วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552

การพูดปดบางครั้งก็ดีจริงหรือ?

ปุจฉา
การพูดปดบางครั้งก็จำเป็นเช่นในทางที่จะทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองหรือในกรณีอื่นใดที่เป็นประโยชน์ เมื่อพระพุทธศาสนาห้ามพูดปดจะมิขัดกันหรือ?

วิสัชนา
ก็ขัดกันนะซีแต่ที่สำคัญคือคนจะทำประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองต้องทำการพูดปดหรือ? แปลกดีเหมือนกันคนเราเริ่มมาถึงก็ขาดความจริงใจเสียแล้วคนอย่างนี้หรือจะมีหน้ามาพูดว่าทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง คนประเภทนี้กระมังที่หนังสือพิมพ์เรียกว่านักการเมืองน้ำเน่า? ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่เราจะทำประโยชน์ด้วยการพูดปดอย่างบางกรณี เช่น "เราบอกคนกลัวเข็มฉีดยาว่าให้ฉีดเถิดไม่เจ็บเท่าไรหรอกหรือบอกว่าเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ไม่เป็นการพูดปดอะไร อย่าไปบอกเขาว่าไม่รู้สึกเจ็บเลยก็แล้วกัน"เรื่องการพูดนั้นท่านให้ยึดหลักว่า "เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง เป็นธรรม มีประโยชน์ พูดถูกแก่กาล คนฟังอาจจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตามหากหลัก ๔ ประการไม่เสียก็ให้พูดได้"สมมติว่า เรื่องที่เป็นประโยชน์นั้นจำเป็นจะต้องโกหกจริงๆมีอยู่เช่น หลอกคนป่วยให้กินกล้วยใส่ยาขมไว้ข้างในเป็นต้นท่านไม่ถือว่าเป็นบาปมากมายอะไร เพราะการพูดปดที่เป็นอันตรายและมีโทษมากนั้น ท่านกำหนดเอาที่ผลอันเกิดขึ้นจากการพูดปดเป็นการทำลายประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นฯสำคัญ

แต่โดยทั่วไปแล้วการพูดปดโดยอ้างอย่างที่ถามมานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติซึ่งมีภาษาที่ใช้กันอีก ประเภทหนึ่งเรียกว่าสำนวนทางการทูตซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ภาษาก็ไม่อาจจัดว่าเป็นเรื่องโกหกตามความหมายของศีล เรื่องนี้พระอาจารย์ได้เล่าตัวอย่างแห่งการเลี่ยงไม่กล่าวคำเท็จว่าสมมติว่าพระ ก.เห็นคนร้ายวิ่งหนีตำรวจไปจึงขยับไปยืนเสียในที่แห่งหนึ่งเมื่อตำรวจถามว่าท่านยืนตรงนี้เห็นคนร้ายผ่านมาทางนี้ไหม? ตอบว่าอาตมายืนตรงนี้ไม่เห็นเพราะตอนที่ท่านเห็นนั้นท่านยืนอยู่อีกที่หนึ่งเรื่องนี้ไม่ควรถือเอาเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติมากนักเพราะตามหลักความเป็นจริง
แล้วคนเราย่อมมีอำนาจเหนือตนเองที่จะพูดหรือไม่พูดอะไรก็ได้ วิจารณญาณในการพูดจึงควรจะเป็นการตัดสินด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยตนเอง หากเกิดความจำเป็นจะต้องเลือกระหว่างการขาดศีลกับสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ หากจะมีก็ต้องตัดสินเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะเอาทีเดียวสองอย่างย่อมไม่อาจเป็นไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น