วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พระบวชแล้วก็สึก ทั้งมีการสะสมสมบัติและไม่ทำมาหากินอะไร เกาะกินแต่ชาวบ้านจริงไหม?

ปุจฉา: พระบวชแล้วก็สึก ทั้งมีการสะสมสมบัติและไม่ทำมาหากินอะไร เกาะกินแต่ชาวบ้านจริงไหม?

วิสัจฉนา: เรื่องนี้จะจริงหรือไม่จริงนั้น ทุกคนมีสิทธิจะคิดจะพูดกันได้ แต่หลักความจริงก็คือความจริงที่วิญญูชนพิจารณาแล้วอาจเกิดความเข้าใจได้ไม่ยากนัก

ในกรณีของการบวชแล้วสึกนั้นเป็นการแสดงให้เห็นจุดเด่นในพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

  1. พระพุทธศาสนาเป็นเสรีนิยม คือคนเราเมื่อมีศรัทธาจะบวชก็บวชได้หากไม่เป็นคน ต้องห้ามตามพระวินัย เมื่อศรัทธาหย่อนลงไปหรือด้วยเหตุผลอย่างไรก็ตามปรารถนาจะสึกออกไปก็ชอบที่จะทำได้ไม่มีการบังคับ วันหลังเกิดศรัทธาจะบวชอีกก็ทำได้อีกไม่มีการห้ามแต่ประการใด
  2. เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมไทย คือคนไทยนิยมว่าลูกผู้ชายทุกคนควรออกบวชจะมากหรือน้อยก็ตาม ยิ่งสมัยโบราณถือกันเคร่งครัดมาก แม้จะแต่งงาน รับราชการ ต้องผ่านการบวชมาเสียก่อน ค่านิยมแบบนี้มีเฉพาะประเทศไทย ลาว เขมร เท่านั้น
  3. การบวชและสึกเป็นเรื่องของระบบขับถ่าย อันแสดงถึงความมีชีวิตของสิ่งนั้นๆ เมื่อธรรมเนียมไทยมีเช่นนี้ ผู้บวชแล้วจะต้องสึกให้มากไว้ หากสึกแต่น้อยแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องที่อยู่ เพราะในแต่ละพรรษามีคนบวชเข้ามาจนเกือบจะไม่มีที่อยู่แล้วหากท่านเหล่านั้นไม่ยอมสึกสัก ๓ ปีเท่านั้นจะเกิดปัญหาทันทีเพราะคนรุ่นใหม่จะไม่มีโอกาสได้บวช ดีไม่ดีอาจถึงกับมีการเดินขบวนเพื่อให้พระสึกกันเพื่อให้คนอื่นมีสิทธิบวชกันบ้างก็เป็นได้
  4. การบวชแล้วสึกออกไปย่อมดีกว่าอยู่ไปในสมณเพศทั้งที่ไม่มีศรัทธา เพราะอาจจะไปทำอะไรเสียหายขึ้นมาก็ได้ เมื่อบวชทำตัวเป็นพระที่ดี สึกไปเป็นชาวบ้านที่ดี ไม่เป็นเรื่องเสียหายอันใดที่ควรแก่การตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย

ประเด็นที่ว่าพระมีการสะสมสมบัตินั้นเราต้องมองกันด้วยเหตุผลและความเข้าใจกว้างพอสมควร หมายความว่า ตัวอย่างบุคคลในเรื่องนี้มีมากพอที่เราจะกล่าวว่าพระสะสมสมบัติไม่ใช่เห็นคนไทยทำผิดสักคนแล้วจะพูดเหมาเอาว่าคนไทยเป็นคนเลวอย่างนี้ก็ไม่ถูกนัก พระสะสมสมบัตินั้นอาจมีสองกรณีด้วยกันคือ

  1. สมบัติที่คนเข้าใจว่าพระสะสมนั้นเป็นสมบัติของวัด ซึ่งท่านมีหน้าที่รักษารับผิดชอบจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี
  2. สิ่งที่ท่านสะสมนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวที่ได้รับจากการบริจาคของทายกทายิกาจะศรัทธามากนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนในความรับผิดชอบที่ต้องสงเคราะห์ด้วยอามิส คือปัจจัย ๔ นั้นมีมากเช่นเดียวกัน หากท่านไม่มีการเก็บไว้บ้างเพื่อการนี้เวลามีบุคคลจำต้องสงเคราะห์มาหาจะให้ทำอย่างไร?

อย่างไรก็ตามการสะสมในระดับนี้ แม้จะมีก็น้อยมาก เพราะว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นมักจะมีเรื่องทาน จาคะ สงเคราะห์เป็นหลักปฏิบัติและขอบข่ายการสงเคราะห์ของท่านนั้น มีขอบข่ายกว้างไกลอย่างไม่น่าเชื่อว่า พระผู้ใหญ่จำนวนมากจะต้องรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ถึงอย่างนั้น

การสะสมแบบนี้อาจแบ่งออกเป็นสองพวก คือการสะสมเพื่อรวบรวมไว้จะได้เสียสละช่วยเหลือคนอื่นหรือบำเพ็ญกุศลตามความจำเป็นการสะสมแบบนี้ ไม่ควรตำหนิ แต่ควรแก่การยกย่อง การสะสมด้วยการตระหนี่ หากว่ามีจริงๆก็ควรแก่การตำหนิอย่างมาก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บุคคลผู้จะตัดสินวินิจฉัยว่า ท่านสะสมประเภทใดจำเป็นต้องมองให้ตลอดสายไม่ไช่ไปสร้าง "กรมประมวลข่าวลือ" ขึ้นมาทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของพระเถระทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท่านมรณภาพลงข่าวอกุศลจะเกิดขึ้นเสมอ ในกรณีที่ท่านรูปนั้นมีชื่อเสียงตำแหน่งสูง พอสืบต้นตอเข้า อ้างเขากันจนลงเหว ก็ไม่ทราบว่าเขาไหนเป็นพฤติกรรมที่น่าอนาถใจนัก

หากว่าพระสะสมประเภทที่สองจะมีอยู่บ้าง แต่มิได้หมายความว่าพระทั่วไปเป็นพวกที่ชอบสะสม เพราะปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ท่านสะสมหรือไม่ แต่กลับอยู่ที่ว่าท่านจะเอาอะไรมาสะสมต่างหาก ในกรณีของการเกาะกินชาวบ้านนั้นเป็นการพูดแบบไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนมากคนพูดแบบนี้เกิดมาชาติหนึ่งจะเคยตักบาตรหรือเปล่าก็ไม่รู ้แต่พูดไปด้วยความริษยาต่อพระ เพราะคนพูดแบบนี้เข้าสูตรที่กล่าวกันว่า "คนทำบุญตักบาตรไม่พูด คนพูดคือคนที่ไม่ทำบุญตักบาตร"

หากว่าการที่พระไม่ทำงานในเชิงผลิตอย่างชาวนา ชาวสวน เป็นต้น คนในโลกนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่อาศัยชาวบ้าน เพราะเหตุเพียงไม่ทำงานในลักษณะเป็นผลิตกรรมเช่นตำรวจ ทหาร ครู ข้าราชการเกือบจะทุกกรมกอง นอกจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งเท่านั้น แต่โดยหลักความเป็นจริงแล้ว คนในสังคมนั้นจะต้องทำงานในหน้าที่แตกต่างกันไม่มีใครที่อาศัยเกาะกินคนอื่นโดยส่วนเดียว นอกจากพวกที่ไม่ยอมทำงานอะไรเลยงานของพระเป็นธรรมของสังคมที่สังคมยอมรับว่าเป็นหน้าที่ของท่าน คือ

  • ทำหน้าที่ศึกษาคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
  • ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธสาสนาที่ตนได้ศึกษามา
  • แนะนำสั่งสอนชาวบ้านให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นด้วย

งานของพระที่เกี่ยวข้องกับสังคมนั้น เราจะพบว่าเป็นทั้งนักศึกษา นักบวช แพทย์ ผู้พิพากษา ครู มิตรของสังคม คำกล่าวในลักษณะขาดความรับผิดชอบโดยไม่มองถึงความเป็นจริงที่เป็นกติกาเงื่อนไขทางสังคมนั้นเกิดขึ้นเสมอเช่น

ข้าราชการกินเงินเดือนเป็นภาษีของประชาชน ด้วยสำนึกเช่นนี้ หากราชการสำนึกเองก็เป็นการดี แต่คนอื่นมากล่าวคำนี้ออกจะขาดความรับผิดชอบมากไป เพราะความจริงแล้ว ข้าราชการไม่ได้นอนๆแล้วมารับเงินเดือน แต่เขาทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อราชการ ชาติบ้านเมือง เกินกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับเสียอีกสำหรับบางคน

ข้าราชการเหล่านั้นเขาก็เสียภาษีเหมือนกัน การพูดว่าพระเป็นกาฝากสังคมก็ดี เป็นผู้เกาะกินชาวบ้านก็ดีเป็นคำพูดของคนที่ไม่มีความเข้าใจเหตุผลดังกล่าวหรือกล่าวไปด้วยความริษยาหรืออาจจะเห็นว่าด่าพระสบายดีก็ตาม หากทบทวนดูอคติ 4 ประการ แล้วจะพบว่าอคติมีอยู่ภายในจิตของตนเกือบครบ 4 ข้อทีเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น