให้ทราบรสอาหารที่แท้จริงได้ฉันใด ลักษณะแห่งนิพพานก็มีลักษณะเช่นเดียวกันฉันนั้น

หากว่ายังไม่อาจที่จะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ประการ ให้บริบูรณ์ได้บุคคลควร
ปฏิบัติตนอย่างไรจึงสามารถทำใจให้ยอมรับความมีอยู่แห่งนิพพานได้?


นิพพานนั้นอาจแบ่งได้ 2 ระดับคือ

  1. นิพพานที่เป็นส่วนเหตุได้แก่การขจัดกิเลสให้ออกไปจากจิต จิตเป็นอิสระไม่ต้องทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลสอย่างสามัญชน
  2. นิพพานที่เป็นส่วนผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากการละกิเลสได้เป็นสภาพที่ไม่ถูกแผดเผาด้วยเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์กลับเป็นความสงบ ความสุขอย่างแท้จริงตามที่ท่านแสดงว่าความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง

เมื่อว่ากันโดยเหตุผลเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงว่าการละกิเลสได้จะมากหรือน้อยก็ตามทำให้ผู้ละกิเลสได้เข้าสู่เขตของนิพพานในระดับใดระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิพพานที่เรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน คือ นิพพานที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตน เช่น มีเรื่องมากระทบจนเกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก่อนที่จะกระทำอะไรลงไปตามแรงกระตุ้นของความโกรธกลับมีสติยับยั้งความโกรธเอาไว้ได้ จนจิตกลายเป็นความเมตตา กรุณาเป็นต้น

บุคคลนั้นสามารถเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการฆ่าความโกรธลงไปว่า ให้ความสงบเย็นใจมากน้อยเพียงไร เมื่อมองไปในมุมตรงกันข้ามคือการทำอะไรลงไป ตามอำนาจของความโกรธก็จะเห็นว่า เวร ภัย เป็นอันมากที่จะเกิดขึ้นเผาลนจิตใจของตนให้เกิดความเร่าร้อนจิตหลุดพ้นด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องนั้นๆ ท่านเรียกว่า

ตทังควิมุตติ คือจิตหลุดพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เป็นส่วนหนึ่งของสภาพจิตที่เรียกว่านิพพานซึ่งเป็นการแสดงให้ห็นได้ว่าส่วนเล็กๆของนิพพานนั้น เป็นที่คนปกติทั่วไปที่ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิตสามารถสัมผัสได้ รู้ได้ด้วยใจของตนเองหากบุคคลไม่อาจพิสูจน์ได้ แม้ด้วยวิธีนี้ก็ต้องอาศัย

ตถาคตโพธิสัทธาคือการเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ด้วยการทรงบรรลุนิพพาน ทรงสั่งสอนธรรมแก่โลกในระดับต่างๆ ระดับที่สูงสุดนั้นคือเรื่องมรรคผลนิพพานพระพุทธองค์และอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้ปรินิพพาน นิพพานไปแล้วมากต่อมาก

ข้อที่ไม่ควรลืมคือการที่บุคคลจะพิสูจน์อะไรก็ตามจะต้องพิสูจน์ตามหลักการและวิธีการเพื่อพิสูจน์ทดสอบเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะอย่าพยายามพิสูจน์กลิ่นหอมของดอกไม้ด้วยสายตาเป็นอันขาดเพราะจะเสียเวลาไปโดยไม่เกิดประโยชน์ตามที่ตนต้องการได้.

ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข?

ปุจฉา: ทำอย่างไรจึงจะมีความสุข?

วิสัจฉนา: ความสุขนั้นมีหลายระดับด้วยกัน ไม่ทราบว่าหมายเอาความสุขระดับไหน?
แต่อย่างไรก็ตามควรทำใจให้ยอมรับความจริงประการแรกเสียก่อนคือ ความสุขนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างเหตุ เพื่อให้เกิดผลเป็นความสุขตามที่บุคคลนั้นๆต้องการฐานแห่งความสุขที่สำคัญ คือ ใจ กาย อย่างที่พูดกันว่า สุขกายสบายใจ เมื่อความสุขเป็นผล เหตุให้เกิดความสุขจึงมีมากเช่น

  • ไม่เป็นหนี้ใคร มีทรัพย์ สามารถใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการ ทำงานไม่มีโทษ
  • ความไม่เบียดเบียนกัน ฆ่าความโกรธที่เกิดขึ้นเสียได้ ไม่ปล่อยใจไปตามความอยากที่เกิดขึ้น สละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนรวมได้ สะสมบุญกุศลไว้มากๆ ไม่คบคนพาล การแสดงธรรม ฟังธรรม คบหาคนดีเป็นมิตร มีเมตตาจิตต่อคน สัตว์ทั้งหลาย
  • มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันละเหตุแห่งความทุกข์ได้เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิดความสุขได้ทั้งนั้น สำหรับการดำรงชีวิตของคนทั่วไปการพยายามทำใจไม่ให้ยึดมั่นอะไรให้มากเกินไป โดยพยายามปรับใจให้ยอมรับความจริงตามสมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้นได้ แล้วความสุขใจก็จะเกิดขึ้นคนเรานั้นเสียอะไรก็เสียไป แต่ใจอย่าเสียเท่านั้นก็อาจหาความสุขได้ตามสมควรแก่กรณีนั้นๆ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สุขทุกข์ อยู่ที่ใจ มิใช่หรือ
ถ้าใจถือ ก็เป็นทุกข์ ไม่สุขใส
ใจไม่ถือ ก็เป็นสุข ไม่ทุกข์ใจ
เราอยากได้ ความสุข หรือทุกข์นา

แต่ความสุขที่ไม่เจือปนด้วยความทุกข์นั้น ต้องเกิดจากการละเหตุแห่งทุกข์ ด้วยความสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลาย จะทำให้ได้ความสงบอันเป็นนิพพานซึ่งเป็นบรมสุข

พระไม่ควรสอนเรื่องสันโดษเพราะทำให้ประเทศชาติไม่ก้าวหน้าจริงหรือไม่?

ปุจฉา: พระไม่ควรสอนเรื่องสันโดษเพราะทำให้ประเทศชาติไม่ก้าวหน้าจริงหรือไม่?

วิสัจฉนา: ไม่จริงหรอกการกล่าวเช่นนั้นเป็นการกล่าวหาหรือกล่าวตามเขาทั้งๆที่ตนเองก็ไม่ทราบว่าคำว่าสันโดษๆนั้นฉันใด? เราจะพบว่าสันโดษจากความหมายที่ท่านอธิบายไว้นั้นมีส่วนอย่างสำคัญที่จะผลักดัน
ให้ประเทศชาติก้าวหน้า พร้อมด้วยพัฒนาการในด้านต่างๆอย่างมีสัดส่วนและเกิดความเป็นธรรมในสังคมและประเทศชาติ


ตัวอย่างเช่น

ถาม: รัฐมีงบประมาณสร้างถนน 1 สายราคา 100ล้านบาทเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานมีความสันโดษด้วยกำลังของตนยินดีในเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ที่ตนจะต้องได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้นไม่มีความต้องการนอกจากนั้นผลจะออกมาเป็นอย่างไร?

ตอบ: ถนนนั้นจะเป็นถนนที่มีคุณภาพในด้านคงทนรับน้ำหนัก สูง สำเร็จได้ตามเวลาโครงการ หากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างถนนสายนั้นขาดสันโดษ ใครๆก็มองเห็นภาพเหล่านั้นได้ง่ายว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเรื่องนี้เคยเกิดมาแล้วกำลังเกิดอยู่และจักเกิดต่อๆไปจนกว่าคนเหล่านั้นจะเข้าถึงธรรมคือสันโดษ
ปุจฉา: การสอนให้คนสันโดษยินดีตามมีตามได้ จะมิเป็นการปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม และทำให้ล้าหลังหรือ?

วิสัจฉนา: ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกใครบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นละ? เรื่องนี้น่าเห็นใจเหมือนกันเพราะคนเราส่วนมาก มักจะอธิบายในสิ่งที่ตนรู้เกินจากขอบข่ายความรู้ของตน ความสับสนในการทำความเข้าใจก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เรื่องสันโดษพูดกันจนเป็นภาษาไทยโดยไม่ได้ตามไปดูว่าคำนี้ความหมายของพระศาสนาท่านอธิบายไว้อย่างไร

  1. ในเมื่อต้องการจะพูดในความหมายของศาสนา ก่อนอื่นได้โปรดทำความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนระดับสำหรับตัดสินพระธรรมวินัยอยู่สองข้อที่คนฟังมักจะตีความสับสนกันคือ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากอันน้อยหาเป็นไปเพื่อความอยากมากไม่
  2. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความสันโดษหาเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษไม่

พึงทราบว่านี่เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาจะพบว่าหลักตัดสินว่าคำสอนเรื่องอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่นั้น ทรงประทานหลักสำหรับตัดสินไว้ 8 ข้อ ใน 8 ข้อนั้น 2 ข้อ นี้เป็นหลักสำหรับตัดสินว่าคำสอนในลักษณะที่เป็นเช่นไรจึงจัดว่าเป็นธรรมวินัยเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น "สันโดษคือความยินดีตามดีตามได้กับความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนคนละเรื่องกัน" แม้ในกถาวัตถุคือถ้อยคำที่ควรพูด 10ประการ พระผู้มีประภาคเจ้าตรัสแสดงแยกถ้อยคำสอนเรื่องนี้ออกเป็นเรื่องละฝ่ายกันคือ

  1. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
  2. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

ความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนสำหรับพระโดยเฉพาะ แต่สันโดษเป็นคำสอนทั้งแก่พระและชาวบ้านโดยมีการอธิบายความหมายออกไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่สับสนในทางความคิด ความเข้าใจ และการปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปคนเข้าใจสันโดษไปในทำนองของคำกล่าวที่ว่า "ตำข้าวสารพอกรอกหม้อ"การหลีกเร้นออกจากหมู่หาความสงบไม่เกี่ยวข้องกับสังคมว่าเป็นลักษณะของคน เกียจคร้าน ปวิเวก คือการแสวงหาที่สงัด และอสังสัคคะ คือการไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะตามลำดับ ว่าเป็นลักษณะของคนสันโดษเมื่อบุคคลเข้าใจยอมรับความหมายของสันโดษในลักษณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่ทีคำถามข้างต้นเกิดขึ้น

สันโดษคือความยินดีในปัจจัยตามมีตามได้นั้น ท่านจำแนกอธิบายไว้ว่าอย่างไร? สันโดษเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่งในมงคล 38 ประการ ซึ่งเป็นหลักการเหมือนขั้นบันไดที่จะนำคนผู้ปฏิบัติ ให้สามารถยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นๆถึงเหนือกระแสแห่งโลก ท่านได้จำแนกสันโดษออกไปเป็น 3 ลักษณะ คือ

  • ในด้านแสวงหาเนื่องจากชาวบ้านนั้นมีธรรมคือ สัมมาอาชีวะซึ่งตรงกันข้ามกับศีลข้อที่สองและความสุขอันเกิดขึ้นจากการทำงานที่ปราศจากโทษเป็นหลักและเป้าหมายควบคุมอยู่แล้ว แสดงว่าการแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตของบุคคลจะต้องอยู่ในกรอบของสัมมาชีพสันโดษ ในชั้นนี้จึงให้คนทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิด บริวาร ลงไปในการแสวงหาปัจจัยได้อย่างเต็มที่ด้วยความเพียรพยายาม ไม่เกียจคร้าน ไม่ขูดรีดทรัพย์เรี่ยวแรงของคนอื่นท่านเรียกว่า ยถาพลสันโดษคือยินดีด้วยกำลังของตน
  • ในขั้นได้ทรัพย์สมบัติปัจจัยต่างๆมาด้วยความพยายาม ตามกำลังกาย ความรู้ กำลังทรัพย์ บริวารเป็นต้น ได้มาเท่าไรก็ให้ยินดีเท่านั้นไม่โลภอยากได้ของๆ คนอื่นมาไว้ในครอบครองของตน โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม เมื่อใช้กำลังดังกล่าวแล้วจะได้มากเท่าไรก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียสันโดษ ท่านเรียกสันโดษระดับนี้ว่า ยถาลาภสันโดษคือยินดีตามที่ได้มาจะมากหรือน้อยก็ยินดีตามนั้น
  • ในขั้นการใช้จ่าย การใช้สอย ท่านยินดีตามสมควรแก้ ฐานะ ปัจจัย ทรัพย์ สำหรับชาวบ้านคือหลักสมชีวิต คือ เลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนได้มาและมีอยู่ไม่ให้เดือดร้อนเพราะความตระหนี่และสุรุ่ยสุร่ายจนเกินพอดีสันโดษระดับนี้ท่านเรียกว่ายถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควรแก่ทรัพย์ ฐานะ ความจำเป็นปัจจัย เป็นต้น

ด้วยความหมายของสันโดษที่กล่าวมานี้จะพบว่าการสอนและการปฏิบัติตามสันโดษ คือมีความยินดีตามสมควรแก่ฐานะนั้นๆ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบปลูกฝังให้เกิดภายในจิตใจของคนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบด้านการเงิน การงาน บุคคล เป็นต้นมากๆ"

ความล้าหลังที่เกิดขึ้นในสังคมหากจะถือว่ามีอยู่แล้ว ได้โปรดเข้าใจว่าหาใช่เป็นคนในสังคมต่างมีสันโดษกันไม่ ที่แท้แล้วเป็นเพราะคนขาดแคลนสันโดษอย่างแรงนั่นเองสภาพเช่นนั้นจึงได้เกิดขึ้น

การสอนเรื่องชาติหน้า ภพหน้า ไม่ทำให้คนเพ้อฝันหรือ

ปุจฉา: การสอนเรื่องความมีอยู่ของชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด
ไม่ทำให้คนเพ้อฝันหรือ ?

วิสัจฉนา: อาจจะฝันแต่ไม่ใช่เพ้อฝัน กลับเป็นการใฝ่ฝันอย่างความใฝ่ฝันที่คนร้องเพลงกันว่า "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" นั้นเอง ปัญหาเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิดนั้น ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นเรื่องของผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย คนอาจจับเอาหลักเพียงพระพุทธภาษิตที่ว่า

อิธ นนทติ เปจจ นนทติ กตปุญโญ อุภยตถ นนทติ
ปุญญํ เม กตนติ นนทติ ภิยโย นททติ สุคติ คโต
ผู้มีบุญอันกระทำแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสองคือบันเทิงอยู่ในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงด้วยความคิดว่าบุญอันเรากระทำไว้แล้วไปสุคติแล้วจะบันเทิงยิ่งๆขึ้น

จะพบว่าพระพุทธภาษิตนี้แสดงเหตุแห่งความบันเทิงในโลกทั้งสองไว้ว่าได้แก่บุญผลคือความบันเทิงจะเกิดขึ้นในโลกทั้งสองได้ ก็ต้องสร้างเหตุคือบุญไว้ ความสำนึกเช่นนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนผู้ปรารถนาผลดังกล่าว รีบเร่งกระทำเหตุที่ให้เกิดผลเป็นความบันเทิงในโลกทั้งสอง

ความสำเร็จในชีวิตคนจะต้องเริ่มมาจากความใฝ่ฝันเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เสียก่อนแล้วในที่สุดทำให้คนเหล่านั้นเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนใฝ่ฝัน ความเพียรพยายามนั้นจะยุติลง เมื่อตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เคยใฝ่ฝันไว้

การสอนการเชื่อในเรื่องชาติหน้า โลกหน้า ตายแล้วเกิด จึงเป็นพลังอันมหาศาลที่จะผลักดันวิถีชีวิตของคนให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสุจริตทาง กาย วาจา ใจ ซึ่งอำนวยผลให้คนเห็นได้ในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคมอันเป็นส่วนรวมสังคมจะมีสมาชิกที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามธรรมมากขึ้น ความเห็นแก่ตัว พวกของตัว พ่อค้าหน้าโลหิตจะน้อยลงได้มากทีเดียว เมื่อผลออกมาได้อย่างนี้ใครจะเรียกว่า เพ้อฝันหรือสร้างวิมานในอากาศจะสำคัญอะไร ?

การระลึกชาติมีจริงหรือไม่

ปุจฉา: การระลึกชาติก่อนได้หลายๆชาติมีจริงหรือไม่?

วิสัจฉนา: ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่ามีได้จริงๆ เพราะพระพุทธเจ้าเมื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตมาถึงจุดหนึ่งแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุสิ่งที่เรียกว่า "ญาณ" อันเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการฝึกจิต ญาณที่ทรงบรรลุนั่นมีมากในที่นี้จะพูดเฉพาะพระญาณข้อแรกคือ

  1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณคือ พระญาณที่ทำให้พระองค์ทรงระลึกชาติปางก่อนได้ว่าในชาตินั้นๆ พระองค์เคยเกิดเป็นอะไร มีรูปร่าง การศึกษา การงานเป็นต้นอย่างไร ทรงระลึกได้ไม่มีกำหนด มีพระชาติในอดีตเป็นอันมากที่ทรงนำมาเล่าประกอบการแสดงธรรม เรียกว่า ชาดก แปลว่าเรื่องที่เคยเกิดมาแล้ว เช่นพระเจ้า 10 ชาติเป็นต้น
  2. ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณนี้มีขีดความสามารถในการระลึกชาติได้มากน้อยแตกต่างกันตามกำลังแห่งญาณที่เกิดขึ้น เหมือนแสงสว่างแม้จะเป็นแสงสว่างเหมือนกันแต่ขจัดความมืดได้มากน้อยแตกต่างกัน

การระลึกชาติอีกประการหนึ่งคือการระลึกชาติของท่านที่มีบุญพิเศษ แต่ระลึกได้ไม่กี่ชาติ อีกพวกหนึ่งคือระลึกได้ด้วยการสะกดจิตตามที่พวกฝรั่งนิยมศึกษากันทราบว่าอย่างมากที่สุดระลึกย้อนกลับไปได้เพียง 2ชาติเท่านั้นอย่างไรก็ตามการระลึกชาติด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันนั้นมีได้จริงๆ

จากหลักการแห่งการระลึกชาตินี้ หากคนเราจะใช้วิธีนี้เองระลึกถึงสมัยที่ตนเป็นผู้น้อย เป็นเด็กเป็นคนยากจนได้รับความเดือดร้อยเป็นต้นว่าสมัยนั้นตนต้องการอะไรจากผู้ปกครองผู้ใหญ่ คนมีฐานะดีกว่าตนที่พอจะช่วยได้อย่างไรบ้าง แล้วใช้ความรู้สึกของตนในสมัยนั้น ปฏิบัติตนต่อคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับตนแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา สังคมมนุษย์นี้คงน่าอยู่ขึ้นอีกมากที่เดียว.

ถ้าโลกแตกคนจะไปเกิดที่ไหน

ปุจฉา: คนมีกิเลสต้องเกิดอีกร่ำไปถ้าโลกทุกโลกแตกทำลายหมด คนจะไปเกิดที่ไหน หรือแตกสูญหายตามโลกไปด้วย?

วิสัจฉนา: เอาอย่างนั้นเชียวหรือ? คำถามนี้วางอยู่บนสมมติฐานที่ไม่อาจเป็นไปได้เหมือนการกล่าวว่า เต่ามีหนวด กระต่ายมีเขา รูปผู้หญิงทำด้วยหินมีครรภ์ หากเป็นเช่นนั้นได้จริงคนก็ต้องยอมรับในประเด็นที่ว่า โลกและชีวิตเป็นขบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมชาติ


เมื่อเหตุปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นดำรงอยู่ของชีวิตแตกสลายไป สิ่งนั้นก็ต้องแตกสลายตามไปด้วยเป็นธรรมดา

ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่

ปุจฉา: ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่?

วิสัจฉนา: ความเกิดนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย การพูดตรงๆไปว่าตายแล้วเกิด ท่านจัดเป็น สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าโลกเที่ยง แต่หากปฏิเสธว่าตายแล้วไม่เกิดอีกหรอกท่านก็บอกว่าเป็น อุจเฉททิฎฐ คือความเห็นว่าขาดสูญ เรื่องนี้จึงจำต้องหาจุดกลางให้ได้ ว่าพระพุทธศาสนาได้แสดงเรื่องนี้ไว้ในรูปของเหตุปัจจัยที่อาศัยประชุมพร้อมกันแล้วการเกิดก็มีขึ้น เช่น ในกรณีการถือปฏิสนธิในครรภ์ ท่านแสดงปัจจัยหลักไว้ว่า "มารดาบิดาร่วมกัน มารดามีระดู คนธรรพ์ถือปฏิสนธิ"

การเกิดก็ปรากฏขึ้น ในคำว่าคนธรรพ์นั้นชื่อแปลกออกไปจากที่อื่น คนธรรพ์เองก็เกิด
ขึ้นจากปัจจัย 3 ประการคือ
กมมํ เขตตํ กรรมดีกรรมชั่วเหมือนเนื้อนา วิญญาณํ พีชํ วิญญาณเป็นหน่อพืช ตณหา สิเนหํ ตัณหาเป็นยางเหนียว

ในเรื่องนี้ท่านแสดงแบบอุปมาด้วยเมล็ดพืชการจะตัดสินว่าเมล็ดพืชจะปลูกงอกหรือไม่นั้น ต้องอาศัย พื้นดิน หน่อ และยางเหนียวในเมล็ดพืชรวมกัน หากบกพร่องไปอย่างเดียวก็งอกไม่ได้ ฉันใดการบังเกิดของคน สัตว์ ก็ต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการ คือกรรม กิเลส วิญญาณ ฉันนั้น

โดยนัยนี้จะพบว่าเมื่อเราเข้าไปจับกับหลักปฏิจจสมุปบาท กิเลสคืออวิชชา กรรมคือสังขาร วิญญาณก็คือปฏิสนธิวิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาททรงแสดงแบบเป็นเหตุเป็นผลกันตามในปัจจัยหลักที่กล่าวข้างต้น คำว่า คนธพโพ คือ คนธรรพ์เป็นชื่อของกิเลส กรรม วิญญาณรวมกัน แต่เพราะกำเนิดนั้นไม่ได้มีเฉพาะเกิดในครรภ์อย่างเดียว

ปัจจัยที่สำคัญอันนำไปสู่การตัดสินว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ คือ กิเลส กรรม วิญญาณ ปัจจัยทั้ง 3 นี้ขาดไปเพียงอย่างเดียวก็เกิดไม่ได้ คำตอบจึงยุติว่า หากปัจจัย 3 ประการนั้นมีอยู่ การเกิดก็ต้องมีอยู่ เมื่อปัจจัย 3 ประการนั้นหมดไปการเกิดก็ยุติ ผู้เกิดก็ไม่มี.

วิญญานมีจริงหรือไม่

ปุจฉา: วิญญาณมีจริงหรือไม่ บางคนเข้าใจว่า ไม่มีลองค้นคว้าทางวัตถุแล้วก็ไม่พบด้วยประสาททั้ง 5 จึงว่าเป็นเรื่องไร้สาระพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร ?

วิสัจฉนา: ก่อนปฏิเสธหรือยืนยันเรื่องอะไร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบว่า "สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนั้นคืออะไร?" เรื่องของวิญญาณก็ทำนองเดียวกัน เนื่องจากคำนี้เป็นคำทางศาสนาก็ควรทราบว่าทางพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไรให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะพูดในประเด็นที่ว่ามีหรือไม่ วิญญาณแปลว่าความรู้อารมณ์พิเศษทั้งหลาย ท่านแสดงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เมื่อแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกันคือ

ก. วิญญาณขันธ์ แปลว่ากองแห่งวิญญาณแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท เรียกชื่อตามที่เกิดแห่งวิญญาณนั้นๆว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ

จักขุวิญญาณ แปลว่าความรู้ที่เกิดขึ้นทางตาองค์ประกอบที่ทำให้เกิดวิญญาณนี้คือตา รูป แสงสว่าง ความสนใจ องค์ประกอบเหล่านี้ขาดไปเพียงอย่างเดียววิญญาณทางตาจะไม่สมบูรณ์ แม้วิญญาณข้ออื่นๆก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เปลี่ยนแต่องค์ประกอบบางอย่าง ส่วนข้อสุดท้ายเหมือนกันคือต้องมีความสนใจที่ท่านเรียกว่า มนสิการ

ส่วนคำแปลชื่อต่อไปนั้นท่านแปลว่า ความรู้ทางหู ความรู้ทางจมูก ความรู้ทางลิ้น ความรู้ทางกาย และความรู้ทางใจ ตามลำดับ

ข. ปฏิสนธิวิญญาณ คือวิญญาณตามองค์ปฏิจจสมุปบาทท่านบอกว่าเป็นตัวไปถือปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง 4 คือ เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในสิ่งสกปรก และเกิดโดยผุดขึ้นในกำเนิดใดกำเนิดหนึ่งตามอำนาจของกรรม องค์ประกอบแห่งวิญญาณนี้ คือ อวิชชา หรือกิเลส สังขาร คือกรรม หากไม่มี กิเลส กับกรรม วิญญาณ นี้ก็เกิดไม่ได้

ค. วิญญาณธาตุ เป็นธาตุอย่างหนึ่งในธาตุ 6 ประการที่มีอยู่ในตัวคนตามนัยแห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า "ฉ ธาตุโย ปุริโส" แปลว่าบุรุษนี้มีธาตุ 6 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ องค์ประกอบให้วิญญาณส่วนนี้ดำรงอยู่ คือ กิเลส และกรรม เช่นเดียวกันแต่ท่านเรียกว่า อาสวะ และบารมี คือความชั่วและความดีพร้อมด้วยกิเลสที่บุคคลเก็บสร้างสมไว้ในชาติก่อนและชาติปัจจุบัน ซึ่งมีประมาณมากน้อยแห่ง อาสวะ และบารมี มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดบทบาทและวิถีชีวิตของคน

วิญญาณเท่าที่พบในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีเพียง 3 ประการเท่านั้น ส่วนวิญญาณที่พูดกันว่า "เชิญวิญญาณของคนนั้นคนนี้มาเข้าทรงนั้น" ไม่เคยพบที่มาในชั้นบาลีวิญญาณทั้ง 3 ประเภทนี้จึงเป็นอาการของจิต แต่เมื่อทำหน้าที่รู้รูปเป็นต้นท่านเรียกวิญญาณตามชื่อของอายตนะที่ทำหน้าที่รู้ว่า จักขุวิญญาณเป็นต้น

ตัวที่ทำหน้าที่ที่รู้จริงๆ จึงเป็นจิต ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน ท่านจึงเรียกในที่บางแห่งว่า ทวาร หมายถึงประตู ที่ผ่านของรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอารมณ์ทั้ง 5 นี้จึงเหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูง ตกลงไปขังอยู่ในที่ราบลุ่มอันเปรียบเหมือนจิตที่ว่าลองค้นคว้าทางวัตถุแล้วแต่ไม่อาจทราบได้ด้วยประสาททั้ง 5 นั้น จึงอาจเป็น
ไปได้ 2ประการคือ


  • ประการแรก ไม่ทราบวิญญาณนั้น คืออะไร
  • ประการที่สอง ตัวทำหน้าที่รู้จริงๆคือจิต การรู้วิญญาณ จึงเป็นงานของประสาทที่ 6

ปฏิสนธิวิญญาณเป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจมากเพราะเป็นขบวนการทางปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าเองทรงตรัสรู้แล้วได้พิจารณากลับไปกลับมาถึง 7 วัน ที่น่าสังเกตคือตอนดับท่านเรียกว่า จุติจิต ตอนที่ปฏิสนธิท่านเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ฝ่ายอากาศธาตุ กับวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ นั้น ให้สังเกตว่าในชั้นแรก ท่านสอนให้รู้เพียง ดิน น้ำ ลม ไฟ

เมื่อผ่านรูปฌานไปแล้วจึงเริ่มสอนให้เรียนรู้เรื่อง อากาศ กับวิญญาณในชิงปริยัติแล้วเรื่องของวิญญาณไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ความรู้ความเข้าใจวิญญาณที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้นจะต้องดำเนินไปในวิถีทางแห่งการปฏิบัติเมื่อสมัครใจพิสูจน์ต้องพิสูจน์ด้วยเครื่องมือและกรรมวิธีตามที่ท่านได้แสดงเอาไว้โดยไม่พยายามพิสูจน์รสอาหารด้วยตาเพราะทำอย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้อย่างแท้จริง.

คำสอนศาสนาพุทธล้าหลังจริงหรือ

ปุจฉา: การสอนเรื่องนรกสวรรค์ตายแล้วไปเกิดอีกจะไม่ทำให้เห็น ว่าล้าสมัยหรือ?

วิสัจฉนา: แล้วสอนเรื่องอะไรจึงจัดว่าทันสมัยละ? หรือจะให้สอนเรื่องข้าราชการบางคนคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ อากาศเป็นพิษ หรือว่าปัญหาอาชญากรรม งานเหล่านี้มีคนทำกันมากแล้ว ถ้าขืนสอนไป
จะหาว่าพระเล่นการเมือง พูดเรื่องชาวบ้าน จนถึงแย่งงานชาวบ้าน แต่เรื่องเหล่านี้เมื่อขอบข่ายของธรรมะโยงไปถึง ผู้แสดงก็จะยกมาแสดงตามสมควรแก่เหตุอยู่เช่นเดียวกัน

แนวโน้มในการอธิบายธรรมในปัจจุบัน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพระจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์แบบที่เป็นภพชาติ โลกหน้ามากนัก แต่จะเน้นหนักไปในรูปของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดสวรรค์ภายในจิตใจ หลีกเลี่ยงนรกภายในใจ และเป็นเทวดาเป็นพรหมด้วยการปฏิบัติธรรมกันมากกว่า เพราะแสดงอย่างไรผลก็จะออกมาในลักษณะเดียวกันดังกล่าวแล้วในข้อก่อน

ข้อที่กล่าวว่าพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะไม่ทำให้ล้าสมัยหรือนั้น หาได้เป็นการล้าสมัยแต่ประการใดไม่ หากความหมายของคำว่าทันสมัยหมายถึงทันกับเหตุการณ์สังคมจริยธรรมของสังคม เราจะพบว่าการยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ใดก็ตามย่อมเกี่ยวโยงเข้าหาความเชื่อกฎแห่งกรรม เพราะนรกสวรรค์เป็นผลของกรรมความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์จึงย้อนกลับไปหาเหตุผลตามลำดับไปเป็นรูปของปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งจะช่วยให้ความเจริญในด้านวัตถุกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันดังนี้
  • การยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์นำไปสู่การยอมรับนับถือกฎแห่งกรรม
  • ความเชื่อในกฎแห่งกรรมนำไปสู่การละความชั่วทำความดี
  • การละความชั่วทำความดีนำไปสู่การพัฒนาด้านจิตใจความประพฤติ
  • การพัฒนาจิตใจนำไปสู่ความสุขความสงบทางจิตใจ
  • ความสุขความสงบที่เกิดภายในจิตของคนในสังคมนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
  • การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเป็นการสร้างสวรรค์เกิดขึ้นในโลกมนุษย์

ปัจจุบันวิชาการทางเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปไกลมากแต่เนื่องจากความเจริญในปัจจุบันมีลักษณะเป็นดาบสองคม เพราะวัตถุได้ก้าวล้ำหน้าพัฒนาการทางจิตไปมากความเชื่อที่นำมาเรียงไว้ตอนหนึ่งนั้น เริ่มจากจุดใดก็ตามย่อมเป็นการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นสัมพันธ์กับความเจริญทางด้านวัตถุจนถึงจุดที่สามารถ "ให้จิตใจที่ประกอบด้วยธรรม เหตุผล เป็นตัวนำวัตถุแทนที่จะให้วัตถุนำจิตใจอย่างที่เห็นกันบางแห่งในปัจจุบัน"

การสอนและยอมรับเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ที่ถูกต้องจึงไม่เป็นการล้าสมัยแต่เป็นการเร่งรัดพัฒนาด้านจิตใจพฤติกรรมของมวลชนให้สามารถเป็นผู้กำหนดวัตถุและควบคุมวัตถุได้ด้วยพื้นฐานแห่งจิตใจที่ประกอบด้วยธรรมดังกล่าว.