วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำสอนศาสนาพุทธล้าหลังจริงหรือ

ปุจฉา: การสอนเรื่องนรกสวรรค์ตายแล้วไปเกิดอีกจะไม่ทำให้เห็น ว่าล้าสมัยหรือ?

วิสัจฉนา: แล้วสอนเรื่องอะไรจึงจัดว่าทันสมัยละ? หรือจะให้สอนเรื่องข้าราชการบางคนคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติดให้โทษ อากาศเป็นพิษ หรือว่าปัญหาอาชญากรรม งานเหล่านี้มีคนทำกันมากแล้ว ถ้าขืนสอนไป
จะหาว่าพระเล่นการเมือง พูดเรื่องชาวบ้าน จนถึงแย่งงานชาวบ้าน แต่เรื่องเหล่านี้เมื่อขอบข่ายของธรรมะโยงไปถึง ผู้แสดงก็จะยกมาแสดงตามสมควรแก่เหตุอยู่เช่นเดียวกัน

แนวโน้มในการอธิบายธรรมในปัจจุบัน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพระจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์แบบที่เป็นภพชาติ โลกหน้ามากนัก แต่จะเน้นหนักไปในรูปของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดสวรรค์ภายในจิตใจ หลีกเลี่ยงนรกภายในใจ และเป็นเทวดาเป็นพรหมด้วยการปฏิบัติธรรมกันมากกว่า เพราะแสดงอย่างไรผลก็จะออกมาในลักษณะเดียวกันดังกล่าวแล้วในข้อก่อน

ข้อที่กล่าวว่าพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะไม่ทำให้ล้าสมัยหรือนั้น หาได้เป็นการล้าสมัยแต่ประการใดไม่ หากความหมายของคำว่าทันสมัยหมายถึงทันกับเหตุการณ์สังคมจริยธรรมของสังคม เราจะพบว่าการยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ใดก็ตามย่อมเกี่ยวโยงเข้าหาความเชื่อกฎแห่งกรรม เพราะนรกสวรรค์เป็นผลของกรรมความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์จึงย้อนกลับไปหาเหตุผลตามลำดับไปเป็นรูปของปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งจะช่วยให้ความเจริญในด้านวัตถุกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันดังนี้
  • การยอมรับนับถือเรื่องนรกสวรรค์นำไปสู่การยอมรับนับถือกฎแห่งกรรม
  • ความเชื่อในกฎแห่งกรรมนำไปสู่การละความชั่วทำความดี
  • การละความชั่วทำความดีนำไปสู่การพัฒนาด้านจิตใจความประพฤติ
  • การพัฒนาจิตใจนำไปสู่ความสุขความสงบทางจิตใจ
  • ความสุขความสงบที่เกิดภายในจิตของคนในสังคมนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
  • การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขเป็นการสร้างสวรรค์เกิดขึ้นในโลกมนุษย์

ปัจจุบันวิชาการทางเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปไกลมากแต่เนื่องจากความเจริญในปัจจุบันมีลักษณะเป็นดาบสองคม เพราะวัตถุได้ก้าวล้ำหน้าพัฒนาการทางจิตไปมากความเชื่อที่นำมาเรียงไว้ตอนหนึ่งนั้น เริ่มจากจุดใดก็ตามย่อมเป็นการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นสัมพันธ์กับความเจริญทางด้านวัตถุจนถึงจุดที่สามารถ "ให้จิตใจที่ประกอบด้วยธรรม เหตุผล เป็นตัวนำวัตถุแทนที่จะให้วัตถุนำจิตใจอย่างที่เห็นกันบางแห่งในปัจจุบัน"

การสอนและยอมรับเรื่องนรกสวรรค์ในแง่ที่ถูกต้องจึงไม่เป็นการล้าสมัยแต่เป็นการเร่งรัดพัฒนาด้านจิตใจพฤติกรรมของมวลชนให้สามารถเป็นผู้กำหนดวัตถุและควบคุมวัตถุได้ด้วยพื้นฐานแห่งจิตใจที่ประกอบด้วยธรรมดังกล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น