วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

ปุจฉา: พระผิดศีลข้อ 3 ต้องอาบัติในชั้นไหน?

วิสัจฉนา: ถ้าเป็นการผิดศีลข้อนั้นเต็มที่ คือเกี่ยวข้องกันทางกามารมณ์ ก็มีโทษสูงสุดที่ไม่อาจแก้ไขได้ คือเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระในทันที ถึงแม้จะอยู่ในเพศของพระ ก็ถือเป็นเสมือนตาลยอดด้วน ที่ไม่อาจจะมีผลได้อีกต่อไป มีทางเดียวเท่านั้นคือต้องไล่ให้สึกออกไป

แต่ศีลข้อ ของพระนั้น เป็นอนาคาริยวินัย จึงหมายรวมไปถึงการจับต้องกาย เกี้ยวสตรีด้วย ในกรณีก็มีโทษลดหย่อนลงมา ไม่ถึงกับขาดจากพระ แต่ต้องอยู่กรรมทรมานตน และประจานความผิดของตนด้วยตนเอง ด้วยการบอกกล่าวแก่พระทุกรูปในวัดนั้นทุกๆวัน จนครบ 6 ตรี จึงทำพิธีเพื่อให้กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามเดิมได้ โดยการประชุมสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 20 รูปให้ยอมรับรู้ ท่านเรียกว่าเป็นอัพภาน

ในขั้นจับต้องกายนั้น จะผิดเฉพาะในกรณีที่จับต้องด้วยจิตกำหนัดเท่านั้น ไม่ใช่เดินไปกระทบเข้าโดยพระไม่ได้เจตนา

ถ้าหากพระต้องอาบัติ ทำอย่างไรจึงจะหายจากอาบัติ? อาบัติ คือความผิดที่เกิดเพราะการละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตให้ทำ เมื่อพระต้องเข้าแล้วมีวิธีสำหรับออกจากอาบัตินั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้างดังนี้

  1. อาบัติปาราชิก เป็นโทษขั้นประหารสำหรับพระ ใครต้องเข้าไปไม่มีทางแก้ไข นอกจากสึกออกไปเป็นฆราวาส จะบวชอีกไม่ได้ตลอดชาติ แม้ขืนห่มจีวรแสดงว่าตนเป็นพระอยู่ ก็ไม่เป็นพระถูกต้องตามพระธรรมวินัย พระต้องปาราชิกท่านจึงเรียกว่า “ผู้ปราชัย”
  2. อาบัติสังฆาทิเสส โทษหนักที่สุดของบรรดาอาบัติที่แก้ไขได้ ใครต้องเข้าจะต้องอยู่กรรมทรมานตนประจานตน โดยการบอกความผิดที่ตนกระทำแก่พระทุกรูป ภายในวัดที่ตนไปทรมานตัวอยู่ การทรมานตนในลักษณะนี้ ถ้าเป็นการต้องเพียงอย่างเดียว และไม่ได้ปกปิดโทษของตนไว้ ใช้เวลา 6 คืน 6 วันต่อจากนั้นท่านให้ประชุมสงฆ์คือพระจำนวน 20 รูปสวดรับรองความบริสุทธิ์ เรียกว่าอัพภานกรรม แต่ถ้าในขณะที่ทรมานตนอยู่ต้องอาบัติในลักษณะเดียวกันหรือประเภทเดียวกันซ้ำอีก หรือปกปิดอาบัติที่ตนต้องไว้ เวลาแห่งการทรมานตนก็เพิ่มขึ้นตามวันเหล่านั้นแล้วจึงประชุมสงฆ์สวดอัพภานกรรมทีหลัง กลายเป็นพระที่บริสุทธิ์ตามพระวินัยเหมือนเดิม

อาบัติอีก 5 ประเภท คือถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต ต้องเข้าแล้วให้สารภาพ
ความผิดนั้นต่อพระรูปอื่น แล้วให้ปฏิญญาว่า จะสำรวมระวังต่อไป ก็เป็นอันพ้นจากความผิดอันนั้นได้ แต่อาบัติปาจิตตีย์อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่านิสสัคคิยปาจิตตีย์ ต้องสละสิ่งของที่เป็นเหตุให้อาบัติด้วย เช่นชาวบ้านเอาเงินตักบาตรพระ ตามวินัยแล้วพระจะรับไม่ได้ เมื่อท่านรับไปจะต้องสละ คือทิ้งเงินนั้นเสียก่อน จึงจะแสดงอาบัติ พ้นจากความผิดอันนั้นได้ ปาจิตตีย์บางประเภท ท่านให้ทำลายสิ่งที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน จึงแสดงอาบัติตก คือพ้นจากโทษนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น