วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปุจฉา: การสอนให้คนสันโดษยินดีตามมีตามได้ จะมิเป็นการปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม และทำให้ล้าหลังหรือ?

วิสัจฉนา: ไม่เป็นอย่างนั้นหรอกใครบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นละ? เรื่องนี้น่าเห็นใจเหมือนกันเพราะคนเราส่วนมาก มักจะอธิบายในสิ่งที่ตนรู้เกินจากขอบข่ายความรู้ของตน ความสับสนในการทำความเข้าใจก็เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เรื่องสันโดษพูดกันจนเป็นภาษาไทยโดยไม่ได้ตามไปดูว่าคำนี้ความหมายของพระศาสนาท่านอธิบายไว้อย่างไร

  1. ในเมื่อต้องการจะพูดในความหมายของศาสนา ก่อนอื่นได้โปรดทำความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนระดับสำหรับตัดสินพระธรรมวินัยอยู่สองข้อที่คนฟังมักจะตีความสับสนกันคือ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากอันน้อยหาเป็นไปเพื่อความอยากมากไม่
  2. ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความสันโดษหาเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษไม่

พึงทราบว่านี่เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาจะพบว่าหลักตัดสินว่าคำสอนเรื่องอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่นั้น ทรงประทานหลักสำหรับตัดสินไว้ 8 ข้อ ใน 8 ข้อนั้น 2 ข้อ นี้เป็นหลักสำหรับตัดสินว่าคำสอนในลักษณะที่เป็นเช่นไรจึงจัดว่าเป็นธรรมวินัยเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น "สันโดษคือความยินดีตามดีตามได้กับความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนคนละเรื่องกัน" แม้ในกถาวัตถุคือถ้อยคำที่ควรพูด 10ประการ พระผู้มีประภาคเจ้าตรัสแสดงแยกถ้อยคำสอนเรื่องนี้ออกเป็นเรื่องละฝ่ายกันคือ

  1. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย
  2. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

ความปรารถนาน้อยเป็นคำสอนสำหรับพระโดยเฉพาะ แต่สันโดษเป็นคำสอนทั้งแก่พระและชาวบ้านโดยมีการอธิบายความหมายออกไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจไม่สับสนในทางความคิด ความเข้าใจ และการปฏิบัติ แต่โดยทั่วไปคนเข้าใจสันโดษไปในทำนองของคำกล่าวที่ว่า "ตำข้าวสารพอกรอกหม้อ"การหลีกเร้นออกจากหมู่หาความสงบไม่เกี่ยวข้องกับสังคมว่าเป็นลักษณะของคน เกียจคร้าน ปวิเวก คือการแสวงหาที่สงัด และอสังสัคคะ คือการไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะตามลำดับ ว่าเป็นลักษณะของคนสันโดษเมื่อบุคคลเข้าใจยอมรับความหมายของสันโดษในลักษณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่ทีคำถามข้างต้นเกิดขึ้น

สันโดษคือความยินดีในปัจจัยตามมีตามได้นั้น ท่านจำแนกอธิบายไว้ว่าอย่างไร? สันโดษเป็นมงคลชีวิตประการหนึ่งในมงคล 38 ประการ ซึ่งเป็นหลักการเหมือนขั้นบันไดที่จะนำคนผู้ปฏิบัติ ให้สามารถยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นๆถึงเหนือกระแสแห่งโลก ท่านได้จำแนกสันโดษออกไปเป็น 3 ลักษณะ คือ

  • ในด้านแสวงหาเนื่องจากชาวบ้านนั้นมีธรรมคือ สัมมาอาชีวะซึ่งตรงกันข้ามกับศีลข้อที่สองและความสุขอันเกิดขึ้นจากการทำงานที่ปราศจากโทษเป็นหลักและเป้าหมายควบคุมอยู่แล้ว แสดงว่าการแสวงหาปัจจัยในการดำรงชีวิตของบุคคลจะต้องอยู่ในกรอบของสัมมาชีพสันโดษ ในชั้นนี้จึงให้คนทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิด บริวาร ลงไปในการแสวงหาปัจจัยได้อย่างเต็มที่ด้วยความเพียรพยายาม ไม่เกียจคร้าน ไม่ขูดรีดทรัพย์เรี่ยวแรงของคนอื่นท่านเรียกว่า ยถาพลสันโดษคือยินดีด้วยกำลังของตน
  • ในขั้นได้ทรัพย์สมบัติปัจจัยต่างๆมาด้วยความพยายาม ตามกำลังกาย ความรู้ กำลังทรัพย์ บริวารเป็นต้น ได้มาเท่าไรก็ให้ยินดีเท่านั้นไม่โลภอยากได้ของๆ คนอื่นมาไว้ในครอบครองของตน โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม เมื่อใช้กำลังดังกล่าวแล้วจะได้มากเท่าไรก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียสันโดษ ท่านเรียกสันโดษระดับนี้ว่า ยถาลาภสันโดษคือยินดีตามที่ได้มาจะมากหรือน้อยก็ยินดีตามนั้น
  • ในขั้นการใช้จ่าย การใช้สอย ท่านยินดีตามสมควรแก้ ฐานะ ปัจจัย ทรัพย์ สำหรับชาวบ้านคือหลักสมชีวิต คือ เลี้ยงชีวิตพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนได้มาและมีอยู่ไม่ให้เดือดร้อนเพราะความตระหนี่และสุรุ่ยสุร่ายจนเกินพอดีสันโดษระดับนี้ท่านเรียกว่ายถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควรแก่ทรัพย์ ฐานะ ความจำเป็นปัจจัย เป็นต้น

ด้วยความหมายของสันโดษที่กล่าวมานี้จะพบว่าการสอนและการปฏิบัติตามสันโดษ คือมีความยินดีตามสมควรแก่ฐานะนั้นๆ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบปลูกฝังให้เกิดภายในจิตใจของคนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบด้านการเงิน การงาน บุคคล เป็นต้นมากๆ"

ความล้าหลังที่เกิดขึ้นในสังคมหากจะถือว่ามีอยู่แล้ว ได้โปรดเข้าใจว่าหาใช่เป็นคนในสังคมต่างมีสันโดษกันไม่ ที่แท้แล้วเป็นเพราะคนขาดแคลนสันโดษอย่างแรงนั่นเองสภาพเช่นนั้นจึงได้เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น