วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

ปุจฉา: อาบัติคืออะไร โทษของพระมีกี่ชั้น อะไรบ้าง?

วิสัจฉนา: อาบัติ แปลว่าความต้อง หรือพูดให้ชัดลงไปว่า “ความผิดที่เกิดขึ้นเพราะไม่ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม และไม่ทำตามข้อที่พระองค์ทรงพระอนุญาตให้ทำ เรียกว่าอาบัติ” อาบัตินั้นว่าโดยชื่อมี7 อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ถลุลัจจัย ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต

โทษของพระนั้น เมื่อแบ่งโดยละเอียด ก็เป็น 7 ชั้น ตามชื่อของอาบัติดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อว่าโดยย่อก็แบ่งเป็นโทษที่แก้ไขให้กลับเป็นปกติได้ กับโทษที่แก้ไขไม่ได้ ท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า สเตกิจฉา คือโทษที่แก้ไขได้ กับอเตกิจฉา โทษที่แก้ไขอะไรไม่ได้

  • อเตกิจฉา นั้น ได้แก่อาบัติปาราชิก ซึ่งพระที่ต้องอาบัติขั้นนี้แล้ว ท่านเรียกว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ มีทำได้อย่างเดดียวคือ สึกออกไปเป็นฆราวาส ถ้าปรารถนาจะสร้างความดี ก็ทำความดีในขั้นของฆาวาสไป แม้จะกลับมาบวชอีกก็ถือว่าไม่เป็นภิกษุ หมายความว่าตลอดชาตินี้ จะเป็นพระอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆก็ตาม แต่ท่านแสดงว่า ถ้าสึกออกมาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรทางจิต ในฐานะที่เป็นฆราวาส อาจบรรลุมรรคผล 3 ขั้นต้นได้ ถ้ามีบารมีพอ
  • สเตกิจฉา นั้น มีวิธีแก้ไขที่ผิดกันอยู่ คืออาบัติสังฆาทิเสสนั้น เป็นโทษที่รองลงมาจากอาบัติปาราชิกถึงแม้ผู้ต้องจะไม่ขาดจากความเป็นพระ แต่ต้องประจานตนเอง และทรมานตน ด้วยการประพฤติมานัต และอยู่ปริวาส เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 ราตรีแต่ถ้าปกปิดไว้ ก็ต้องเพิ่มวันออกไปอีก กว่าจะกลับเป็นพระบริสุทธิ์ได้เหมือนเดิมก็หนักอยู่ คือต้องประชุมสงฆ์ให้ยอมรับรู้ถึง 20 รูป มากกว่าการประชุมเพื่อรับคนเข้าบวชเสียอีก

ส่วนอาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏีเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิตนั้น จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการบอกความผิดของตนแก่เพื่อนสพรหมจารี ละรับว่าจะสำรวมระวังต่อไป ปาจิตตีย์บางประเภทมีแปลกอยู่ที่ว่า นอกจากจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดงแล้ว บางข้อยังต้องทำลายสิ่งของ ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นด้วย

โทษของพระที่หนักที่สุด คือโทษชั้นไหน? โทษของพระที่หนักที่สุด คือต้องอาบัติปาราชิก 4 ดังกล่าวแล้ว อาบัตินั้น ได้แก่การเสพเมถุนจะกับคนหรือสัตว์ก็ตาม ลักของคนอื่นราคาบาทหนึ่งขึ้นไป ฆ่าคนตาย และอวดคุณพิเศษมีมรรค ผล นิพพาน ทั้งๆที่ตนไม่มีคุณพิเศษเช่นนั้น และยุยงทำลายให้พระสงฆ์แตกกัน อันเรียกว่าสังฆเภท ถ้าต้องแล้วยังขืนเป็นพระอยู่ ก็เป็นเพียงผ้าคลุมคนเท่านั้น ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน คือจะไปเกิดในสวรรค์ หรือบรรลุนิพพานไม่ได้ ถ้ายังขืนครองเพศพระอยู่จนตาย และในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะบำเพ็ญเพียรอย่างไร ก็ไม่อาจลบล้างกรรมชั่วนั้น จนบรรลุมรรค-ผลได้

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเรื่องที่ภูมิใจ ที่ได้รับรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา.....@

    ตอบลบ