วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

กรรมไม่มีตัวตนจะทำให้คนดีชั่วมั่งมีศรีสุขได้อย่างไร

ปุจฉา: การสอนให้เชื่อเรื่องกรรมทำให้เป็นคนยอมแพ้ต่อชีวิต และกรรมไม่มีตัวตนจะทำให้คนดีชั่วมั่งมีศรีสุขได้อย่างไร จะต้องมีพระเจ้าเป็นผู้กำหนดจึงจะถูกใช่ไหม?

วิปัสนา: ปัญหานี้ออกจะมีโมหาคติคือลำเอียงเพราะความไม่รู้มากไปหน่อยเพราะพูดไปพูดมาแสดงว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไรกันแน่ ก็ไม่เข้าใจซึ่งก็น่าเห็นใจ ก่อนอื่นควรทราบว่ากรรมในความหมายของพระพุทธศาสนาคืออะไร?

กรรมคือความจงใจที่บุคคลกระทำลงไป ทางกาย ทางวาจา อาจจะออกมาในทางดีไม่ดี กลางๆก็ได้ท่านเรียกว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม และอัพยากตกรรม ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้จะพบว่าชีวิตของเราทุกคนจึงผูกพันอยู่กับกรรมไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

ตลอดเวลา การอาบน้ำ ทานข้าว เรียนหนังสือ ทำงาน งานประจำวันทุกรูปแบบของคนล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากความจงใจที่บุคคลกระทำลงไปนั้นมีอะไรบ้างที่ไม่เป็นกรรม?
พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมกรรมเป็นตัวแบ่งแยกให้คนแตกต่างกัน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เห็นได้ทันทีทันใด เช่นนักเรียนๆหนังสือ ผลสอบออกมาไม่เหมือนกัน คนทำราชการมีความก้าวหน้าต่างกัน คนประกอบอาชีพเดียวกันแต่ประสบความสำเร็จแตกต่างกัน แม้คนที่ปฏิบัติธรรมศึกษาธรรม ก็ได้รับผลไม่เหมือนกันซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจำแนกของกรรมทั้งนั้น

"กรรมจำแนกให้ต่างกันอย่างไร?"
คือในการเรียน การทำงาน การประกอบอาชีพ การศึกษา และการปฏิบัติธรรมของคนเหล่านั้น มีเจตนาคือความจงใจ ความตั้งใจไม่เท่ากัน ผลจึงออกมาไม่เหมือนกัน อันที่จริงคำสอนเรื่องกรรมนั้นพระพุทธศาสนาเน้นหนักไปในกรรมปัจจุบันคือการกระทำของคนในปัจจุบันเป็นหลักสำคัญโดยสอนให้คนยอมรับเงื่อนไขแห่งกรรมว่า "คนเรามีกรรมเป็นของๆตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นเป็นที่พึ่งอาศัยใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตามจะต้องเป็น
ผู้รับผลของกรรมนั้น"

ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาได้จำแนกประเภทของกรรม พร้อมทั้งผลให้คนเลือกกระทำ และละเว้นตามสมควรแก่กรณี หากเขาต้องการความสุขความเจริญในชีวิตคือ
  1. กุศลกรรม เช่น ความขยัน มีสติ มีเมตตา กรุณา ในการดำรงชีวิตให้ผลเป็นความสุข ความเจริญ
  2. อกุศลกรรม เช่น ความเกียจคร้าน การลักขโมย การดื่มสุรา ยาเสพติด ขาดสติ เขลา มีความริษยาอาฆาตให้เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการสอนเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา แทนที่จะสอนให้คนแพ้ชีวิตกลับเป็นการกระตุ้นให้คนสำนึกว่า ความดี ความชั่ว ความทุกข์ ความเจริญ ก้าวหน้า ความมั่งคั่ง ยากจน ในชีวิตของตนนั้นหาได้เนื่องด้วยอำนาจภายนอกไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเองเป็นผู้สร้าง ผู้ทำลาย ผู้ดำรงรักษาชีวิตของตนด้วยตนเอง

ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นกรรมของตนนั้นย่อมมีทั้งส่วนที่เป็นอดีตกาลใกล้ และอดีตกาลนานไกล และปัจจุบันกรรมอันมีความสลับซับซ้อนอยู่ในชีวิตของคนการอำนวยให้เกิดผลในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยปัจจุบันกรรมเป็นหลัก อดีตกรรมมีความสำคัญรองลงมาจึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำให้คนผู้ไม่มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมจะยอมแพ้ต่อชีวิตมัวรอการบันดาลแห่งกรรมอยู่ เพราะกรรมจะบันดาลให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ทำกรรมเท่านั้นและผลที่เกิดขึ้นจากการบันดาลแห่งกรรมก็ต้องไม่ขัดแย้งกับเหตุที่บุคคลได้กระทำลงไป เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า

ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลยาณการี กลยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำความชั่วย่อมได้รับผลชั่ว
การเชื่อและยอมรับกฏแห่งกรรมจะเป็นประทีปนำทางชีวิตให้บุคคลในสังคมมีความเคารพเชื่อมั่นในตนเองมากยี่งขึ้น จะต้องการผลเช่นไรก็ใช้ความเพียรพยายามประกอบเหตุเพื่อให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการดลบันดาลจากอำนาจภายนอกพร้อมที่จะต่อสู้ผจญอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยสติปัญญาความเพียรของตน
เวลาแห่งชีวิตจะถูกใช้ไปเพื่อกุศลกรรมอันนำผลเป็นความสุขความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตน แทนที่จะมัวอ้อนวอนบวงสรวง สะเดาเคราะห์ ผูกดวง วิ่งหาเจ้าพ่อเจ้าแม่ ขอหวยกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในปัจจุบันคนบางพวกเป็นอย่างไรบ้าง? คนบางพวกกลายเป็นทาสที่ปล่อยแล้วไม่ยอมไปเมื่อก่อนเคยปล่อยให้วิถีชีวิตของตนขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของ ธรรมชาติ ผีสาง เทวดา เทพเจ้า พรหมลิขิต พระเป็นเจ้า ปัจจุบันพวกเหล่านั้นมากลายเป็นดวง เป็นพระเจ้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของตนถือว่าเป็นเรื่องของดวงกันหมด อาชีพหมอดู การสร้างเครื่องรางของขลังกลับเป็นอาชีพที่สร้างความร่ำรวยให้แก่คนที่อยู่ในอาชีพนี้อย่างมาก นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น

อุตส่าห์เรียนและทำงานมาด้วยความเหนื่อยยาก แต่กลับต้องให้หมอดูช่วยตรวจดูว่าตนจะสอบไล่ได้ไหม ? จะได้เลื่อนตำแหน่งไหม จะได้เลื่อนสมณศักดิ์ไหม ? เป็นต้น

การกระทำอันขาดความรับผิดชอบออกมาในรูปของอาชญากรรมต่างๆได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคม จนกลายเป็นความชาชินกันไปเสียแล้วหากคนเหล่านี้ยอมรับเชื่อในกฏแห่งกรรมแล้วเรื่องเลวร้ายต่างๆในสังคมจะเกิดขึ้นหรือ ?

ในตอนสุดท้ายของปัญหาที่อ้างเป็นทำนองว่าผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเป็นของพระเจ้านั้นไม่มีความเห็น เพราะจะกระทบกระเทือนต่อศาสนาอื่น เรื่องเหล่านี้ขอเพียงคนได้ใช้ปัญญาตรวจสอบชีวิตของตนที่ผ่านมาทั้งในด้านดีและไม่ดี จะเห็นด้วยตนเองว่าผลเหล่านั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องที่นำไปสู่การถกเถียงที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างที่เคยถกเถียงกันมานานแสนนานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น