วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระดีแต่เอาของชาวบ้านจริงหรือ

ปุจฉา: พระดีแต่เอาของชาวบ้าน ไม่ให้เขา ไม่เหมือนชาวคริสต์ที่พระเจ้าส่งไปให้เขา และพระไทยไม่มีความรู้ สู้บาดหลวงไม่ได้ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็นอย่างดี ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาลได้

วิสัจฉนา: ข้อนี้ไม่มีลักษณะเป็นคำถามแต่เป้นคำกล่าวหาในลักษณะที่มองในแง่ร้ายและมองไม่ตลอดสาย
ประเด็นแรกที่ว่าพระดีเอาของชาวบ้านนั้น อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่าเป็นการทำงานกันคนละหน้าที่ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ผู้ปฏิญาณตนนับถือพระพุทธศาสนายอมรับในเงื่อนไขเหล่านี้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ให้แต่ละฝ่ายปฏิบัติต่อกันคือ

ชาวบ้านให้แสดง เมตตาทางกาย วาจา ใจ จะทำพูดคิดเกี่ยวกับพระสงฆ์ให้ทำพูดคิดด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง บำรุงด้วยปัจจัย ๔ และยินดีต้อนรับเมื่อท่านไปหาที่บ้านพระภิกษุสามเณรมีหน้าที่จะต้องทำคือ สอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยน้ำใจอันงามให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง บอกทางสุขทางเจริญให้

งานของพระจึงเป็นงานของผู้นำทางวิญญาณ สติปัญญา ธรรมะ แต่ในข้อที่ว่า "สงเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงามนั้น" จากอดีตถึงปัจจุบันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระไม่ได้เอาแต่ของชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่พระได้ทำงานในลักษณะที่เป็นการสงเคราะห์สังคมด้วยน้ำใจอันงามในด้านต่างๆที่ไม่ขัดกับสมณภาวะเป็นอันมาก ขอเพียงใช้เหตุผลพิจารณาก็จะเห็นและทำใจให้ยอมรับได้ไม่ยากนักนอกจากใจจะเอียงจนไม่อาจมองเห็นความดีของคนอื่นได้ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้เหมือนกัน

สำหรับประเด็นที่ว่าไม่เหมือนชาวคริสต์ที่พระเจ้าส่งไปให้เขานั้นไม่เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไรกัน ถ้าจะหมายความว่าบาดหลวงในศาสนาคริสต์ช่วยคนในด้านรูปวัตถุพระสงฆ์ก็ทำเหมือนกันในด้านนี้ แต่ที่เราไม่ควรลืมคือระบบโครงสร้างทางศาสนาไม่เหมือนกันศาสนาคริสต์มีองค์การทำงานที่มีเงินทุนมหาศาล แม้ในเมืองไทยก็มีที่ดินจำนวนมาก ทรัพย์อันเป็นกองทุนนี้สามารถกระจายออกไปเพื่อทำงานในด้านต่างๆ รายได้จากโรงพยาบาล โรงเรียน ที่ดินและผลประโยชน์ด้านอื่น มีมากพอที่จะทำงานแบบสงเคราะห์ทางรูปวัตถุได้ซึ่ง หากเราจะดูในจุดใดจุดหนึ่งจะเห็นว่าทำได้มาก

ที่ไม่ควรลืมอีกประการหนึ่งคือเงินในลักษณะนั้น ของพระพุทธศาสนาไม่มี เพราะศาสนาพุทธมีโครงสร้างอีกอย่างหนึ่ง หากพระจะจัดผลประโยชน์แบบนั้นศาสนาพุทธก็ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะความรู้สึกยอมรับฐานะของชาวพุทธกับชาวคริสต์ต่อศาสนาของตนแตกต่างกัน

งานที่ศาสนาคริสต์ทำจึงเป็นงานที่ควรอนุโมทนา แต่อย่าลืมว่าในจำนวนประชากรประมาณ 45 ล้านคนนั้นนับถือศาสนาพุทธถึง 95% แต่นับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 3แสนคนเท่านั้นเอง (ปี 2534) เคยคิดกันหรือเปล่าว่า งานที่ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและฆราวาสทำต่อสังคม ในทางที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมในรูปแบบต่างๆนั้นมีมากมายขนาดไหน เพราะเราทำกันทุกวันและทำกันทั่วประเทศ

บัณฑิตที่แท้จริงนั้น เมื่อยอมรับความดีของคนอื่นได้ ก็ต้องรับความดีของอีกฝ่ายหนึ่งได้เช่นกัน การยกย่องหรือตำหนิใครโดยขาดข้อมูลที่ถูกต้องนั้น บัณฑิตไม่ควรทำเพราะจะเป็นการสร้างความผิดซ้ำซ้อนขึ้นมาในวิถีชีวิตของตนโดยไม่จำเป็น

ประเด็นที่ว่าพระไทยไม่มีความรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ซึ่งสามารถสอนหนังสือได้เป็นอย่างดีนั้น เป็นลักษณะของคำกล่าวหาเช่นเดียวกับข้อก่อนๆ โดยไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่มีอยู่เป็นอยู่ ว่าที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนพระไทยนั้นมีความรู้ในเรื่องที่บาทหลวงควรรู้สู้บาดหลวงไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าบาดหลวงก็รู้สู้พระสงฆ์ในเรื่องที่พระสงฆ์ควรรู้ไม่ได้ การกล่าวเปรียบเทียบในลักษณะนี้เหมือนเอาความรู้ของทหารกับตำรวจมาเปรียบเทียบกัน คนเขาเรียนมาคนละอย่างจะไปเปรียบเทียบกันได้อย่างไร

ประเด็นของการสอนนั้น คงลืมไปว่างานให้การศึกษาแก่กุลบุตร กุลธิดานั้นทางโลกเพิ่งนำมาจัดเองประมาณ๗๐ปีมานี้เอง เมื่อก่อนนั้นงานสอนทั้งหมดอยู่ในมือพระสงฆ์ทั้งนั้น พระสงฆ์ในปัจจุบันนั้นสำหรับท่านที่บวชมานานพอสมควรท่านก็สามารถสั่งสอนได้ในขอบข่ายของลักษณะวิชาอันท่านได้ศึกษามา

ทำไมจึงพูดว่าบวชมานานพอสมควรเล่า? เพราะเมื่อรักจะพูดเรื่องพระ เราต้องยอมรับความจริงในสังคมพระก่อน ว่าพระสงฆ์ในประเทศไทยมีโครงสร้างทางสังคมเป็นอย่างไร ไม่ใช่มาหลงเพ้อฝันด้วยตัวเลขที่สร้าง
ขึ้นหลอกและปลุกปลอบตนเองว่าพระสงฆ์ในเมืองไทยมีจำนวน 300,000 รูป ซึ่งเป็นสถิติของพระในพรรษา ออกพรรษาแล้วจะเหลือถึง 230,000 รูปหรือเปล่าในจำนวนพระเหล่านั้น เราต้องยอมรับว่าในเมืองไทย เราใช้ระบบนำคนไม่รู้ศาสนาเข้ามาบวชเพื่อศึกษาหลักธรรมในศาสนาซึ่งเป็นการบวชแบบระบบหมุนเวียนส่วนมากแล้วจะหมุนวนอยู่ระหว่าง 7 วัน ถึง 3 เดือน มากที่สุด

ซึ่งเราจะหวังให้พระเหล่านี้ไปทำงานศาสนาคงเป็น 95% เมื่อเราตัดพระที่เป็นหลวงตาแก่ๆและท่านผู้เฒ่าซึ่งไม่สะดวกในการสอนหนังสือแต่ท่านอาจสอนด้วยการแนะนำสนทนากัน ตลอดถึงการเทศน์เป็นต้นออกไปแล้วเรามีพระไม่น้อยกว่า 30% ของจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมด ที่อาจทำงานในด้านการสอนหนังสือตามโรงเรียนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมพระจึงไม่สอนหนังสือในโรงเรียนเล่า ?

อันที่จริง พระเรานั้นอยู่ในฐานะที่พร้อมทั้งด้านความรู้ บุคคล ความตั้งใจความเสียสละ แต่เพราะค่านิยมในสังคม ที่คนบางพวกคิดว่าพระไม่รู้เรื่องศาสนา แม้แต่งานที่พระน่าจะทำ ก็จัดให้ครูที่ไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาโดยตรง ทำหน้าที่นี้เสียเองจนบางครั้ง การกำหนดหลักสูตรทางศีลธรรมของกระทรวงศึกษาธิการออกมาเชยๆ ในสายตานักธรรมะอยู่เสมอไป

แม้ในปัจจุบันก็มีอยู่หลายเรื่องสังคมปฏิเสธพระว่าพระไม่ควรจะสอนหนังสือเด็ก เพราะกลัวจะคลุกคลีกับศิษย์ โดยเฉพาะที่เป็นหญิง กระทรวงศึกษาธิการเองเคยดำริอยู่เสมอ ในการที่จะให้พระเข้ามีบทบาทในการ สอน แต่ถูกคัดค้านจากด้านต่างๆและความฝังใจในอดีตของตนเลยต้องระงับไปทุกคราว เมื่อปิดประตูไม่ให้พระแสดงความรู้ความสามารถในด้านการสอนเสียเช่นนี้แล้วก็มาตำนหนิว่าพระสอนไม่ได้เพราะไม่รู้ ใครไม่รู้กันแน่?

แม้ว่าจะถูกปิดประตูแบบนี้ก็ตามปัจจุบันนี้พระภิกษุสงฆ์ได้สร้างงานขึ้นด้วยการเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยพระธรรมวิทยาการโรงเรียนบาลีสามัญมีนักเรียนในความรับผิดชอบเป็นอันมาก แต่งานพระไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์จึงไม่ค่อยทราบกันกว้างขวาง ทำให้คนใจบอดคอยค่อนขอดอยู่เสมอว่าพระไม่ทำงานอะไรไม่มีความรู้จนถึงขี้เกียจก็ขอให้เป็นสุขๆเถิดอย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

แม้ว่าพระจะไม่ได้สอนในโรงเรียนอย่างเมื่อก่อน แต่โรงเรียนที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ตาม ใครจะปฏิเสธเล่าว่าพระไม่ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างขึ้นและสนับสนุนในด้านต่างๆ โรงพยาบาลก็ทำนองเดียวกันโรงพยาบาลของรัฐเกือบทุกแห่ง พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเข้าไปมีบทบาทร่วมในการสร้าง การบำรุงมากบ้างน้อยบ้างทั่วประเทศไทย

อย่าลืมว่างานการสั่งสอนการรักษาพยาบาลโรคกายใจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้นยังเป็นงานหลักของพระอยู่แม้ในปัจจุบัน งานของพระก็คืองานของพระ งานของทหารก็คืองานของทหาร จะให้เหมือนกันย่อมไม่ได้ แม้งานของบาดหลวงที่ยกมาก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ขอให้ทุกคนยืนอยู่ในจุดอันเป็นความรับผิดชอบของตนเองให้ดีเถิดและทุกอย่างในพระศาสนา ประเทศชาติ สังคมก็จะดีขึ้นเอง ที่เกิดยุ่งๆกันอยู่เพราะคนไม่ค่อยสนใจทำงานของตน แต่พยายามเกณฑ์ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้นั่นเอง

"หากคนมองตนให้มาก มองคนอื่นเพื่อเตือนตนพิจารณาตรวจสอบตนกันให้มาก" อะไรๆก็จะดีขึ้นไม่น้อยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น