วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

พระพุทธศาสนาสอนแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริงหรือ

ปุจฉา: พระพุทธศาสนาสอนแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่?

วิสัจฉนา:ได้แน่นอนโดยไม่มีข้อสงสัย คนได้รับผลจากการแก้ปัญหาและระงับความทุกข์ด้วยอาศัยหลักธรรมของพระพุทธศาสนามามากต่อมากทั้งในอดีตและปัจจุบันคนเขาไม่สงสัยกันแล้วในเรื่องนี้ แต่เมื่อสงสัยมาก็ขอชี้แจงว่าพระพุทธศาสนารับรองว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนาสามารถแก้ปัญหาชีวิตและช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้จริง แต่มีข้อแม้ว่า "บุคคลนั้นจะต้องดำเนินตามหลักการและวิธีการทางพระพุทธศาสนานะ"

หลักการนั้นท่านได้กำหนดเป็นเรื่องๆไป เช่นถ้าต้องการจะแก้ความเสื่อมในชีวิตก็ต้องเว้นจากการกระทำอันเป็นทางแห่งความเสื่อมเสีย คือ อบายมุข อันได้แก่ ความเป็นนักเลงหญิง นักเลงการพนัน นักเลงดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน คบคนไม่ดีเป็นมิตร และเกียจคร้านทำการงานเป็นต้น

หากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต การงาน ก็ต้องดำเนินไปตามหลักการที่จะนำคนไปสู่ความสำเร็จในชีวิตการงานก็ต้องดำเนินไปตามหลักการที่จะนำคนไปสู่ความสำเร็จ ๔ ประการ คือ

  1. ฉันทะ ปลูกฝังความพอใจไม่ให้เสื่อมคลายในการงานนั้นๆ
  2. วิริยะ มีความเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นโดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค
  3. จิตตะ เอาใจใส่สนใจในเรื่องนั้นๆไม่วางธุระ
  4. วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผลตรวจสอบในเรื่องนั้นๆ
สำหรับวิธีการนั้น ท่านกำหนดขั้นตอนที่คนควรจะทำความเข้าใจในปัญหาความทุกข์เป็นต้น ให้ทราบตามความเป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติให้เหมาะสมแก่กรณีนั้น ขั้นตอนนั้นหมายเอาการวิเคราะห์ในเรื่อง นั้นตามลำดับดังนี้

  1. อะไร? คือให้ทราบปัญหาหรือความทุกข์เป็นต้นว่าเป็นอะไรแน่
  2. มาจากไหน? คือการศึกษาให้ทราบถึงสาเหตุอันเป็นมูลฐานและปัจจัยร่วมแห่งปัญหาความทุกข์เหล่านั้นให้ทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุแท้จริง และปัจจัยร่วมซึ่งจำเป็นจะต้องขจัดให้หมดไป
  3. เพื่ออะไร? เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ตนมุ่งหวังอันเป็นความสุข ความเจริญ ซึ่งเกิดจากการทำลายสาเหตุแห่งปัญหาและความทุกข์เป็นต้น
  4. โดยวิธีอย่างไร? ได้แก่การนำเอาหลักการแก้ปัญหาแก้ความทุกข์ในเรื่องนั้นๆตามที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้มาใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ได้โปรดเข้าใจว่าพระพุทธศาสนานั้นเปรียบเหมือนโอสถพิเศษที่สามารถบำบัดโรคได้ตามสมควรแก่โลกที่เกิดขึ้น แต่การรักษาโลกคนจำเป็นต้องทราบอาการ สมุฏฐาน เป้าหมายและกรรมวิธีในการรักษาและยาที่จำเป็นต้องใช้โดยถูกต้องไม่ผิดพลาดก็สามารถแก้โรคนั้นๆได้ฉันใด หลักธรรม พระพุทธศาสนา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันฉันนั้น

ดังนั้นท่านจึงแสดงว่าพระธรรมเป็นโอปนยิโกคือเป็นข้อที่คนจะต้องน้อมเข้ามาหาตนหรือน้อมตนเข้าไปหาจึงจะได้รับผลจากพระธรรมในระดับต่างๆตามสมควรแก่การปฎิบัติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น