วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระพุทธศาสนาล้าสมัยจริงหรือ?

ปุจฉา: ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยสนใจในพระพุทธศาสนาและผู้ที่สนใจอยู่แล้วได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง คนที่ไม่สนใจพระพุทธศาสนาบางคนคิดว่าไม่จำเป็นบ้าง อายบ้าง พระพุทธศาสนาล้าสมัยบ้าง?

วิสัจฉนา: ปัญหาข้อนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อก่อนจึงจะตอบในประเด็นที่แตกต่างออกไปการสร้างความสนใจในพระพุทธศาสนาเหมือนกับการสร้างความสนใจในเรื่องอื่นๆ จำเป็นจะต้องมีวิธีการและหลักการในการดำเนินงานเพื่อเรียกร้องความสนใจ การยอมรับ นับถือ ในสิ่งนั้นๆ

เป็นเรื่องปกตินิสัยของคนประการหนึ่งคือการให้ความสนใจในเรื่องของคนอื่นเรื่องที่ไกลจากตัวเช่น เรื่องข่าวสารการเมืองคนไทยมีความรอบรู้ ในด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญเมืองสำคัญของฝรั่งมากกว่าประวัติศาสตร์ของไทยเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

เพราะนอกจากจะเป็นปกตินิสัยดังกล่าวแล้วคือ ความต้องการฐานะที่สังคมยอมรับนับถือว่าเป็นคนมีความรอบรู้ในด้านต่างประเทศ ข้อนี้พึงให้เห็นได้ง่ายๆเช่นครูสอนภาษาไทย หายากมากกว่าครูสอนภาษาอังกฤษเพราะคนมีความรู้สึกว่า "สอนภาษาอังกฤษโก้เก๋กว่า แสดงว่าเป็นผู้มีความรอบรู้อย่างแท้จริง"

ศาสนาพุทธมีลักษณะเดียวกับภาษาไทยคือเกิดมาถึง ก็เป็นชาวพุทธกันตามสำมะโนครัวแล้ว คนไทยจึงเป็นชาวพุทธโดยกำเนิดกันเป็นส่วนมาก ว่านโมกันได้ตั้งแต่เป็นเด็กๆ แต่ไม่ทราบว่า ว่าไปทำไม และหมายความว่าอย่างไร พระพุทธศาสนาจึงคุ้นเคยกับคนไทยอย่างที่เรียกว่าเป็นคนกันเอง มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีคนมาถามเรื่องพระพุทธศาสนากลับตอบไม่ได้เหมือนอะไร?

เหมือนเพื่อนที่เคยคุ้นเคยกันมาก เรียกชื่อเล่นกันมาจนชิน พอเอาเข้าจริงไม่ทราบว่าชื่อจริงๆของเพื่อนชื่อว่าอย่างไร ปกตินิสัยเหล่านี้จะเห็นว่ามีทั่วไปในโลก คนอเมริกาที่สนใจทางศาสนาอาจทราบหลักธรรมในพระพุทธศาสนาดีกว่าคนไทยบางคนเสียอีก แต่ในขณะเดียวกันคนไทยบางคนอาจทราบเรื่องศาสนาคริสต์ดีกว่าพวกฝรั่งบางคน "เมื่อความจริงอันเป็นปกตินิสัยของคนเป็นอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไร?

นอกจากเหตุผลที่กล่าวในข้อก่อนแล้วการแผยแพร่ศาสนาธรรมในปัจจุบันได้ทำกันอย่างกว้างขวางและจริงจังมากทีเดียว แต่ผลกลับไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือทางศาสนาพิมพ์ 2,000 เล่ม ขาย 2ปี ไม่หมด ตรงกันข้ามกับหนังสือกำลังภายในของจีนขายได้แต่ละวันเป็นหมื่นๆเล่ม อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกต่างเช่นนี้?

เป็นเรื่องของจิตที่เกิดมาจากเรื่องเหล่านั้น หมกมุ่น ครุ่นคิดแต่ในเรื่องกาม กิน นอน การไหลไปของจิตในเรื่องนั้นจึงเป็นไปได้ง่าย เพราะเป็นธรรมชาติ แต่หลักธรรมในศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น คำสอนในศาสนาเป็นความจริงตามธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกัน พยายามที่จะดึงคนให้สามารถทวนกระแสธรรมชาติบางอย่าง ตลอดถึงเรียนรู้เหตุผลหาประโยชน์จากธรรมชาติจนถึงอาจควบคุมธรรมชาติและอยู่เหนือธรรมชาติได้
ในที่สุด


เป็นการฝืนความรู้สึกปกติของคนจนบางคน ขนาดขยาดความยากของพระพุทธศาสนากลัวว่าจะถูกบังคับในด้านต่างๆ กลัวว่าหากการศึกษาและปฏิบัติธรรมจะกลายเป็นคนแก่ ต้องเข้าวัดหมดสนุก จนถึงไม่รวยเป็นต้น จนถึงกับมีคำพูดในหมู่คนบางพวกว่า "ไม่โกงไม่รวย อยากรวยต้องโกง"

ความคิด คำพูดเช่นนี้เป็นการหลงประเด็นแห่งชีวิตอย่างแรง เพราะกำหนดค่าของความร่ำรวยกันด้วยวัตถุเพียงประการเดียว การจะสร้างความใส่ใจ สนใจ ในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ อาจทำได้ด้วย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมในสังคมบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อความสนใจในธรรม และนำคนไปสู่หายนธรรมของความเป็นมนุษย์

ให้การอนุเคราะห์ ส่งเสริม ยกย่อง ผู้ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมทั้งในด้านวัตถุและกำลังใจ ให้ความหวังแก่เขาเหล่านั้นว่า ผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม จะได้รับการยกย่อง และได้รับความสุขตามสมควรแก่การปฏิบัติ

เหล่านี้เป็นงานที่ต้องทำร่วมกันระหว่างฝ่ายบ้านเมือง สังคม ศาสนา ในด้านศาสนาจักรโดยตรงนั้นจะต้องตระหนักถึงงานอันเป็นภาวะของตนว่า ศาสนาทายาทที่ดีนั้นควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์แก่สังคมอย่างไรบ้าง โดยยึดหลักที่ว่า "พระสงฆ์คือหมู่ชนที่ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและสอนบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามด้วย" เป็นประการสำคัญ

เส้นทางใดที่บุรพาจารย์ได้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนก็ให้ดำเนินการไปตามนั้นเช่น ทำวัดในพระพุทธศาสนาให้สมนามว่า อาราม อันแปลว่า สถานที่ทำให้สบายใจ ด้วยการสร้างความงามเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สะอาด ให้เกิดขึ้นในอาราม

สร้างบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นตัวอย่างในทางความประพฤติและมีขีดความสามารถในการสอนธรรม อันอาจดึงดูดคนเข้าวัด เข้าหาพระและฟังธรรมได้ ละเว้นการกระทำในลักษณะที่ทำให้คนหลงทางด้วยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าเป็นวัตถุมงคลให้น้อยลง หากจำเป็นจะต้องมีสิ่งนั้นๆ ควรแนะนำให้เขาทราบว่า ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดได้หากมีธรรมะ ซึ่งอาจจะสอดแทรกธรรมะเข้าไปตามควรแก่ฐานะของบุคคล

สร้างส่งเสริมการศึกษาของศาสนาและทำงานด้วยความเสียสละ เพื่อผลิตศาสนาทายาทที่มีความสามารถเหมาะสมแก่กาล สมัย สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปจน คนเข้าวัด ไม่มีความรู้สึกว่า ตนต้องฟังคนที่มีความรู้น้อยกว่าตนสั่งสอน

งานเหล่านี้พูดไปก็เหมือนความฝัน อันที่จริงนั้นผู้รับภาระของชาติ ศาสนา ตระหนักถึงปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาที่ติดอยู่คือ "คนเป็นไม่อยากทำ ไม่มีเวลาทำ เพราะท่านเป็นกันมากจนทำไม่ไหว คนไม่ได้เป็นอะไรก็อยากทำกัน พอเป็นเข้าจริงๆก็หมุนเข้าวัฏฏจักรแห่งชีวิตเดิม คือ ไม่ทำ ไม่อยากทำ ไม่ได้ทำ ทำไม่ทัน จนถึงทำไม่เป็น"

แต่ท่านก็อยากเป็นกัน คนประเภทนี้มีมากเสียด้วยไม่ว่าในทางบ้านเมืองหรือทางศาสนาก็ตาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนเหมือนกันก็อดจะทิ้งความเป็นคนไม่ได้หากคนพยายามลดความอยากเป็นให้น้อยลง พยายามทำงานอันเป็นหน้าที่ของตนให้มากขึ้น ด้วยการรับงานเฉพาะที่ตนทำได้ และทำได้ดีเท่านั้น อะไรๆก็คงจะดีขึ้นกว่านี้มากทีเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น