วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระดื่มเครื่องดองของเมาผิดศีลไหม?

ปุจฉา: ที่ว่าถ้าดื่มเครื่องดองของเมาแล้วจะผิดศีล แต่มีพระองค์หนึ่งทำเช่นนี้ จะผิดศีลไหมคะ ถ้าไม่ผิด เครื่องดองของเมาหมายความว่าอย่างไร ?

วิสัจฉนา: เครื่องดองนั้น หมายถึงเครื่องดองบางชนิดที่ทำคนดื่มให้เมา เช่นส่า เบียร์ เหล้า ฝิ่น เฮโรอินเป็นต้น เรียกว่าเครื่องดอง ของเมา ไม่ว่าจะมีชื่อ

พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

ปุจฉา: พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

วิสัจฉนา: ถ้าเป็นการผิดศีลข้อนั้นเต็มที่ คือเกี่ยวข้องกันทางกามารมณ์ ก็มีโทษสูงสุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ คือเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระในทันที ถึงแม้จะอยู่ในเพศของพระ ก็ถือเป็นเสมือนตาลยอดด้วน ที่ไม่อาจจะมีผลได้อีกต่อไป มีทางเดียวเท่านั้นคือต้องไล่ให้สึกออกไป

แต่ศีลข้อ ของพระนั้น เป็นอนาคาริยวินัย จึงหมายรวมไปถึงการจับต้องกาย เกี้ยวสตรีด้วย ในกรณีก็มีโทษลดหย่อนลงมา ไม่ถึงกับขาดจากพระ แต่ต้องอยู่กรรมทรมานตน และประจานความผิดของตนด้วยตนเอง ด้วยการบอกกล่าวแก่พระทุกรูปในวัดนั้นทุกๆวัน จนครบ 6 ตรี จึงทำพิธีเพื่อให้กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามเดิมได้ โดยการประชุมสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 20 รูปให้ยอมรับรู้ ท่านเรียกว่าเป็นอัพภาน

ในขั้นจับต้องกายนั้น จะผิดเฉพาะในกรณีที่จับต้องด้วยจิตกำหนัดเท่านั้น ไม่ใช่เดินไปกระทบเข้าโดยพระไม่ได้เจตนา

ถ้าหากพระต้องอาบัติ ทำอย่างไรจึงจะหายจากอาบัติ? อาบัติ คือความผิดที่เกิดเพราะการละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตให้ทำ เมื่อพระต้องเข้าแล้วมีวิธีสำหรับออกจากอาบัตินั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้างดังนี้

  1. อาบัติปาราชิก เป็นโทษขั้นประหารสำหรับพระ ใครต้องเข้าไปไม่มีทางแก้ไข นอกจากสึกออกไปเป็นฆราวาส จะบวชอีกไม่ได้ตลอดชาติ แม้ขืนห่มจีวรแสดงว่าตนเป็นพระอยู่ ก็ไม่เป็นพระถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระต้องปาราชิกท่านจึงเรียกว่า “ผู้ปราชัย”
  2. อาบัติสังฆาทิเสส โทษหนักที่สุดของบรรดาอาบัติที่แก้ไขได้ ใครต้องเข้าจะต้องอยู่กรรมทรมานตนประจานตน โดยการบอกความผิดที่ตนกระทำแก่พระทุกรูป ภายในวัดที่ตนไปทรมานตัวอยู่ การทรมานตนในลักษณะนี้ ถ้าเป็นการต้องเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ปกปิดโทษของตนไว้ ใช้เวลา 6 คืน 6 วันต่อจากนั้นท่านให้ประชุมสงฆ์คือพระจำนวน 20 รูปสวดรับรองความบริสุทธิ์ เรียกว่าอัพภานกรรม แต่ถ้าในขณะที่ทรมานตนอยู่ต้องอาบัติในลักษณะเดียวกันหรือประเภทเดียวกันซ้ำอีก หรือปกปิดอาบัติที่ตนต้องไว้ เวลาแห่งการทรมานตนก็เพิ่มขึ้นตามวันเหล่านั้นแล้วจึงประชุมสงฆ์สวดอัพภานกรรมทีหลัง กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามพระวินัยเหมือนเดิม

อาบัติอีก 5 ประเภท คือถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต ต้องเข้าแล้วให้สารภาพ
ความผิดนั้นต่อพระรูปอื่น แล้วให้ปฏิญญาว่า จะสำรวมระวังต่อไป ก็เป็นอันพ้นจากความผิดอันนั้นได้ แต่อาบัติปาจิตตีย์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุให้อาบัติด้วย เช่นชาวบ้านเอาเงินตักบาตรพระ ตามวินัยแล้วพระจะรับไม่ได้ เมื่อท่านรับไปจะต้องสละ คือทิ้งเงินนั้นเสียก่อน จึงจะแสดงอาบัติ พ้นจากความผิดอันนั้นได้ ปาจิตตีย์บางประเภท ท่านให้ทำลายสิ่งที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก คือพ้นจากโทษนั้นๆ

อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

ปุจฉา: อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

วิสัจฉนา: อาบัติ แปลว่าความต้อง หรือพูดให้ชัดลงไปว่า “ความผิดที่เกิดขึ้นเพราะไม่ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่พระองค์ทรงพระอนุญาตให้ทำ เรียกว่าอาบัติ” อาบัตินั้นว่าโดยชื่อมี7 อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ถลุลัจจัย ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต

โทษของพระนั้น เมื่อแบ่งโดยละเอียด ก็เป็น 7 ชั้น ตามชื่อของอาบัติดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อว่าโดยย่อก็แบ่งเป็นโทษที่แก้ไขให้กลับเป็นปกติได้ กับโทษที่แก้ไขไม่ได้ ท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สเตกิจฉา คือโทษที่แก้ไขได้ กับอเตกิจฉา โทษที่แก้ไขอะไรไม่ได้

  • อเตกิจฉา นั้น ได้แก่อาบัติปาราชิก ซึ่งพระที่ต้องอาบัติขั้นนี้แล้ว ท่านเรียกว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ มีทำได้อย่างเดดียวคือ สึกออกไปเป็นฆราวาส ถ้าปรารถนาจะสร้างความดี ก็ทำความดีในขั้นของฆาวาสไป แม้จะกลับมาบวชอีกก็ถือว่าไม่เป็นภิกษุ หมายความว่าตลอดชาตินี้ จะเป็นพระอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆก็ตาม แต่ท่านแสดงว่า ถ้าสึกออกมาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรทางจิต ในฐานะที่เป็นฆราวาส อาจบรรลุมรรคผล 3 ขั้นต้นได้ ถ้ามีบารมีพอ
  • สเตกิจฉา นั้น มีวิธีแก้ไขที่ผิดกันอยู่ คืออาบัติสังฆาทิเสสนั้น เป็นโทษที่รองลงมาจากอาบัติปาราชิกถึงแม้ผู้ต้องจะไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่ต้องประจานตนเอง และทรมานตน ด้วยการประพฤติมานัต และอยู่ปริวาส เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ราตรีแต่ถ้าปกปิดไว้ ก็ต้องเพิ่มวันออกไปอีก กว่าจะกลับเป็นพระบริสุทธิ์ได้เหมือนเดิมก็หนักอยู่ คือต้องประชุมสงฆ์ให้ยอมรับรู้ถึง 20 รูป มากกว่าการประชุมเพื่อรับคนเข้าบวชเสียอีก

ส่วนอาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิตนั้น จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการบอกความผิดของตนแก่เพื่อนสพรหมจารี ละรับว่าจะสำรวมระวังต่อไป ปาจิตตีย์บางประเภทมีแปลกอยู่ที่ว่า นอกจากจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดงแล้ว บางข้อยังต้องทำลายสิ่งของ ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นด้วย

โทษของพระที่หนักที่สุด คือโทษชั้นไหน? โทษของพระที่หนักที่สุด คือต้องอาบัติปาราชิก 4 ดังกล่าวแล้ว อาบัตินั้น ได้แก่การเสพเมถุนจะกับคนหรือสัตว์ก็ตาม ลักของคนอื่นราคาบาทหนึ่งขึ้นไป ฆ่าคนตาย และอวดคุณพิเศษมีมรรค ผล นิพพาน ทั้งๆที่ตนไม่มีคุณพิเศษเช่นนั้น และยุยงทำลายให้พระสงฆ์แตกกัน อันเรียกว่าสังฆเภท ถ้าต้องแล้วยังขืนเป็นพระอยู่ ก็เป็นเพียงผ้าคลุมคนเท่านั้น ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน คือจะไปเกิดในสวรรค์ หรือบรรลุนิพพานไม่ได้ ถ้ายังขืนครองเพศพระอยู่จนตาย และในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะบำเพ็ญเพียรอย่างไร ก็ไม่อาจลบล้างกรรมชั่วนั้น จนบรรลุมรรค-ผลได้

นรกมีกี่ชั้น ชั้นไหนร้ายแรงที่สุด?

ปุจฉา: นรกมีกี่ชั้น ชั้นไหนร้ายแรงที่สุด?

วิสัจฉนา: เรื่องของนรก และชื่อของนรกนั้น หลักฐานต่าง ๆไม่ค่อยจะตรงกันนัก โดยเฉพาะชื่อที่ใช้เรียกแต่เท่าที่พบส่วนมาก โดยเฉพาะในฎีกามาลัยอันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยนรกสวรรค์โดยตรง ท่านแบ่งนรกไว้เป็น 8 ขุม ท่านไม่เรียกว่าชั้น แต่ใช้คำว่าขุมแทนแต่ละขุมนั้น ในที่บางแห่งท่านบอกว่ามีนรกบริวาร ท่านเรียกว่า อุสสุททนรก แวดล้อมอยู่อีก ท่านนับเป็นขุม ๆเหมือนกัน ความเดือดร้อนของสัตว์ในนรกก็มีลดหลั่นกันลงไป โดยท่านเรียงลำดับไว้ดังนี้

  1. สัญชีพนรก
  2. กาลสุตตนรก
  3. สังฆาตนรก
  4. โรรุวนรก
  5. มหาโรรุวนรก
  6. ตาปนนรก
  7. มหาตาปนนรก
  8. อเวจีมหานรก

ในฎีกามาลัย ท่านอธิบายรายละเอียดไว้มาก เกี่ยวกับสัตว์ผู้เกิดในนรกชั้นนั้น ๆว่าต้องเสวยกรรมกรณ์อย่างไรบ้าง อันผู้สนใจอาจจะหารายละเอียดได้จากเรื่องนั้น แม้ในไตรภูมิพระร่วงท่านก็อธิบายรายละเอียดไว้เหมือนกัน

นรกทั้ง 8 ขุมนี้ ท่านถือว่า อเวจีมหานรก เป็นนรกที่อยู่ลึกที่สุด ทรมานที่สุด พระนาคเสนเคยบอกพระยามิลินท์ว่า ในอเวจีมหานรกนี้ ถ้าคนเอาก้อนหินทิ้งลงไป ก้อนหินนั้น จะถูกเผาไหม้ไปในชั่วพริบตาคนที่จะเกิดในนรกนี้ ต้องทำกรรมหนักมาก เช่น พระเทวทัตเป็นต้น และบุคคลที่ทำอนันตริยกรรม 5 คือ ฆ่าพ่อ แม่ พระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และทำสังฆเภท ท่านว่าไปเกิดในนรกนี้.

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตายไป 2-3นาทีฟื้น หมายถึงยมบาลเอาตัวไปผิดหรือเปล่า?

ปุจฉา: คนที่เจ็บหนักใกล้จะตาย แล้วตายไป สัก2-3นาทีฟื้น หมายถึงยมบาลเอาตัวไปผิดหรือเปล่า?

วิสัจฉนา: คนที่ตายไปเพียง 2-3นาทีฟื้นนั้น เขาไม่เรียกว่าตาย เป็นเพียงสลบไปเท่านั้นเอง ยมบาลจะเอาตัวไปผิดได้อย่างไร เพราะเวลาน้อยเหลือเกิน เท่าที่ทราบ ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องเล่าและตัวอย่างบุคคลมีในปัจจุบัน ซึ่งท่านเหล่านั้น ถ้าหากว่าเป็นคนเคยทำบาปมาก่อน หลังจากฟื้นขึ้นมาจะเลิกทำบาปอันเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่น่าสังเกตุประการหนึ่ง

เขาเล่ากันส่วนมากจะพบว่า ตายไปนานผิดปกติเช่น 8-24 ชั่วโมง พวกนี้เมื่อฟื้นขึ้นมาจะเล่าทำนองที่คล้ายคลึงกันว่า เป็นการนำตัวไปผิด ของยมทูตศัพท์เกี่ยวกับนรก ซึ่งปรากฏในคัมภีร์รุ่นหลังท่านเรียกบุคคลในโลกนรกตามหน้าที่ ยมทูต มีหน้าที่นำคนสัตว์ที่อายุถึงฆาตไปสู่นรก ยมบาล มีหน้าที่ควบคุมรักษายมโลก และยมราช เป็นประธานหรือพระราชาของยมโลก

เรื่องการนำตัวไปผิดนั้นเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยพบหลักฐานทางบาลี พบแตคนในปัจจุบันดังกล่าวแล้ว มีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อ ก็คือการที่บุคคลผู้นั้น หลังจากฟื้นมาแล้ว กลายเป็นคนใจบุญยินดีในการทำความดีละเลิกความชั่วที่ตนเคยกระทำมาถ้าไม่มีอะไรประทับใจอย่างแรงไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่เคยทำแต่ความชั่ว จะมาเลิกไม่ทำ หลังจากตายไป 8-24 ชั่วโมง จึงเป็นเรื่องน่ารับฟังไว้ แต่ไม่ได้หมายถึงการตายไปเพียง 2-3 นาที เพราะนั่นเป็นเพียงสลบไปดังกล่าว

สวรรค์มีกี่ชั้น?

ปุจฉา: ถ้าสวรรค์มีจริง อยากทราบว่ามีกี่ชั้น อะไรบ้าง? และความสุขแต่ละชั้นต่างกันอย่างไร?

วิสัจฉนา: สวรรค์นั้น เมื่อว่ากันตามหลักฐานทางศาสนาท่านแสดงว่ามีอยู่จริงๆ ในเรื่องของพระพุทธศาสนานั้น มีเรื่องของสวรรค์เข้ามาเกี่ยว ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะมาอุบัติในโลกมนุษย์ และเกี่ยวข้องกันไปตลอด ไม่ว่าตอนเสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ ตัดสินพระทัยแสดงธรรม แสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

แม้หลังจากปรินิพพานแล้ว ก็มีเรื่องสวรรค์เทวดาเข้าเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมากในพระไตรปิฎกเองท่านจัดเรื่องของเทวดาไว้พวกหนึ่งเรียกเทวตาสังยุตต์ แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง ไม่บ่งให้ชัดลงไปว่าสวรรค์อยู่ที่ไหนเพราะคนฟังเป็นพระอริยบุคคล รู้เรื่องสวรรค์ดีอยู่แล้ว ส่วนชั้นของสวรรค์นั้น ท่านแสดงไว้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. กามาวจร เป็นสวรรค์ที่อยู่ของพวกเสพกามหมายความว่าสวรรค์ชั้นนี้ มีเทพบุต เทพธิดา เป็นสามีภรรยากัน แต่ทุกอย่างมีความสุขและประณีตกว่าโลกมนุษย์ สวรรค์พวกนี้มีอยู่ 6 ชั้น
  2. รูปาวจร พวกนี้ท่านไม่เรียกสวรรค์ แต่เรียกพรหมโลก ถ้าเรียกเป็นภพท่านเรียกว่ารูปภพ แบ่งเป็น ชั้น ๆได้ 16 ชั้น ใน 16 ชั้นนี้ 11 ชั้นข้างล่าง เป็นที่บังเกิดของท่านที่บรรลุฌาน 4 อันเรียกว่ารูปฌานอีก 5 ชั้น ตอนปลายท่านเรียกว่า สุทธาวาส คือที่อยู่ของท่านที่บริสุทธิ์มากแล้ว อันได้แก่พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ 3 ในพระพุทธศาสนา ท่านว่าตายแล้วจะไปบังเกิดในสุทธาวาส 4 ชั้นนี้
  3. อรูปาวจร คือเป็นพรหมโลกเหมือนกัน แต่คนที่ตายไปเกิดในพรหมโลกนี้ เกิดด้วยอำนาจอรูปฌามซึ่งมีอยู่ 4 ชั้น พรหมโลกขั้นนี้ จึงมี 4 ชั้นเช่นกันเรียกชื่อเหมือนกับฌานที่เป็นอรูปทั้ง 4 นั้น

ตกลงว่าที่เป็นสวรรค์จริงๆ มีเพียง 6 ชั้นเท่านั้น แต่เทพบุตรเทพธิดาที่ไม่อยู่บนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นนั้น ท่านแสดงว่ามีเหมือนกัน เช่นภูมเทวดา เทวดาประจำพื้นดิน รุกขเทวดา เทวดาประจำต้นไม้ อากาสเทวดา เทวดาประจำอากาศเป็นต้น พวกนี้ท่านไม่จัดเป็นชั้น อย่างสวรรค์ 6 ชั้น ที่จะกล่าวต่อไป คือ

1.จาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นแรก ท่านว่าเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์ มีหน้าที่อภิบาลโลก และรับผิดชอบกันองค์ละ1 ทิศ ความสุขคงไม่มากนัก เพราะงานหนักไม่น้อยเหมือนกัน ต้องตรวจตราดูแลความเป็นไปของโลก ป้องกันบริวารของตนไม่ลงมาจุ้นจ้านในโลก เพราะแต่ละท่านก็ดูเหมือนจะเป็นเทวดาที่ไม่จะสมบูรณ์นัก ท่านเหล่านั้น มีชื่อและความรับผิดชอบต่อโลกดังนี้

  • ทิศตะวันออก ท้าวธตรฐ มีภูต บางแห่งว่ากุมภัณฑ์เป็นบริวาร มีฤทธิ์อำนาจมาก
  • ทิศตะวันตก ท้าววิรูปักข์ มีนาคเป็นบริวารตัวท่านเองก็น่าจะเป็นนาคเหมือนบริวาร
  • ทิศใต้ ท้าววิรุฬหก องค์นี้แปลก บางแห่งว่ากุมภันฑ์เป็นบริวาร บางแห่งว่าเทวดา
  • ทิศเหนือ ท้าวกุเวร ส่วนมากคนไทยรู้จักกันในนามท้าวเวสสุวรรณ มีพวกยักษ์เป็นบริวารองค์นี้มีรูปมากที่สุดในเมืองไทยเพราะเป็นนายผี คนกลัวผีก็เลยสร้างรูปเจ้านายเอาไว้ ขู่ผีอีกต่อหนึ่ง ท่านว่าไว้ในพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงว่า แต่ละองค์มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก มีลูกองค์ละ 80 องค์ และ ลูกทั้ง 320 องค์นั้น ชื่ออินทร์เหมือนกันหมด แปลกเหมือนกันอักษรศาสตร์คงไม่เจริญมากนักก็ได้ เลยต้องไปยืม ชื่อเจ้านายคือพระอินทร์มาตั้งชื่อลูก แต่ไม่แน่อาจจะเป็นวิธีประจบเจ้านายของพวกเทวดาเขาก็ได้ พูดถึงความสุข ดูไม่น่าจะสุขมากนัก เพราะบริวารแต่ละคนก็สาหัสพอแล้ว ยังต้องคอยระวังอันตราย ที่จะคุมคามเบื้องบนคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กับ ทำหน้าที่อภิบาลโลกด้วย

2. สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นนี้คนไทยคุ้นเคยมาก เพราะแม้แต่เมืองหลวงของดาวดึงส์ คืออยุธยา เราก็นำมาตั้งชื่อเมืองหลวงของเราเสีย แม้แต่กรุงเทพฯ ก็คือเทวนคร อันหมายถึงสวรรค์ชั้นนี้เหมือนกัน เทวราชผู้ปกครองดาวดึงส์ก็คือพระอินทร์เมื่อก่อนนิสัยไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะมักชอบยุ่งกับภรรยาคนอื่น ต่อมากลับมานับถือพระพุทธศาสนานิสัยดีขึ้น มีเมียเอก 4 นาง

สนมกับบริวารไม่ต้องนับความสุขคงจะดีกว่าชั้นแรก แต่ก็ไม่น่าจะสุขใจนักตามธรรมดาคนมีเมียมาก โดยเฉพาะนางสุชาดา ทราบว่าต้องเอาใจเป็นพิเศษ ไปไหนก็ต้องพาไปด้วย เลยได้ชื่อว่า“ท้าวสุชัมบดี” ทั้งต้องมีศึกกับพ่อตาคือท้าวเวปปจิตตาสูร พ่อของนางสุชาดาเป็นประจำด้วย ท่านองค์นี้มีหน้าที่บริหารอภิบาลโลกเหมือนกันถ้าโลกไม่ปกติ พระอินทร์จะทราบด้วยพระแท่นแข็งเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทรงทอดพระเนตรดูเหตุการณ์ในโลกและลงมาแก้ไข หรือช่วยเหลือตามควรแก่กรณี

ปัจจุบันนี้ ทั้งท้าวมหาราช และพระอินทร์ชักจะไม่เอาไหนมากขึ้น โลกวุ่นวายอย่างไรไม่เคยให้ความสนใจ ทั้งนี้ท่านคงคิดว่า เดี๋ยวนี้เขามีองค์การสหประชาชาติแล้ว เลยเฉยเสีย ปล่อยให้มนุษย์แก้ไขกันเอง หรือไม่อย่างนั้น อาจเป็นเพราะปัจจุบันคนไม่ค่อยนับถือท่าน ท่านเลยเฉยเสียก็เป็นได้ นานเข้าคงลืมหน้าที่ไปก็ได้ เรื่องของผู้ใหญ่ที่ได้รับความสุข มักลืมความทุกข์ของคนอื่นอย่างนี้เอง ไม่ว่าเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม


3. สวรรค์ชั้นยาม ชั้นนี้ไม่ค่อยมีบทบาทมากนักทราบว่า ท้าวสุยามเป็นเทวราช ความสุขก็ต้องดีกว่า 2 ชั้นที่แล้วมา อาจจะเป็นความสุขสงบจนไม่มีข่าวอย่างประเทศที่สงบทั้งหลายในโลกปัจจุบันก็ได้ ที่เป็นข่าวส่วนมากเป็นประเทศที่ยุ่ง ๆทั้งนั้น


4. สวรรค์ชั้นดุสิต แปลว่าสวรรค์ที่น่ายินดี ท่านบอกว่าเป็นที่เกิดของคนที่บริสุทธิ์มาก เช่นคนที่จะไปเกิดเป็นพุทธบิดา พุทธมารดา พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์บางองค์ มักจะจุติไปจากสวรรค์ชั้นนี้แม้พระนางมายาเทวี พระพุทธมารดา ท่านบอกว่าทิวงคตแล้วไปอุบัติชั้นนี้อีก สวรรค์ชั้นนี้ก็เช่นกัน น่าจะสุขสงบจนไม่ค่อยมีข่าวมากนัก ทราบแต่ว่า ท้าวสันตุสิตเป็นผู้ปกครอง การปกครองก็คงจะไม่ยุ่งยากอะไร เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเทวดาชั้นดีด้วยกันทั้งนั้น


5. ชั้นนิมมานรดี ชั้นนี้ก็เช่นกัน ไม่ค่อยมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากนัก ทราบแต่เพียงว่าบนสวรรค์ชั้นนี้จะต้องการอะไรก็นิรมิตเอา เรื่องความสุขท่านไม่ได้บอกไว้ละเอียดนัก แต่ต้องดีกว่าสวรรค์ชั้นต่ำกว่าเทวราชดูเหมือนจะชื่อตามสวรรค์ว่า สุนิม เป็นผู้ปกครอง


6. สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี ท่านบอกว่าเป็นที่อยู่ของพระยามาร ชื่อตามสวรรค์นั้น ตนที่ไปตามผจญพระพุทธเจ้าในเวลาจะตรัสรู้ แปลกเหมือนกัน นักเลงโตขนาดนี้ ได้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นสูงขนาดนี้ แต่เมื่อมองตามความเป็นไปของพระยาปรนิมมิตวสวัดดีแล้ว จะพบว่าปกติไม่ค่อยรบกวนชาวบ้านมากนักนอกจากเห็นใครจะได้ดีจริง ๆเช่นพระพุทธเจ้า ท่านก็ลงมือขัดขวางจนสุดความสามารถ แต่เมื่อสู้พระบารมีของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็กลายเป็นเด็กขี้แย นั่งร้องไห้อยู่จนลูกสาวมาถามทราบความ จึงได้อาสาไปล่อลวงพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง แต่พระพุทธองค์ทรงรู้จักทุกครั้ง

ไม่ว่าจะไปในรูปใด ตอนหลังเลยออกจะเซ็ง ๆไป มาโผล่อีกครั้งหนึ่งตอนทูลให้พระพุทธเจ้าปรินิพพานตำนานบอกว่ามารตนนี้ แต่ลองคิดดูอีกทีน่าจะเป็นขันธมารมากกว่า เพราะพระพุทธองค์ทรงพระชรามากแล้ว ทั้งต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยมามากตลอดเวลา 51 ปี พระวรกายทนทานต่อไปไม่ไหวทั้งงานที่ควรจะทำก็ได้ทำสมบูรณ์ดีแล้ว จึงไม่ทรงฝืนสังขารที่จะอธิษฐานด้วยอิทธิบาทภาวนาจะอยู่ไปอีกจึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามตำนานบอกว่าสวรรค์ชั้นนี้มีพิเศษอยู่ตามชื่อ คือต้องการอะไรไม่ต้องนิรมิตเอง มีคนอื่นรู้ความต้องการแล้วนิรมิตให้บางท่านให้ข้อสังเกตุว่าผู้มานิรมิตให้น่าจะเป็นเทพชั้นนิมมานนดี

พระยามารตนนี้ ปัจจุบันไม่ทราบว่าหายไปไหนไม่ค่อยสำแดงอาการคุมคามใครอีก ท่านคงเห็นว่าไม่ต้องถึงมือท่าน พวกมนุษย์ต่อมนุษย์ก็ล้างผลาญกันพอแรงแล้ว ไม่มีใครมีทีท่าว่าจะออกไปนอนอำนาจของท่าน เลยไม่ต้องทำงานไปอีกตนหนึ่ง

ชื่อสวรรค์นี้ ออกจะตรงกับของพราหมณ์เขาเหมือนกัน ไม่ทราบว่าใครเลียนแบบใคร แต่การอธิบายถึงรายละเอียดแตกต่างกัน เหมือนกันแต่ชื่อสวรรค์กับเรื่องบางเรื่องเท่านั้น แต่รับฟังไว้ก็เป็นความดีสำหรับผู้เชื่อเรื่องสวรรค์ เพราะไม่มีผลเสีย คนไม่เชื่อเสียอีกอาจจะทำกรรมชั่วอะไรก็ได้ เพราะคิดว่าสวรรค์นรกไม่มี

ทำบาปไปแล้ว แต่มีสติสำนึกได้ตอนหลังจะมีความผิดไหม?

ปุจฉา: ถ้าหากว่าเราทราบว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี แต่บางครั้งเราทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อทำไปแล้วก็มีสติสำนึกได้จะมีความผิดไหม?

วิสัจฉนา: การกระทำทุกอย่างของคนนั้น ไม่ว่าจะทำด้วยความรู้สึกตัว หรือว่าทำไปโดยเผลอสติก็ตาม ถ้าหากว่าการกระทำอันนั้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองคนอื่นหรือเบียดเบียนทั้งตนเองและคนอื่นแล้ว การกระทำอันนั้นย่อมถือว่าเป็นความผิดอยู่นั้นเอง บุคคลไม่อาจจะอ้างเอาความรู้ ความเผลอสติ หรือเหตุอย่างอื่นเป็นเครื่องอ้างได้ เพราะทำผิดก็ต้องเป็นความผิด และผลแห่งการทำผิดก็ต้องเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนตามธรรมดาของหลักเหตุผล

ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การกระทำถูกหรือผิดนั้นท่านวัดกันด้วย
  • วัตถุ คือสิ่งที่เรากระทำ
  • เจตนา คือความจงใจ ความตั้งใจที่จะทำการนั้นๆ
  • ประโยค คือความพยายาม ซึ่งอาจจะเป็นไปทางกาย วาจา ใจก็ได้

ความหนักเบาของผล ย่อมขึ้นอยู่กับความหนักเบาของเครื่องประกอบทั้งสามนั้นท่านกล่าวว่า “กตสสฺส นตฺถิ ปฏิการํ” สิ่งที่ทำแล้วทำคืนไม่ได้ ที่ดีก็ดีไปที่ชั่วก็ชั่วไป ทุกอย่างเป็นอดีตไปหมดแล้ว จะมีก็เพียงบาป-บุญ ที่จะติดตามบุคคลผู้นั้นไป เหมือนเงาติดตามคนไปฉะนั้น และบาปบุญอันนี้ก็รอคอยเหตุปัจจัยสนับสนุน หรือโอกาสที่จะให้ผล ก็ให้ผลไปตามกรรมที่บุคคลได้กระทำไว้

ส่วนการสำนึกได้ จัดเป็นความรู้สึกดีอีกช่วงหนึ่งคนละช่วงกับที่เป็นแรงกระตุ้นให้ทำผิด จึงจัดเป็นความดี สามารถสกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดในอนาคตได้ ถ้าหากว่าสำนึกผิดแล้ว ไม่กระทำความผิดเช่นนั้นหรือความผิดในลักษณะอื่นอีก แต่ถ้าสำนึกได้หลังจากทำผิด ต่อจากนั้นก็ทำผิดเหมือนเดิมก็หาช่วยให้อะไรดีขึ้นไม่ จะถือเป็นความดีก็เพียงเป็นจิตุปบาทอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล ได้เกิดขึ้นภายในจิต เพียงแวบเดียวแล้วดับไป แต่อย่างไรก็ตาม การทำผิดแล้วสำนึกว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นผิด ก็อาจจะกลับจิตของบุคคลผู้นั้นได้ ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะว่าคนพาลที่สำนึกตนเองว่าเป็นพาล ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นบัณฑิตได้ ดีกว่าคนพาลที่ถือตัวว่าเป็นบัณฑิต

----------------------------------------------------
พุทธภาษิต
คนพาลมีปัญญาทราม ทำกรรมชั่วอยู่ก็ไม่รู้สึกย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเหมือนถูกไฟไหม้
ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนสัตว์ ผู้ต้องการสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นละ (ตาย)ไปแล้วย่อมได้สุข

ปัญหาเกี่ยวกับปรโลก สวรรค์ นรก

  • ทำไมยานอพอลโลขึ้นดวงจันทร์ตั้งหลายลำแล้วยังไม่เห็นสวรรค์สักที?
  • อ้าวแล้วใครบอกว่าสวรรค์อยู่บนดวงจันทร์เล่า?
  • เรื่องที่ตั้งของสวรรค์นี้ออกจะเป็นเรื่องน่าคิดและดูจะเป็นการยากสำหรับการพิสูจน์
    สวรรค์ด้วยวิชาการปัจจุบัน นอกจากการปฏิบัติทางจิต จนบรรลุถึงขั้นเห็นสวรรค์ ตามที่พระอริยเจ้าท่านบรรลุมาแล้วเท่าที่สังเกตมาในตำรา ที่กล่าวถึงเรื่องสวรรค์นั้น
  1. พระพุทธองค์จะทรงแสดงเรื่องสวรรค์ กับ พระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคลชั้นต่ำลงมา ในการ
    สนทนานั้น ไม่มีการพูดว่าสวรรค์อยู่ตรงไหน เพราะคนฟังต่างก็ทราบอยู่แล้ว เหมือนคนกรุงเทพฯคุยกันเรื่องสนามหลวง หรืองานสนามหลวง จะไม่มีการพูดถึงว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน เพราะคนฟังต่างก็ทราบอยู่แล้ว เหมือนคนกรุงเทพฯ คุยกันเรื่องสนามหลวง หรืองานสนามหลวง จะไม่มีการพูดถึงว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน เพราะคนที่ฟังทราบที่ตั้งดีอยู่แล้ว จะพูดก็เฉพาะเหตุการณ์ในสนามหลวง ผู้ฟังดีอยู่แล้ว จะพูดก็เฉพาะเหตุการณ์ในสนามหลวง ผู้ฟังก็จะเข้าใจได้ทันทีฉันใด ก็ฉันนั้น

  1. ความมีอยู่ของสวรรค์ในลักษณะที่ซ้อน ๆกันขึ้นไป เหนือยอดเขาสิเนรุ และนรกอยู่ใต้เขาสิเนรุ
    ลงมาเรื่อย ๆน่าจะเป็นของพราหมณ์มากกว่าพุทธเพราะฟังดูสวรรค์คล้าย ๆ กับจานผีขนาดมหึมา ที่ลอยอยู่สูงขึ้นไปตามลำดับ
  2. เมื่อกล่าวถึงเทวดา พรหมบนสวรรค์ และพรหมโลก ทางพระพุทธศาสนาจะแสดงในแง่ที่เป็นอทิสสมานกาย คือมีกายละเอียด บุคคลไม่อาจจะเห็นเห็นด้วยสมาธิจิตและทิพยจักษุเท่านั้น เมื่อคิดกันตามหลักวิชา ทางศาสนาและปัจจุบันประกอบกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า

  1. สวรรค์ที่เป็นชั้น ๆอย่างที่ท่านว่า อาจจะเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง บรรดาจักรดารกาจำนวนล้านๆดวงในหลาย ๆสุริยจักรวาล ซึ่งมีความหนาแน่นของอากาศทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร และอื่นๆ แตกต่างจากโลกมนุษย์ แม้นรกก็ทำนองเดียวกัน แต่มีลักษณะตรงกันข้ามกับสวรรค์ ปัญหาที่น่าคิดในแง่นี้ก็คือเขาจะอยู่ได้อย่างไร? ข้อนี้เป็นกมฺมโยนิ สำเร็จด้วยกำเนิดของเขา เราไม่อาจจะเอามาตรฐานของมนุษย์ไปวัดได้ เหมือนปลามีกำเนิดในน้ำ เขาอยู่ในน้ำได้แต่คนอยู่ไม่ได้ เพราะกำเนิดผิดกัน
    เขามาโลกนี้ได้อย่างไร? นี้เป็นฤทธิ์หรือความสำเร็จโดยกำเนิดเช่นกัน เหมือนนกบินไปในอากาศได้ ถ้าสวรรค์นรก เป็นโลกอีกโลกหนึ่งโดยนัยนี้ การที่คนไปดวงจันทร์ หรือแม้ดาวอื่น ๆอีกสักสองสามพันดวง แล้วไม่พบสวรรค์ในที่นั้น ก็ไม่อาจจะปฏิเสธความมีอยู่ของสวรรค์ได้ เพราะมีข้อมูลมีไม่เพียงพอในเมื่อดาวมีมากเป็นล้าน ๆดวง และมีหลายระบบสุริยจักรวาลด้วยกัน
  2. สวรรค์เป็นโลกทิพย์ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งอาจจะเป็นโลกซ้อนโลกของเราอยู่ หรืออยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งคนไม่อาจจะเห็นได้โดยนัยที่กล่าวแล้ว ทั้งโลกและคนในโลกนั้น
    เท่าที่ศึกษาพบมา ปรากฏว่าเทวดาบางจำพวก เช่นพระภูมิเทวดา รุกขเทวดา อากาสเทวดา สมุท
    เทวดาเป็นต้น ก็อยู่ใกล้คนนี้เอง หากแต่ท่านเหล่านั้นมีกายไม่ปรากฏคนจึงไม่เห็น แต่ท่านเหล่านั้นสามารถเห็นเราได้ทุกอย่าง คนโบราณจึงกลัวนัก จะทำผิดอะไร หรือเรื่องที่ควรจะปฏิบัติในที่ลับ ก็ปฏิบัติในที่ลับ โดยเขาถือว่า“คนไม่เห็น ผีสางเทวดาเขาเห็น หรืออายผีสางเทวดากันบ้าง”
    คนทุกวันไม่เชื่อเรื่องนี้ เรื่องที่โบราณเขาถือใคร ๆ จึงไม่ค่อยถือกัน คงจะเล่นเอาเทวดาอายม้วนต้วนไปมากแล้วก็ได้

คนที่ต้องการพิสูจน์เรื่องนี้ จึงทำได้วิธีเดียวเท่านั้นคือการปฏิบัติไปตามที่ท่านสอนไว้ว่า เมื่อจิตสงบถึงขั้นนั้น ๆบุคคลอาจจะน้อมใจไปเพื่อเห็นเทวดา สวรรค์ก็ทำได้ ถ้าจิตถึงขั้นนั้นแล้วแต่ไม่ได้รับผลดังที่ท่านว่าจึงค่อยปฏิเสธ แต่ส่วนมากท่านที่บรรลุในขั้นนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่พูด เพราะพูดไป ก็ไม่รู้เรื่องกัน ดีไม่ดีจะหาว่าท่านโกหกเสียอีก เรื่องนี้จึงเป็น “ปจฺจตฺตํ คือรู้เฉพาะตนอีกเรื่องหนึ่ง”
แต่สำหรับคนที่รู้เฉพาะตนมาแล้วด้วยกัน ย่อมพูดคุยกันได้ เหมือนพระพุทธเจ้าสนทนาเรื่องเทวดากับพระอริยบุคคล

อีกวิธีหนึ่ง ต้องรอให้ตายเสียก่อน วิธีนี้เห็นจะไม่ได้เรื่องเท่าไร บางคนตองการจะเห็นสวรรค์ อาจต้องหันไปนรก แต่จะเป็นนรกหรือสวรรค์ ท่านว่าเวลาต่างกับโลกนี้มาก กว่าจะมาเล่าอะไรได้ ลุกหลานในโลกนี้ตายไปหมดแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นปัญหามาจนทุกวันนี้ และน่าจะเป็นปัญหาต่อไปเรื่อย ๆ

เดี๋ยวนี้ใครเชื่อเรื่องสวรรค์นรก เขาว่า เชย ครึ ล้าสมัย งมงาย พวกปราชญ์เหล่านั้น ตายไปคงได้บทพิสูจน์ว่าใครเชย ครึ งมงาย ล้าสมัยกันแน่ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง จะขอโทษขอโพยกันหน่อย ก็คงจะสายเกินแก้แล้ว

ความอุ่นใจสำหรับคนที่สงสัยคือ “พยายามทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ จนสุดความสามารถ ถึงจะไม่มีสวรรค์จริง ชาติปัจจุบันเราก็ไม่มีเวรมีภัยกับใคร อยู่เป็นปกติสุขดี”